วิธีเอาตัวรอด หากโชคดีเจอเสือโคร่งในป่า ‘มารู้จักสัตว์ตัวนี้ให้มากขึ้นอีกนิด’

เรื่องนี้มาจากแฟนเพจของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะมาพูดถึงเรื่องวิธีการเอาตัวรอดจากเสือโคร่งในธรรมชาติ ซึ่งจริงๆ ต้องบอกว่าเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ไม่ได้จะเดินไปเจอง่ายๆ อยู่แล้ว แต่อันนี้เห็นว่ามันจะเป็นความรู้รอบตัวได้นะ เกิดวันหนึ่งดันเดินไปเจอจริงๆ จะได้ทำตัวให้ถูก

เสือโคร่ง

เรื่องโดย ดร. อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เล่าข้อแนะนำถึงการวิธีการเอาตัวรอด!! เมื่อท่านเจอเสือโคร่งในป่า ให้นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ฟัง หลังจากถูกถาม ว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือระดับต้นๆ ของโลก ถ้าท่านเป็นนายธวัชชัย สังคง ราษฎรหมู่บ้านบ้านใหม่เสรีธรรม หมู่ 10 ต.เชียงทอง อ.วังเจ้า จ.ตาก ที่เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563

ในขณะนั่งเก็บหัวมันสำปะหลังได้พบเห็นเสือโคร่งขนาดใหญ่ เดินผ่านไร่ ในระยะใกล้ชิด ท่านจะเอาตัวรอด อย่างไร ช่วยแนะนำหน่อย จะได้นำไปถ่ายทอดต่อให้คนอื่นฟังต่อ

สัตว์อันตราย ที่ไม่อันตราย

Advertisements

ดร. อัจฉรา ซิ้มเจริญ บอกว่า “นิยามที่ถูกต้องที่สุดของเสือโคร่ง ก็คือ “สัตว์อันตรายที่ไม่อันตราย” โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ผู้ปฎิบัติงานในป่า ทั้งผู้ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และนักวิจัย ทุกคนจะรู้จักลึกถึงความเป็นเสือโคร่ง

ดังนั้นเขาพร้อมจะเดินเท้าไปในป่าที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่อย่างไม่ต้องหวาดกลัว ไม่ระแวงว่าตัวเองจะตกเป็นเหยื่อเสือ เพราะรู้ดีว่าธรรมชาติเซตโปรแกรมให้เสือ “ไม่กินคน” และเสือ “กลัวคน”แม้ว่า เสือโคร่งมีทักษะการฆ่าเหยื่อที่แม้แต่กระทิงโทนตัวใหญ่กว่ามันถึง 5 เท่า ก็ยังพ่ายแพ้ต่อเสือโคร่ง “แต่เสือโคร่งไม่สนใจที่จับคนกิน มิหนำซ้ำ ยังพยายามหลบหลีกคนอย่างที่สุด”

เดินไปเจอเสือโคร่ง ก็เหมือนถูกรางวัลใหญ่

จากการรวบรวมข้อมูลจากการวิจัยเสือ ที่พบว่าในเนื้อที่กว้างใหญ่ถึง 200 ตารางกิโลเมตร (125,000 ไร่) มีเสืออาศัยอยู่แค่ 3-4 ตัว ดังนั้นโอกาสที่ใครสักคนจะเจอ “จอมหลบหลีกแห่งพงไพร” โดยบังเอิญ จึงยากพอๆ กับถูกหวยรางวัลใหญ่ ..และคนที่ถึงขั้นถูกเสือกัด โอกาสเกิดยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

‘ผอ. สบอ. 12 ถามต่อ!! ไหนบอกว่าเสือไม่มีอันตราย แล้วทำไมมีข่าวกัดคนอยู่บ่อย’

หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ บอกว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเคยมีเหตุเกิดขึ้นนานมากแล้ว “แต่ไม่บ่อย” ส่วนหนึ่งเนื่องจากเสือตัวนั้น แก่และบาดเจ็บ ส่วนกรณีตะปบ สั่งสอนมนุษย์ ก็เคยเกิดขึ้น เป็นเพราะบังเอิญมนุษย์ไปยุ่มย่ามที่รังลูกของมัน

วิธีการเอาตัวรอดจากเสือ

วิธีเอาตัวรอดจากเสือ จริงๆ แล้วง่ายนิดเดียว หากได้ยินเสียงเสือขู่คำรามเตือน ก็แค่ถอยฉากออกมา “ใส่ตีนหมา” หรือวิ่งหนีให้เร็วที่สุด แม้ดูไม่เท่ เสียฟอร์ม แต่กลับเป็นวิธีการที่ได้ผลที่สุด ทำง่ายที่สุด ซึ่งเข้ากับสัญชาตญาณเอาตัวรอดของคนเราอยู่แล้ว

Bengal tiger (Panthera tigris tigris) crossing road in front of watching tourists, Bandhavgarh NP, Madhya Pradesh, India, March

ถ้าไม่อยากวิ่ง อยากจะ “ใจดีสู้เสือ” ด้วยการยืนนิ่ง หรือค่อยๆ ฉากหลบหลังต้นไม้ ก็เป็นวิธีการที่ถูกต้องเช่นกัน หลายคนได้มีโอกาสคุมเชิงกับเสือแบบนี้ รอจนกระทั่งเสือเป็นฝ่ายล่าถอยไปเอง ซึ่งถ้ามีกล้องถ่ายรูปหรือมีมือถืออยู่ในมือ ก็อย่าลืมบันทึกภาพสุดยอดประสบการณ์นี้ มาฝากโลกภายนอกด้วยละกัน

ขอย้ำว่า การเจอเสือเป็นๆ นั้นเป็นเรื่องยากแสนยาก การถูกฟ้าผ่าตาย เพราะฝนฟ้าคะนอง (หรือเพราะไปสาบานมั่วซั่ว) ยังเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า การที่ใครจะดวงกุด ถูกเสือกัดเป็นไหนๆ ขอยืนยัน

ดร. อัจฉรา ซิ้มเจริญ (หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ)
นาย ธนิตย์ หนูยิ้ม (ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements