เส้นทางของ T-Rex ไดโนเสาร์ที่กลายเป็นผู้ปกครองยุคครีเทเชียสอย่างเบ็ดเสร็จ

ไทแรนโนซอรัส (T-Rex) อาจเป็นไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ทั้งขนาดที่ใหญ่เกือบ 13 เมตรและน้ำหนัก 7 ตัน ทำให้ขนาดและความดุร้ายของมันเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดตั้งแต่แรก แต่นักบรรพชีวินวิทยาได้เรียนรู้ว่า มันและญาติๆ ของมันนั้นปกครองอเมริกาเหนือในช่วงเวลานั้นอย่างเบ็ดเสร็จ และยังมีความต่างระหว่างตัววัยรุ่นและโตเต็ม ซึ่งความต่างนี้ทำให้มันแทบจะเป็นคนละชนิดกัน จำทำให้ไม่มีไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลางในพื้นที่นั้น

ไทแรนโนซอรัส

“การค้นพบล่าสุดได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Canadian Journal of Earth Sciences ซึ่งนักบรรพชีวินวิทยา Royal Tyrrell และทีมของเขาพบว่าพวกไทแรนโนซอรัสรุ่นเยาว์มีพฤติกรรมการล่าเหยื่อต่างจากพวกที่โตเต็มที่”

แนวคิดที่ว่าทีเร็กซ์และญาติของมันอย่าง กอร์โกซอรัส (Gorgosaurus) มีอิทธิพลต่อถิ่นที่อยู่อาศัยแถบนั้น ไม่ได้มาจากการค้นพบเพียงครั้งเดียว แต่มาจากการค้นพบฟอสซิลโดยบังเอิญในช่วงระยะเวลาหลายปี การวิเคราะห์กายภาคของไดโนเสาร์ก็มีส่วน

ซึ่งข้อสรุปคือไทรันโนซอรัสที่อายุน้อย จะมีขนาดที่เล็กแล้วว่องไวมาก ทำให้มันสามารถวิ่งตามเหยื่อของมันได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงพฤติกรรมที่รวมฝูงกันเป็นครอบครัวอีก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ไม่มีไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลางในพื้นที่ที่มีพวกไทแรนโนซอร์อยู่เลย และเป็นการสร้างระบบนิเวศที่ไม่มีในทุกวันนี้ มันเป็นพื้นที่จะถูกครอบครองโดยนักล่าขนาดใหญ่เพียงชนิดเดียว

ถึงแม้ไทแรนโนซอรัสจะมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ต้นกำเนิดพวกมันย้อนกลับไปได้ถึง 170 ล้านปีก่อน พวกมันมีขนาดเล็กมาก ประมาณ 2 เมตร แต่เมื่อ 80 ล้านปีพวกมันเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ความสำเร็จในการล่าของพวกมันมาจากรอยกัดอันน่ากลัวที่สามารถขบกระดูกและเกราะให้แตกได้ง่ายๆ พวกมันท่องโลกในช่วง 14 ล้านปีสุดท้าย ของยุคไดโนเสาร์และครอบครองอเมริกาเหนือและบางส่วนของเอเซียด้วย

หากคุณเคยไปเยือนรัฐอัลเบอร์ตาเมื่อ 75 ล้านปีก่อน คุณมีโอกาสจะได้เจอกับไทแรนโนซอร์ขนาดใหญ่อย่าง อัลแบร์โตซอรัส (Albertosaurus) และ กอร์โกซอรัส ไดโนเสาร์พวกนี้เป็นนักล่าอันดับต้นๆ ในเขตนั้น เหมือนกับทีเร็กซ์ แม้ซากตัวอ่อนของทีเร็กซ์จะหายากมาก แต่ Therrien ได้ค้นพบตัวอ่อนของอัลแบร์โตซอรัสและกอร์โกซอรัสหลายตัว ทำให้รู้ว่าพวกมันเติบโตขึ้นมาอย่างไร เริ่มแรกพวกมันมีแรงกัดที่เบาแต่ฟันมันคมเหมือนมีดเหมาะกับการฉีดเนื้อ แต่เมื่อมันอายุ 11 ปี ขากรรไกรของมันจะยาวถึง 23 นิ้ว ฟันเริ่มเปลี่ยนไป เป็นฟันที่เหมาะกับการกัดแบบแรง และกะโหลกที่ช่วยกระจายแรกกัดให้ดีขึ้น

ถึงแม้กอร์โกซอรัสที่มีอายุเพียง 11 ปีจะยังเทียบชั้นกับพวกที่โตแล้วไม่ได้ แต่มันก็ยังอันตราย พวกมันจะมีความยาวเกือบ 6 เมตร มันสามารถล่าไดโนเสาร์ปากเป็ดขนาดเล็กได้รวมถึงล่าพวกไดโนเสาร์นกกระจอกเทศอย่างออร์นิโธมิมัส (Ornithomimids) ได้เช่นกัน โดยกอร์โกซอรัสอายุ 10 ปี จะมีแรงกัดเพียง 13% ถ้าเทียบกับพวกที่โตแล้ว แต่อีก10 ปีพวกมันสามารถกัดกระดูกให้หักได้ง่ายๆ

Therrien ตั้งข้อสังเกตว่าพวกไทแรนโนซอร์นั้นพัฒนาการกัดมากกว่าไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่นๆ ที่ไปเน้นกรงเล็บ ผลการวิจัยล่าสุดพบว่า แรงกัดของทีเร็กซ์ที่โตเต็มที่นั้นมากกว่าจระเข้ถึง 15 เท่า ขณะที่ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อย่าง จิแกนโนโตซอรัส (Giganotosaurus) ซึ่งใหญ่กว่าทีเร็กซ์ มีแรงกัดเพียง 4 เท่าของจระเข้เท่านั้น

Joseph Peterson นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินและเพื่อนร่วมงานพบว่า ทีเร็กซ์วัย 13 ปีที่มีชื่อว่า Jane สามารถกัดทะลุกระดูกได้ มันอาจจะไม่ได้ล่าเจ้าปากเป็ดขนาดใหญ่ด้วยตนเอง แต่อาจจะเป็นฝีมือของพวกที่โตแล้ว เมื่อเทียบกับงานวิจัยของ Therrien เขาพบว่าขนาดร่างกายเป็นตัวที่กำหนดแรงกัดของพวกไทแรนโนซอร์ “ไทแรนโนซอรัสกับกอร์โกซอรัสที่มีขนาดเท่ากันจะมีแรงกันเท่ากัน”

Peterson ตั้งข้อสังเกตว่าเหมือนกับพวกจระเข้ ซึ่งจระเข้จะกินอาหารต่างกันในแต่ละวัย ไทแรนโนซอร์รุ่นเยาว์จะไม่กินอะไรชนิดหนึ่งตลอดและจะเปลี่ยนไปตามอายุพวกมัน

ความจริงที่ว่าพวกไทแรนโนซอร์รุ่นเยาว์นั้นสามารถเติบโตจากนักฉีกเนื้อจนกลายเป็นตัวบดกระดูกได้ นี่อาจเป็นคำตอบให้ว่าทำไมถึงไม่มีไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลางในพื้นที่ที่พวกไทแรนโนซอร์อยู่เลย เราอาจแค่ยังไม่เจอมันหรือยังมีอย่างอื่นอีก

Therrien ตั้งข้อสังเกตว่าการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์กินเนื้อ อย่างพวกอัลโลซอร์ในอเมริกาเหนือทำให้พวกไทแรนโนซอร์เข้ายึดครองพื้นที่และตั้งถิ่นฐานได้ตั้งแต่ 80 ถึง 65 ล้านปีกว่าก่อน ซึ่งช่วงเวลาก่อนหน้าไทแรนโนซอร์นั้นมีข้อมูลน้อยมาก เพราะไดโนเสาร์กินเนื้อก่อนหน้านั้นจะเป็นพวกโดรมิโอซอร์ขนาดใหญ่อย่าง ยูทาห์แรปเตอร์ (Utahraptor)

เป็นไปได้ว่าการวิวัฒนาการของพวกกินพืช และการสูญพันธุ์ของพวกอัลโลซอร์เปิดทางให้พวกไทแรนโนซอร์ขึ้นมาได้ “ในช่วงครีเตเชียสตอนปลายเราได้เห็นการเพิ่มขึ้นของไดโนเสาร์ที่มีเขาและพวกปากเป็ด ส่วนพวกซอโรพอดในช่วงท้ายของยุคครีเตเชียสเหลือแค่อลาโมซอรัส (Alamosaurus) เพียงชนิดเดียว และด้วยขนาดตัวของมันที่ใหญ่ถึง 20-25 เมตร รวมถึงการหายไปของพวกอัลโลซอร์ ทำให้ไทแรนโนซอร์สามารถพัฒนาร่างกายให้เป็นสุดยอดนักล่าได้

Advertisements

การเปรียบเทียบกับยุคอื่นนั้นช่วยได้ ในยุคจูราสสิคตอนปลายเมื่อประมาณ 150 ล้านปีที่แล้ว มีไดโนเสาร์กินเนื้อหลายขนาดตั้งแต่บรรพบุรุษไทแรนโนซอร์ตัวเท่าไก่ง่วงอย่าง สโตเคโซซอรัส (Stokesosaurus) จนถึงพวกกินเนื้อขนาดกลางอย่างเซราโทซอรัส (Ceratosaurus) จนถึงนักล่าขนาดยักษ์ที่มีชื่อเสียงอย่าง อัลโลซอรัส (Allosaurus) และ ทอร์โวซอรัส (Torvosaurus) มีนักล่าครบทุกขนาด แต่ในระบบนิเวศที่แหล่งขุดค้นที่ Hell Creek แหล่งที่ทีเร็กซ์เคยอาศัยเมื่อ 68-65 ล้านปีก่อน มีแค่พวกแรปเตอร์ขนาดเล็ก จากนั้นก็ไทแรนโนซอรัสเลย ซึ่งเหยื่อหลักๆ คือไดโนเสาร์ปากเป็ด

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สมเหตุสมผล เนื่องจากไดโนเสาร์ทั้งหมดเริ่มต้นด้วยขนาดที่เล็ก พวกมันฟักจากไข่และใช้เวลาหลายปีกว่าจะโตเต็มที่ ทำให้พวกมันต้องแข่งขันกันเพื่อเอาตัวรอด

ประเภทของเหยื่อก็มีผลเช่นกัน อย่างเช่นในยุคจูราสสิค ไดโนเสาร์กินพืชเยอะที่สุดคือพวกซอโรพอดคอยาว ในทางตรงกันข้าม ช่วงปลายยุคครีเตเชียส ไดโนเสาร์กินพืชส่วนมากคือพวกปากเป็ดและไดโนเสาร์มีเขา การวิวัฒนาการของผู้ล่านั้นเริ่มมาจากเหยื่อของพวกมันด้วย

การทำความเข้าใจว่าไดโนเสาร์พวกนี้มีชีวิตอย่างไรเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของการทำความเข้าใจโลกที่พวกมันอาศัยอยู่ ยิ่งเราไขปริศนามากเท่าไร เรายิ่งเข้าใจระบบนิเวศของพวกมันมากเท่านั้น ซึ่งจะเป็นประตูนำไปสู่คำถามที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการวิวัฒนาการจนถึงการสูญพันธุ์ของพวกมันด้วย

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements