35 ปลาช่อนสกุลชานนาจากทั่วทุกมุมโลก อัปเดตปี 2023

ต่อไปนี้เป็นเรื่องของปลาช่อนที่อยู่ในสกุล Channa (/ชาน-นา/) เท่านั้น ซึ่งในโลกนี้มีอย่างน้อย 35 ชนิด และเพื่อไม่ให้ยาวจนเกินไป ในส่วนนี้จึงเป็นแบบสรุป หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม น้าๆ สามารถกดดูได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

สายพันธ์ปลาช่อน

1. ปลาช่อน (Channa striata)

Advertisements

ปลาช่อน (striped snakehead) ขนาดโดยทั่วไปอยู่ที่ 30 – 40 เซนติเมตร เป็นปลาที่สามารถแถกไถตัวไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ รวมทั้งสามารถหลบอยู่ใต้ดินในฤดูฝนแล้งได้เป็นเวลานาน และยังเป็นปลาช่อนที่มีจำนวนมากที่สุด จึงเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญ อันดับแรกของไทย

ปลาช่อน / striped snakehead / Channa striata …อ่านเพิ่มเติม

2. ปลาชะโด (Channa micropeltes)

ปลาชะโด (Giant Snakehead) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ ยาวได้ถึง 1 – 1.5 เมตร มีรูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว มันเป็นปลาเกมที่นักตกปลาไทยและทั่วโลกรู้จักกันดีว่าดุร้าย ในไทยไม่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่มีหลายประเทศที่ชอบเอาปลาชะโดไปใส่ตู้ เพราะชอบความดุดันของมัน

ปลาชะโด / Giant Snakehead / Channa micropeltes …อ่านเพิ่มเติม

3. ปลาก้าง หรือ ปลากั้ง (Channa limbata)

ปลากั้ง (Dwarf snakehead) เป็นปลาขนาดเล็กที่สุดในวงศ์ปลาช่อน โตเต็มที่ได้ไม่เกิน 1 ฟุต หลายสิบปีก่อน จัดเป็นปลาที่พบได้ในทุกแหล่งน้ำจืดของไทย แต่ในสมัยนี้พบได้ยากขึ้นมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ตามลำธาร แหล่งน้ำสะอาดตามใกล้ป่าเขา

ปลากั้ง / Dwarf snakehead / Channa limbata …อ่านเพิ่มเติม
Advertisements

4. ปลากระสง (Channa lucius)

Advertisements

ปลากระสง (Blotched snakehead) มีรูปร่างคล้ายปลาช่อน แต่มีส่วนหัวที่แบนกว่า สีสันบริเวณลำตัวเป็นสีเขียวมะกอกมีลวดลายคล้ายลายไม้ ยาวเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ รวมถึงในบริเวณพื้นที่ป่าพรุ ทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ปลากระสง / Blotched snakehead / Channa lucius …อ่านเพิ่มเติม

5. ปลาช่อนงูเห่า (Channa marulius)

ปลาช่อนงูเห่า (Great snakehead) เป็นปลาที่ค่อนข้างสร้างความสับสน เนื่องเป็นปลาที่มีชื่อวิทยาศาสตร์หลายชื่อ แต่ส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ชานนา มารูเลียส (Channa marulius) มันมีลำตัวค่อนข้างกลมยาว สีลำตัวจะเปลี่ยนไปตามวัยและสภาพแวดล้อม เป็นปลาที่มีเครื่องหมายดอกจันทน์ อยู่ตามลำตัวจนถึงปลายหาง ..พบได้ค่อนข้างยากในไทย

ปลาช่อนงูเห่า / Great snakehead / Channa marulius ..อ่านเพิ่มเติม
Advertisements

6. ปลาช่อนข้าหลวง (Channa Marulioides)

ปลาช่อนข้าหลวง (Emperor snakehead) มีลักษณะคล้ายปลาช่อนงูเห่า แต่ลำตัวสั้นป้อมกว่า ลำตัวสีเขียวอ่อน และมีลายสีเหลืองทองส้มสลับกับแต้มสีดำ ครีบมีจุดประสีเหลืองสด ท้องสีจาง ขนาดโตเต็มที่มีความยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ในประเทศไทยพบเฉพาะภาคใต้

ปลาช่อนข้าหลวง / Emperor snakehead / Channa Marulioides …อ่านเพิ่มเติม

7. ปลาช่อนดำ (Channa Melasoma)

Advertisements

ปลาช่อนดำ (Black Snakehead) มีรูปร่างเหมือนปลาช่อน แต่ลำตัวผอมเพรียวกว่า หัวโต ตาสีดำ รูปร่างและสีของปลาช่อนดำ อาจไม่เป็นสีดำ แต่จะแปรปรวนตามแหล่งอาศัย ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร พบได้เฉพาะในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และแม่น้ำโกลก

ปลาช่อนดำ / Black Snakehead / Channa Melasoma …อ่านเพิ่มเติม

8. ปลาช่อนจุดอินโด (Channa Pleurophthalma)

ปลาช่อนจุดอินโด (Ocellated Snakehead) มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร เมื่อปลาโตหัวจะแหลม แต่ส่วนลำตัวกลับป้อมคล้ายปลาชะโดบ้านเรา มีลักษณะเด่น คือ มีจุดสีดำที่ล้อมด้วยวงสีส้มกลมคล้ายดวงตาขนาดใหญ่ พบกระจายพันธุ์ในทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา และยังพบในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะบอร์เนียว

ปลาช่อนจุดอินโด / Ocellated Snakehead / Channa Pleurophthalma
Advertisements

9. ปลาช่อนบานคาน (Channa Bankanensis)

ปลาช่อนบานคาน (Bangka snakehead) มีลักษณะเหมือนปลากระสง แต่ส่วนหัวไม่เรียวแหลมเหมือนปลากระสง และรูปทรงลำตัวค่อนข้างจะกลมเป็นทรงกระบอกมากกว่า โตเต็มที่ประมาณ 25 เซนติเมตร เป็นปลาที่อาศัยในป่าพรุที่มีค่า pH ไม่เกิน 4 …พบกระจายพันธุ์ทางตอนใต้ของมาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะกาลีมันตัน และเกาะบังกาในอินโดนีเซีย

ปลาช่อนบานคาน / Bangka snakehead / Channa Bankanensis …อ่านเพิ่มเติม

10. ปลาช่อนจุดน้ำเงิน (Channa Cyanospilos)

ปลาช่อนจุดน้ำเงิน (Bluespotted Snakehead) มีขนาดประมาณ 22 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนหายากที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาช่อนดำ มีถิ่นกำเนิดที่เกาะสุมาตรา และอาจพบได้ในในคาบสมุทรมาเลเซียและบอร์เนียว และอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งที่มีสีแดงดำและเต็มไปด้วยใบไม้แห้ง และมีค่า pH 6-7.5

ปลาช่อนจุดน้ำเงิน / Bluespotted Snakehead / Channa Cyanospilos …อ่านเพิ่มเติม

11. ปลาช่อนสายรุ้ง (Channa Bleheri)

ปลาช่อนสายรุ้ง (Rainbow snakehead) จัดเป็นปลาช่อนขนาดเล็กเช่นเดียวกับปลาปลากั้ง มันยาวได้ไม่เกิน 20 เซนติเมตร แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงามมาก เป็นปลาช่อนที่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย

ปลาช่อนสายรุ้ง / Rainbow snakehead / Channa Bleheri

12. ปลาช่อนเอเชียติกา (Channa Asiatica)

ปลาช่อนเอเชียติกา (Chinese snakehead) จัดเป็นปลาช่อนที่สวยงาม มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 35 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่ได้รับความนิยมในตลาดปลาสวยงาม และอาจมีการผสมในแหล่งเพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้สีสันที่พิเศษ พบกระจายพันธุ์ในแถบตอนกลางและตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสวิ๋น ในมณฑลกวางสี และกวางตุ้ง ในประเทศจีน

ปลาช่อนเอเชียติกา / Chinese snakehead / Channa Asiatica

13. ปลากั้งอินเดีย (Channa Gachua)

ปลากั้งอินเดีย มีรูปร่างและขนาดคล้ายกับปลากั้งบ้านเรา แต่ปลากั้งอินเดียจะมีลำตัวที่ป้อมสั้นกว่า มีจำนวนเกล็ดที่ใต้ขากรรไกรล่างทั้งสองข้างเกล็ดเดียว มีขอบใต้ดวงตาสีแดง และไม่มีครีบท้อง สีสันบนลำตัวนั้นมีหลากหลายเช่นเดียวกับปลากั้ง พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยพบที่อินเดีย รัฐอัสสัม, บังกลาเทศ, ปากีสถาน ไปจนถึงตอนใต้ของประเทศจีน

ปลากั้งอินเดีย / Channa Gachua …อ่านเพิ่มเติม

14. ปลาช่อนพัลชรา (Channa Pulchra)

ปลาช่อนพัลชรา (Burmese peacock snakehead) เป็นปลาช่อนที่สวยงามมากอีกชนิดหนึ่ง มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่ไม่มีนิสัยดุร้ายก้าวร้าว และเลี้ยงได้ง่ายในตู้ปลา พบในต้นน้ำของรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เป็นปลาช่อนที่ถูกอธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธานพร้อมๆ กับปลาช่อนออนาติพินนิส (C.ornatipinnis) ซึ่งพบในพม่าและมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

ปลาช่อนพัลชรา / Burmese peacock snakehead / Channa Pulchra

15. ปลาช่อนออนาติ (Channa Ornatipinnis)

ปลาช่อนออนาติ เป็นปลาช่อนสวยงามอีกชนิดที่พบได้ในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า มันมีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ปลาช่อนชนิดนี้มีจุดสีดำขนาดใหญ่ประมาณ 10 – 20 จุด ซึ่งมักมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาช่อนพัลชรา แต่ปลาช่อนพัลชราจะมีจุดที่เล็กกว่ามาก

ปลาช่อนออนาติ / Channa Ornatipinnis

16. ปลาช่อนแอนดริว (Channa Andrao)

ปลาช่อนแอนดริว เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ประมาณ 15-20 เซนติเมตร โดยในอดีตปลาช่อนแอนดริวมักจะถูกพบปะปนไปกับปลาช่อนเจ็ดสี (C. bleheri) ในฐานะของปลาสวยงามเสมอ พบในบึงเลฟรากูรี่ เมืองจัลไพกูรี่ รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดียเท่านั้น

ปลาช่อนแอนดริว / Channa Andrao

17. ปลาช่อนสจวร์ต (Channa Stewartii)

ปลาช่อนสจวร์ต (Stewart’s snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก ยาวได้ประมาณ 25 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่มีสีสันสวยงาม จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลายครั้ง พบในลุ่มน้ำพรหมบุตรในอินเดียและบังกลาเทศ, แถบตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยในอินเดียและเนปาล และลุ่มน้ำที่มาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเนปาล

ปลาช่อนสจวร์ต / Stewart’s snakehead / Channa Stewartii

18. ปลาช่อนบาร์กา (Channa Barca)

ปลาช่อนบาร์กา (Barca snakehead) มีความยาวเต็มที่ประมาณ 90 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีสีสันสวยงามจนได้รับฉายา “จักรพรรดิปลาช่อน” มันคือปลาช่อนแพงที่สุดในโลก พบได้ในแม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำคงคาในรัฐอัสสัม และรัฐเบงกอลตะวันตกในประเทศอินเดีย และบางส่วนของบังกลาเทศเท่านั้น!

ปลาช่อนบาร์กา / Barca snakehead / Channa Barca …อ่านเพิ่มเติม

19. ปลาช่อนออแรนติ (Channa Ayrantimaculata)

ปลาช่อนออแรนติ (Orange-spotted snakehead) เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาช่อนบาร์กา (C. barca) แต่มีหัวโตและแบนกว่า เป็นปลาช่อนที่สวยมาก พบในแม่น้ำรามบุตรา ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร ทางตอนเหนือรัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศของประเทศอินเดีย

ปลาช่อนออแรนติ / Orange-spotted snakehead / Channa Ayrantimaculata …อ่านเพิ่มเติม

20. ปลาช่อนบารัม (Channa baramensis)

ปลาช่อนบารัม (Baram snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก ยาวได้ประมาณ 22 เซนติเมตร เป็นสายพันธุ์ที่ถูกคิดว่าเป็นปลาช่อนดำ (C.melasoma) มาเป็นเวลานาน แต่ยังสามารถแยกได้โดยที่ปลาช่อนบารัมที่โตเต็มวัยจะมีจุดสีดำจำนวนมากตลอดลำตัว พบในเกาะบอร์เนียว รัฐซาราวักและทางตะวันตกของรัฐซาบาห์ในมาเลเซีย

ปลาช่อนบารัม / Baram snakehead / Channa baramensis

21. ปลาชะโดอินเดีย (Channa Diplogramma)

ปลาชะโดอินเดีย (Malabar snakehead) มีลักษณะคล้ายกับปลาชะโดไทย ซึ่งถูกเข้าใจมาตลอดว่าเป็นชนิดเดียวกัน จนในปี ค.ศ. 2011 ได้มีการศึกษาใหม่ จึงพบว่าแท้จริงเป็นชนิดใหม่ โดยปลาชะโดชนิดนี้จัดเป็นปลาเฉพาะถิ่น ที่พบได้ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของคาบสมุทรอินเดีย รวมถึงหลายแม่น้ำในรัฐเกรละ และบางแหล่งน้ำในรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดีย

ปลาชะโดอินเดีย / Malabar snakehead / Channa Diplogramma …อ่านเพิ่มเติม

22. ปลาช่อนเหนือ (Channa Argus)

ปลาช่อนเหนือ (Northern snakehead) จัดเป็นปลาช่อนขนาดใหญ่ มีความยาวได้ประมาณ 90 เซนติเมตร มีอุปนิสัยดุร้าย กินอาหารไม่เลือก ปรับตัวให้เข้ากับถิ่นที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี พบในซีกโลกทางเหนือและเอเชียตะวันออก ในที่ ๆ มีอุณหภูมิหนาวเย็น เช่น รัสเซีย, คาบสมุทรเกาหลี และจีน และระบาดหนักอยู่ในรัฐฟลอริดา

ปลาช่อนเหนือ / Northern snakehead / Channa Argus …อ่านเพิ่มเติม

23. ปลาช่อนออเรียนตาลิส (Channa Orientalis)

ปลาช่อนออเรียนตาลิส (Ceylon snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็กจำพวกปลาช่อนแคระ โตได้เต็มที่ 25 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับปลากั้ง (C. limbata) ที่พบในไทย หรือปลากั้งอินเดีย (C. gachua) ที่พบในอินเดีย เป็นปลาช่อนที่พบเฉพาะบนในศรีลังกาเท่านั้น

ปลาช่อนออเรียนตาลิส / Ceylon snakehead / Channa Orientalis

24. ปลาช่อนเชล (Channa amphibeus)

ปลาช่อนเชล (Chel snakehead) เป็นปลาช่อนที่มีความสวยงามเช่นเดียวกับปลาช่อนบาร์กา (C.Barca) แต่มันมีขนาดเพียง 25 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเล็กกว่ามาก แต่ถึงอย่างงั้นปลาช่อนเชลก็เป็นหนึ่งในปลาช่อนที่หายากที่สุดในโลก พบเฉพาะในแม่น้ำเชล ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร และจะอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิค่อนข้างอุ่น ประมาณ 22-28 องศาเซลเซียส

ปลาช่อนเชล / Chel snakehead/ Channa amphibeus

25. ปลาช่อนออรัม (Channa aurantipectoralis)

ปลาช่อนออรัม (ออรัมทิเพคโทลาลิส) เป็นหนึ่งในปลาช่อนชนิดใหม่ ที่เพิ่งระบุตัวได้ในปี 2016 เป็นหนึ่งในปลาช่อนขนาดเล็กที่คล้ายกับปลากั้งที่พบในไทย ถูกพบครั้งแรกในระบบระบายน้ำของแม่น้ำคันภุลี รัฐมิโซรัมประเทศอินเดีย เป็นปลาที่มีสีสด โดยเฉพาะครีบอกจะเป็นสีส้ม

ปลาช่อนออรัม / Channa aurantipectoralis

26. ปลาช่อนพม่า (Channa burmanica)

ปลาช่อนพม่า (Burmese Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก ที่มีสีใกล้เคียงกับปลากั้งที่พบในไทยหรือที่พบในอินเดีย มีถิ่นกำเนิดทางตอนเหนือของประเทศพม่า พบเฉพาะที่ต้นน้ำของแม่น้ำอิรวดีทางตอนเหนือของพม่า เป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักน้อย และยังไม่ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ในสภาพกักขัง

ปลาช่อนพม่า / Burmese Snakehead / Channa burmanica

27. ปลาช่อนอินเล (Channa harcourtbutleri)

ปลาช่อนอินเล (Inle Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 16 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนเฉพาะถิ่นของทะเลสาบอินเล ในพม่าเรียก “งา ออน-มา nga ohn-ma” แม้ปลาชนิดนี้จะเป็นที่รู้จักในหมู่นักเลี้ยง แต่ก็ไม่มีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับมันมากนัก

ปลาช่อนอินเล / Inle Snakehead / Channa harcourtbutleri

28. ปลาช่อนครีบดำ (Channa melanoptera)

ปลาช่อนครีบดำ (Blackfinned Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดใหญ่ที่ยาวได้ถึง 65 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนจากอินโดนีเซีย พบครั้งแรกในปี 1855 ในแม่น้ำกาปูวัส (Kapuas River) เป็นปลาที่ดูคล้ายปลาช่อนข้าหลวง (C. Marulioides) แต่ปลาช่อนครีบดำจะไม่มีดอกหรือเกล็ดสีขาว หากมีเกล็ดสีขาวจะมองเห็นเป็นจุดสีขาวเล็กน้อย

ปลาช่อนครีบดำ / Blackfinned Snakehead / Channa melanoptera

29. ปลาช่อนน็อกซ์ (Channa nox)

ปลาช่อนน็อกซ์ (Night Snakehead) เป็นปลาช่อนที่ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ชื่อ NOX ของปลาชนิดนี้ในภาษาละติน หมายถึง “มืดค่ำ” เป็นปลาช่อนที่มีสีน้ำตาลเข้ม มีจุดขาวกระจายอยู่ทั่ว มีแถบสีดำยื่นยาวถึงแค่ครึ่งบนของลำตัวถึงแม้จะมีบางตัวอย่างที่แถบยื่นยาวลงถึงครึ่งล่างของลำตัว พบภาคใต้ของประเทศจีน

ปลาช่อนน็อกซ์ / Night Snakehead / Channa nox

30. ปลาช่อนพะนอ (Channa panaw)

ปลาช่อนพะนอ (Panaw Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่ได้รับการอธิบายใหม่ในปี 1998 เป็นปลาที่มีความยาวไม่เกิน 20 เซนติเมตร แม้ว่าปลาจะมีสีสันไม่สดใส แต่ก็เหมาะสำหรับเลี้ยงในตู้ เนื่องจากค่อนข้างรักสงบ เป็นปลาที่พบในแม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำสะโตง ประเทศพม่า

ปลาช่อนพะนอ / Panaw Snakehead / Channa panaw

31. ปลาช่อนมาคูลาต้า (Channa maculata)

ปลาช่อนมาคูลาต้า จัดเป็นปลาช่อนขนาดกลาง มันยาวได้ประมาณ 20-30 เซนติเมตร รูปร่างของมันคล้ายปลาช่อนเหนือ ที่มีขนาดใหญ่และก้าวร้าวกว่ามาก แต่จุดแตกต่างคือมาคูลาต้าจะมีทรงที่ป้อมกว่าและลายจะสว่างกว่า พบปลาชนิดนี้ถือเป็นปลาถิ่นของประเทศจีน แต่ก็พบได้ในเกาหลี เวียดนาม ไต้หวัน

ปลาช่อนมาคูลาต้า / Channa maculata …อ่านเพิ่มเติม

32. ปลาช่อนด่าง (Channa punctata)

ปลาช่อนด่าง (Spotted Snakehead) ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่ทนทานอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไปอย่าง หนองน้ำ สระน้ำ คลอง และในน้ำกร่อยก็อยู่ได้อย่างสบาย เป็นปลาช่อนที่พบในปากีสถาน แม่น้ำบริเวณที่ราบของอินเดียและในศรีลังกา

ปลาช่อนด่าง / Spotted Snakehead / Channa punctata

33. ปลาช่อนพาร์ดาลิส (Channa pardalis)

ปลาช่อนพาร์ดาลิส เป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่โตได้ยาว 14 เช็นติเมตร เป็นปลาที่เพิ่งได้รับการอธิบายไปเมื่อปี 2016 โดยก่อนหน้านั้นมันเป็นที่รู้จักในชื่อ Channa True Blue พบในคาซีฮิลส์ (Khasi Hills) รัฐเมฆาลัย ประเทศอินเดีย

ปลาช่อนพาร์ดาลิส / Channa pardalis

34. ปลาช่อนนิงบินเฮนซิส (Channa ninhbinhensis)

ปลาช่อนนิงบินเฮนซิส เป็นปลาช่อนที่แทบจะไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับมัน เท่าที่รู้คือเป็นปลาช่อนที่ยาวได้ถึง 28 เซนติเมตร หากมองจากตัวอย่างจะพบว่าเป็นปลาที่มีสีส้มที่ปลายครีบและหาง และมีรูปร่างคล้ายปลากั้งแต่ตัวใหญ่กว่า พบในเวียดนาม จังหวัดนิญบิ่ญ

ปลาช่อนนิงบินเฮนซิส / Channa ninhbinhensis

35. ปลาช่อนอริสโตนี (Channa aristonei)

ปลาช่อนอริสโตนี เป็นปลาช่อนที่เพิ่งได้รับการอธิบายเมื่อเดือนธันวาคม 2020 มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มันเป็นปลาช่อนที่มีรูปร่างคล้ายกับปลากั้งที่พบในไทย แต่สีของปลาช่อนชนิดนี้จะเป็นสีฟ้าสดใสตลอดลำตัว หรืออาจได้เจอสีเขียวอมฟ้า พบครั้งแรกในรัฐเมฆาลัย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อาศัยในแหล่งน้ำไหลเอื่อย ซึ่งคล้ายกับปลากั้ง และชอบอยู่ในน้ำอุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส …อ่านเพิ่มเติม

ปลาช่อนอริสโตนี / Channa aristonei

ก็หมดแล้วสำหรับปลาช่อนในสกุล Channa (/ชาน-นา/) หลายคนอาจต้องร้องอุทานขึ้นมาว่า ปลาช่อนมันเยอะขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย ..จริงๆ ยังมีเยอะกว่านี้อีกนะ และยังมีปลาช่อนที่อยู่ในสกุล Parachanna (/พา-รา-ชาน-นา/) ซึ่งเป็นปลาช่อนแอฟริกา แต่สำหรับเรื่องนี้ คงต้องขอลาไปก่อนครับ ถ้าชอบเรื่องนี้อย่าลืมแชร์กันด้วยนะ

Advertisements