เรื่องราวที่แท้จริงของ ‘ปลาช่อนงูเห่า’ มีพิษจริงหรือ

ปลาช่อนงูเห่า เป็นหนึ่งในปลาที่ผมอยากตกให้ได้สักครั้ง เพราะเอาจริงๆ แม้จะตกปลามานาน ผมเองไม่เคยตกได้ซะที เพราะมันเป็นปลาที่หาได้ยาก และถึงแม้จะเป็น 10 - 20 ปีก่อน มันก็ยังเป็นปลาหายากอยู่ดี เดี๋ยวเรามาดูเรื่องราวของปลาชนิดนี้กัน มีคลิปจากส่องโลก คู่มือพรานเบ็ด (สุธี สุทธิวงศ์) ตอนที่ 17 “ปลาช่อนงูเห่า” ให้ดูประกอบด้วยนะ

ปลาช่อนงูเห่า หรือ ปลาช่อนดอกจันทน์ (อังกฤษ : Great snakehead) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) ไม่จัดว่าเป็นปลาเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปลาหายาก พบไม่บ่อยนักในธรรมชาติ มีลักษณะลำตัวค่อนข้างกลมยาว หัวมีขนาดเล็กกว่าปลาช่อนชนิดอื่นๆ สีลำตัวจะเปลี่ยนไปตามวัยและสภาพแวดล้อม ปกติพื้นลำตัวจะเป็นสีคล้ำเช่น น้ำตาลแกมเขียว หรือสีดำ

เมื่อยังเป็นลูกปลาจะมีแถบสีส้มคาดตามความยาวจากหัวจรดโคนหาง โดยบริเวณโคนหางจะมีจุดสีดำล้อมรอบด้วยวงสีส้มสด แลดูคล้ายเครื่องหมายดอกจันทน์ เมื่อปลาเริ่มโตขึ้นจะมีแถบดำราว 5-6 แถบคาดขวางลำตัวส่วนที่อยู่ค่อนไปทางท้าย ใต้ท้องสีจาง ลำตัวด้านท้าย ครีบหลัง หาง และครีบท้องจะมีจุดสีตะกั่วเหลือบแวววาวกระจายอยู่ทั่ว

เกี่ยวกับความเชื่อที่มันมีพิษ

Advertisements

มีความเชื่อที่ว่า ปลาช่อนชนิดนี้ผสมกับงูเห่า มีจึงมีพิษ บางความเชื่อก็บอกมีพิษร้ายแรงกว่างูเห่าทั่วไปซะอีก แต่ความเป็นจริงแล้ว ปลาช่อนงูเห่าไม่ได้มีพิษแต่อย่างใด โดยปลาช่อนชนิดนี้ มีขนาดโตเต็มที่ราว 40-90 เซนติเมตร แต่ก็มีบางรายงานพบว่ายาวได้ถึง 183 เซนติเมตร น้ำหนักถึง 30 กิโลกรัม มีรูปร่างเรียวยาวกว่าปลาช่อนชนิดอื่น ๆ ประกอบกับส่วนหัวที่เล็ก ทำให้แลดูคล้ายงูเห่า จึงเป็นที่มาของชื่อ “ปลาช่อนงูเห่า” เมื่อชาวบ้านจับปลาชนิดนี้ได้ บางคนไม่กล้ากินเนื่องจากเชื่อว่าเป็นปลาช่อนผสมงูเห่า มีพิษร้ายแรงกว่างูเห่าทั่วไป

มีการกระจายพันธุ์ในไทย, พม่า, กัมพูชา, มาเลเซีย โดยพฤติกรรมมักอยู่อาศัยตามแม่น้ำชายฝั่งที่มีพืชน้ำและพรรณไม้ขึ้นชายฝั่งมีเงาร่ม อาหารได้แก่ ปลา, กุ้ง, สัตว์น้ำขนาดเล็กและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก เช่น กบ, เขียด รวมถึงแมลงชนิดต่าง ๆ ด้วย

อุปนิสัยเป็นปลาที่ค่อนข้างดุร้ายก้าวร้าว โดยมักจะกบดานตัวนิ่ง ๆ กับพื้นท้องน้ำหรือไม่ก็ลอยตัวอยู่ปริมน้ำ เมื่อพบอาหารจะพุ่งฉกด้วยความเร็วและดุดัน

ปลาช่อนงูเห่า นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่มีขายในตลาดปลาสวยงามเป็นบางครั้ง มีชื่อเรียกในภาษาถิ่นต่าง ๆ เช่น “หลิมหางกวั๊ก” ที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน “ก๊วน” ในภาษาเหนือและภาษาอีสาน “ล่อน”, “กะล่อน” หรือ “อ้ายล่อน” ในภาษาใต้ เป็นต้น




เกล็ดความรู้

รู้หรือไม่ว่า ‘ปลาช่อนงูเห่า’ ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องแน่นอน โดยมากจะใช้ชื่อว่า Channa marulius อันเป็นชื่อเดียวกับปลาช่อนงูเห่าอินเดีย แต่ในทัศนะของนักมีนวิทยาที่ทำการศึกษาเรื่องปลาช่อน เห็นว่า ควรใช้ Channa aurolineatus (Day, 1870) หรือ Channa aff. aurolineatus และแม้แต่ชื่อภาษาอังกฤษ Great snakehead (บางแหล่งก็เรียก Bullseye snakehead) ซึ่งเป็นของปลาช่อนงูเห่า ยังไปทับกับข้อมูลของ Giant snakehead ซึ่งเป็นชื่อของปลาชะโด

ตัวนี้เป็นปลาช่อนงูเห่าแม่น้ำโขง Channa sp. aff. marulia (Maekong)

นอกจากนี้ยังมี “ปลาช่อนงูเห่าแม่น้ำโขง” และเป็นเช่นเดียวกับปลาช่อนงูเห่าของไทย ตรงที่ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่แน้นอน บางแหล่งก็เรียก Channa sp. aff. marulia (Maekong) หรือ Channa auroflammea เป็นปลาที่พบได้ในแม่น้ำโขงแต่หายากมากในเขตไทย เป็นปลาที่มีราคาค่อนข้างแพงในตลาดปลาสวยงาม

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements