1. ปลาช่อน (Channa striata)
ปลาช่อน (striped snakehead) ขนาดโดยทั่วไปอยู่ที่ 30 – 40 เซนติเมตร เป็นปลาที่สามารถแถกไถตัวไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ รวมทั้งสามารถหลบอยู่ใต้ดินในฤดูฝนแล้งได้เป็นเวลานาน และยังเป็นปลาช่อนที่มีจำนวนมากที่สุด จึงเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญ อันดับแรกของไทย
2. ปลาชะโด (Channa micropeltes)
ปลาชะโด (Giant Snakehead) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ ยาวได้ถึง 1 – 1.5 เมตร มีรูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว มันเป็นปลาเกมที่นักตกปลาไทยและทั่วโลกรู้จักกันดีว่าดุร้าย ในไทยไม่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่มีหลายประเทศที่ชอบเอาปลาชะโดไปใส่ตู้ เพราะชอบความดุดันของมัน
3. ปลาก้าง หรือ ปลากั้ง (Channa limbata)
ปลากั้ง (Dwarf snakehead) เป็นปลาขนาดเล็กที่สุดในวงศ์ปลาช่อน โตเต็มที่ได้ไม่เกิน 1 ฟุต หลายสิบปีก่อน จัดเป็นปลาที่พบได้ในทุกแหล่งน้ำจืดของไทย แต่ในสมัยนี้พบได้ยากขึ้นมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ตามลำธาร แหล่งน้ำสะอาดตามใกล้ป่าเขา
4. ปลากระสง (Channa lucius)
ปลากระสง (Blotched snakehead) มีรูปร่างคล้ายปลาช่อน แต่มีส่วนหัวที่แบนกว่า สีสันบริเวณลำตัวเป็นสีเขียวมะกอกมีลวดลายคล้ายลายไม้ ยาวเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ รวมถึงในบริเวณพื้นที่ป่าพรุ ทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
5. ปลาช่อนงูเห่า (Channa marulius)
ปลาช่อนงูเห่า (Great snakehead) เป็นปลาที่ค่อนข้างสร้างความสับสน เนื่องเป็นปลาที่มีชื่อวิทยาศาสตร์หลายชื่อ แต่ส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ชานนา มารูเลียส (Channa marulius) มันมีลำตัวค่อนข้างกลมยาว สีลำตัวจะเปลี่ยนไปตามวัยและสภาพแวดล้อม เป็นปลาที่มีเครื่องหมายดอกจันทน์ อยู่ตามลำตัวจนถึงปลายหาง ..พบได้ค่อนข้างยากในไทย
6. ปลาช่อนข้าหลวง (Channa Marulioides)
ปลาช่อนข้าหลวง (Emperor snakehead) มีลักษณะคล้ายปลาช่อนงูเห่า แต่ลำตัวสั้นป้อมกว่า ลำตัวสีเขียวอ่อน และมีลายสีเหลืองทองส้มสลับกับแต้มสีดำ ครีบมีจุดประสีเหลืองสด ท้องสีจาง ขนาดโตเต็มที่มีความยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ในประเทศไทยพบเฉพาะภาคใต้
7. ปลาช่อนดำ (Channa Melasoma)
ปลาช่อนดำ (Black Snakehead) มีรูปร่างเหมือนปลาช่อน แต่ลำตัวผอมเพรียวกว่า หัวโต ตาสีดำ รูปร่างและสีของปลาช่อนดำ อาจไม่เป็นสีดำ แต่จะแปรปรวนตามแหล่งอาศัย ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร พบได้เฉพาะในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และแม่น้ำโกลก
8. ปลาช่อนจุดอินโด (Channa Pleurophthalma)
ปลาช่อนจุดอินโด (Ocellated Snakehead) มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร เมื่อปลาโตหัวจะแหลม แต่ส่วนลำตัวกลับป้อมคล้ายปลาชะโดบ้านเรา มีลักษณะเด่น คือ มีจุดสีดำที่ล้อมด้วยวงสีส้มกลมคล้ายดวงตาขนาดใหญ่ พบกระจายพันธุ์ในทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา และยังพบในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะบอร์เนียว
9. ปลาช่อนบานคาน (Channa Bankanensis)
ปลาช่อนบานคาน (Bangka snakehead) มีลักษณะเหมือนปลากระสง แต่ส่วนหัวไม่เรียวแหลมเหมือนปลากระสง และรูปทรงลำตัวค่อนข้างจะกลมเป็นทรงกระบอกมากกว่า โตเต็มที่ประมาณ 25 เซนติเมตร เป็นปลาที่อาศัยในป่าพรุที่มีค่า pH ไม่เกิน 4 …พบกระจายพันธุ์ทางตอนใต้ของมาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะกาลีมันตัน และเกาะบังกาในอินโดนีเซีย
10. ปลาช่อนจุดน้ำเงิน (Channa Cyanospilos)
ปลาช่อนจุดน้ำเงิน (Bluespotted Snakehead) มีขนาดประมาณ 22 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนหายากที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาช่อนดำ มีถิ่นกำเนิดที่เกาะสุมาตรา และอาจพบได้ในในคาบสมุทรมาเลเซียและบอร์เนียว และอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งที่มีสีแดงดำและเต็มไปด้วยใบไม้แห้ง และมีค่า pH 6-7.5
11. ปลาช่อนสายรุ้ง (Channa Bleheri)
ปลาช่อนสายรุ้ง (Rainbow snakehead) จัดเป็นปลาช่อนขนาดเล็กเช่นเดียวกับปลาปลากั้ง มันยาวได้ไม่เกิน 20 เซนติเมตร แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงามมาก เป็นปลาช่อนที่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
12. ปลาช่อนเอเชียติกา (Channa Asiatica)
ปลาช่อนเอเชียติกา (Chinese snakehead) จัดเป็นปลาช่อนที่สวยงาม มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 35 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่ได้รับความนิยมในตลาดปลาสวยงาม และอาจมีการผสมในแหล่งเพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้สีสันที่พิเศษ พบกระจายพันธุ์ในแถบตอนกลางและตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสวิ๋น ในมณฑลกวางสี และกวางตุ้ง ในประเทศจีน
13. ปลากั้งอินเดีย (Channa Gachua)
ปลากั้งอินเดีย มีรูปร่างและขนาดคล้ายกับปลากั้งบ้านเรา แต่ปลากั้งอินเดียจะมีลำตัวที่ป้อมสั้นกว่า มีจำนวนเกล็ดที่ใต้ขากรรไกรล่างทั้งสองข้างเกล็ดเดียว มีขอบใต้ดวงตาสีแดง และไม่มีครีบท้อง สีสันบนลำตัวนั้นมีหลากหลายเช่นเดียวกับปลากั้ง พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยพบที่อินเดีย รัฐอัสสัม, บังกลาเทศ, ปากีสถาน ไปจนถึงตอนใต้ของประเทศจีน
14. ปลาช่อนพัลชรา (Channa Pulchra)
ปลาช่อนพัลชรา (Burmese peacock snakehead) เป็นปลาช่อนที่สวยงามมากอีกชนิดหนึ่ง มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่ไม่มีนิสัยดุร้ายก้าวร้าว และเลี้ยงได้ง่ายในตู้ปลา พบในต้นน้ำของรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เป็นปลาช่อนที่ถูกอธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธานพร้อมๆ กับปลาช่อนออนาติพินนิส (C.ornatipinnis) ซึ่งพบในพม่าและมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
15. ปลาช่อนออนาติ (Channa Ornatipinnis)
ปลาช่อนออนาติ เป็นปลาช่อนสวยงามอีกชนิดที่พบได้ในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า มันมีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ปลาช่อนชนิดนี้มีจุดสีดำขนาดใหญ่ประมาณ 10 – 20 จุด ซึ่งมักมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาช่อนพัลชรา แต่ปลาช่อนพัลชราจะมีจุดที่เล็กกว่ามาก
16. ปลาช่อนแอนดริว (Channa Andrao)
ปลาช่อนแอนดริว เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ประมาณ 15-20 เซนติเมตร โดยในอดีตปลาช่อนแอนดริวมักจะถูกพบปะปนไปกับปลาช่อนเจ็ดสี (C. bleheri) ในฐานะของปลาสวยงามเสมอ พบในบึงเลฟรากูรี่ เมืองจัลไพกูรี่ รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดียเท่านั้น
17. ปลาช่อนสจวร์ต (Channa Stewartii)
ปลาช่อนสจวร์ต (Stewart’s snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก ยาวได้ประมาณ 25 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่มีสีสันสวยงาม จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลายครั้ง พบในลุ่มน้ำพรหมบุตรในอินเดียและบังกลาเทศ, แถบตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยในอินเดียและเนปาล และลุ่มน้ำที่มาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเนปาล
18. ปลาช่อนบาร์กา (Channa Barca)
ปลาช่อนบาร์กา (Barca snakehead) มีความยาวเต็มที่ประมาณ 90 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีสีสันสวยงามจนได้รับฉายา “จักรพรรดิปลาช่อน” มันคือปลาช่อนแพงที่สุดในโลก พบได้ในแม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำคงคาในรัฐอัสสัม และรัฐเบงกอลตะวันตกในประเทศอินเดีย และบางส่วนของบังกลาเทศเท่านั้น!
19. ปลาช่อนออแรนติ (Channa Ayrantimaculata)
ปลาช่อนออแรนติ (Orange-spotted snakehead) เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาช่อนบาร์กา (C. barca) แต่มีหัวโตและแบนกว่า เป็นปลาช่อนที่สวยมาก พบในแม่น้ำรามบุตรา ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร ทางตอนเหนือรัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศของประเทศอินเดีย
20. ปลาช่อนบารัม (Channa baramensis)
ปลาช่อนบารัม (Baram snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก ยาวได้ประมาณ 22 เซนติเมตร เป็นสายพันธุ์ที่ถูกคิดว่าเป็นปลาช่อนดำ (C.melasoma) มาเป็นเวลานาน แต่ยังสามารถแยกได้โดยที่ปลาช่อนบารัมที่โตเต็มวัยจะมีจุดสีดำจำนวนมากตลอดลำตัว พบในเกาะบอร์เนียว รัฐซาราวักและทางตะวันตกของรัฐซาบาห์ในมาเลเซีย
21. ปลาชะโดอินเดีย (Channa Diplogramma)
ปลาชะโดอินเดีย (Malabar snakehead) มีลักษณะคล้ายกับปลาชะโดไทย ซึ่งถูกเข้าใจมาตลอดว่าเป็นชนิดเดียวกัน จนในปี ค.ศ. 2011 ได้มีการศึกษาใหม่ จึงพบว่าแท้จริงเป็นชนิดใหม่ โดยปลาชะโดชนิดนี้จัดเป็นปลาเฉพาะถิ่น ที่พบได้ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของคาบสมุทรอินเดีย รวมถึงหลายแม่น้ำในรัฐเกรละ และบางแหล่งน้ำในรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดีย
22. ปลาช่อนเหนือ (Channa Argus)
ปลาช่อนเหนือ (Northern snakehead) จัดเป็นปลาช่อนขนาดใหญ่ มีความยาวได้ประมาณ 90 เซนติเมตร มีอุปนิสัยดุร้าย กินอาหารไม่เลือก ปรับตัวให้เข้ากับถิ่นที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี พบในซีกโลกทางเหนือและเอเชียตะวันออก ในที่ ๆ มีอุณหภูมิหนาวเย็น เช่น รัสเซีย, คาบสมุทรเกาหลี และจีน และระบาดหนักอยู่ในรัฐฟลอริดา
23. ปลาช่อนออเรียนตาลิส (Channa Orientalis)
ปลาช่อนออเรียนตาลิส (Ceylon snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็กจำพวกปลาช่อนแคระ โตได้เต็มที่ 25 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับปลากั้ง (C. limbata) ที่พบในไทย หรือปลากั้งอินเดีย (C. gachua) ที่พบในอินเดีย เป็นปลาช่อนที่พบเฉพาะบนในศรีลังกาเท่านั้น
24. ปลาช่อนเชล (Channa amphibeus)
ปลาช่อนเชล (Chel snakehead) เป็นปลาช่อนที่มีความสวยงามเช่นเดียวกับปลาช่อนบาร์กา (C.Barca) แต่มันมีขนาดเพียง 25 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเล็กกว่ามาก แต่ถึงอย่างงั้นปลาช่อนเชลก็เป็นหนึ่งในปลาช่อนที่หายากที่สุดในโลก พบเฉพาะในแม่น้ำเชล ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร และจะอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิค่อนข้างอุ่น ประมาณ 22-28 องศาเซลเซียส
25. ปลาช่อนออรัม (Channa aurantipectoralis)
ปลาช่อนออรัม (ออรัมทิเพคโทลาลิส) เป็นหนึ่งในปลาช่อนชนิดใหม่ ที่เพิ่งระบุตัวได้ในปี 2016 เป็นหนึ่งในปลาช่อนขนาดเล็กที่คล้ายกับปลากั้งที่พบในไทย ถูกพบครั้งแรกในระบบระบายน้ำของแม่น้ำคันภุลี รัฐมิโซรัมประเทศอินเดีย เป็นปลาที่มีสีสด โดยเฉพาะครีบอกจะเป็นสีส้ม
26. ปลาช่อนพม่า (Channa burmanica)
ปลาช่อนพม่า (Burmese Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็ก ที่มีสีใกล้เคียงกับปลากั้งที่พบในไทยหรือที่พบในอินเดีย มีถิ่นกำเนิดทางตอนเหนือของประเทศพม่า พบเฉพาะที่ต้นน้ำของแม่น้ำอิรวดีทางตอนเหนือของพม่า เป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักน้อย และยังไม่ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ในสภาพกักขัง
27. ปลาช่อนอินเล (Channa harcourtbutleri)
ปลาช่อนอินเล (Inle Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่ยาวได้ประมาณ 16 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนเฉพาะถิ่นของทะเลสาบอินเล ในพม่าเรียก “งา ออน-มา nga ohn-ma” แม้ปลาชนิดนี้จะเป็นที่รู้จักในหมู่นักเลี้ยง แต่ก็ไม่มีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับมันมากนัก
28. ปลาช่อนครีบดำ (Channa melanoptera)
ปลาช่อนครีบดำ (Blackfinned Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดใหญ่ที่ยาวได้ถึง 65 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนจากอินโดนีเซีย พบครั้งแรกในปี 1855 ในแม่น้ำกาปูวัส (Kapuas River) เป็นปลาที่ดูคล้ายปลาช่อนข้าหลวง (C. Marulioides) แต่ปลาช่อนครีบดำจะไม่มีดอกหรือเกล็ดสีขาว หากมีเกล็ดสีขาวจะมองเห็นเป็นจุดสีขาวเล็กน้อย
29. ปลาช่อนน็อกซ์ (Channa nox)
ปลาช่อนน็อกซ์ (Night Snakehead) เป็นปลาช่อนที่ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ชื่อ NOX ของปลาชนิดนี้ในภาษาละติน หมายถึง “มืดค่ำ” เป็นปลาช่อนที่มีสีน้ำตาลเข้ม มีจุดขาวกระจายอยู่ทั่ว มีแถบสีดำยื่นยาวถึงแค่ครึ่งบนของลำตัวถึงแม้จะมีบางตัวอย่างที่แถบยื่นยาวลงถึงครึ่งล่างของลำตัว พบภาคใต้ของประเทศจีน
30. ปลาช่อนพะนอ (Channa panaw)
ปลาช่อนพะนอ (Panaw Snakehead) เป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่ได้รับการอธิบายใหม่ในปี 1998 เป็นปลาที่มีความยาวไม่เกิน 20 เซนติเมตร แม้ว่าปลาจะมีสีสันไม่สดใส แต่ก็เหมาะสำหรับเลี้ยงในตู้ เนื่องจากค่อนข้างรักสงบ เป็นปลาที่พบในแม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำสะโตง ประเทศพม่า
31. ปลาช่อนมาคูลาต้า (Channa maculata)
ปลาช่อนมาคูลาต้า จัดเป็นปลาช่อนขนาดกลาง มันยาวได้ประมาณ 20-30 เซนติเมตร รูปร่างของมันคล้ายปลาช่อนเหนือ ที่มีขนาดใหญ่และก้าวร้าวกว่ามาก แต่จุดแตกต่างคือมาคูลาต้าจะมีทรงที่ป้อมกว่าและลายจะสว่างกว่า พบปลาชนิดนี้ถือเป็นปลาถิ่นของประเทศจีน แต่ก็พบได้ในเกาหลี เวียดนาม ไต้หวัน
32. ปลาช่อนด่าง (Channa punctata)
ปลาช่อนด่าง (Spotted Snakehead) ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนที่ทนทานอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไปอย่าง หนองน้ำ สระน้ำ คลอง และในน้ำกร่อยก็อยู่ได้อย่างสบาย เป็นปลาช่อนที่พบในปากีสถาน แม่น้ำบริเวณที่ราบของอินเดียและในศรีลังกา
33. ปลาช่อนพาร์ดาลิส (Channa pardalis)
ปลาช่อนพาร์ดาลิส เป็นปลาช่อนขนาดเล็กที่โตได้ยาว 14 เช็นติเมตร เป็นปลาที่เพิ่งได้รับการอธิบายไปเมื่อปี 2016 โดยก่อนหน้านั้นมันเป็นที่รู้จักในชื่อ Channa True Blue พบในคาซีฮิลส์ (Khasi Hills) รัฐเมฆาลัย ประเทศอินเดีย
34. ปลาช่อนนิงบินเฮนซิส (Channa ninhbinhensis)
ปลาช่อนนิงบินเฮนซิส เป็นปลาช่อนที่แทบจะไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับมัน เท่าที่รู้คือเป็นปลาช่อนที่ยาวได้ถึง 28 เซนติเมตร หากมองจากตัวอย่างจะพบว่าเป็นปลาที่มีสีส้มที่ปลายครีบและหาง และมีรูปร่างคล้ายปลากั้งแต่ตัวใหญ่กว่า พบในเวียดนาม จังหวัดนิญบิ่ญ
35. ปลาช่อนอริสโตนี (Channa aristonei)
ปลาช่อนอริสโตนี เป็นปลาช่อนที่เพิ่งได้รับการอธิบายเมื่อเดือนธันวาคม 2020 มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มันเป็นปลาช่อนที่มีรูปร่างคล้ายกับปลากั้งที่พบในไทย แต่สีของปลาช่อนชนิดนี้จะเป็นสีฟ้าสดใสตลอดลำตัว หรืออาจได้เจอสีเขียวอมฟ้า พบครั้งแรกในรัฐเมฆาลัย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อาศัยในแหล่งน้ำไหลเอื่อย ซึ่งคล้ายกับปลากั้ง และชอบอยู่ในน้ำอุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส …อ่านเพิ่มเติม
ก็หมดแล้วสำหรับปลาช่อนในสกุล Channa (/ชาน-นา/) หลายคนอาจต้องร้องอุทานขึ้นมาว่า ปลาช่อนมันเยอะขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย ..จริงๆ ยังมีเยอะกว่านี้อีกนะ และยังมีปลาช่อนที่อยู่ในสกุล Parachanna (/พา-รา-ชาน-นา/) ซึ่งเป็นปลาช่อนแอฟริกา แต่สำหรับเรื่องนี้ คงต้องขอลาไปก่อนครับ ถ้าชอบเรื่องนี้อย่าลืมแชร์กันด้วยนะ