เลือกสี เลือกสัน จุดเริ่มต้นความมันส์ของนักตกปลา

คราวนี้เราลองเอาเรื่องราวต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสภาพความเป็นจริงในการ ตกปลา ของเรากันดูบ้างซิ ก่อนอื่นเราต้องยมรับว่าปลานั้นเปรียบเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มาจากนอกโลกหรือเป็นมนุษย์ต่างดาวนั่นเอง เพราะมันเป็นสัตว์เลือดเย็น มีมันสมองอยู่เพียงน้อยนิด และมีชีวิตความเป็นอยู่ ในที่ที่มีความหนาแน่นมากกว่าอากาศบนพื้นโลกเหลือคณานับ

สีเหยื่อปลอม

เช่นเดียวกับประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นและชิมรส ที่พวกมันใช้เส้นข้างลำตัวรับความรู้สึกจากแรงสั่นสะเทือนและในบางทีอาจจะมีความสามารถพิเศษรับรู้ถึงสิ่งเร้าอย่างอื่นโดยทีมนุษย์เรายังไม่ล่วงรู้อีกด้วย นอกจากนี้มันยังมีความสามารถทางการมองเห็นที่แตกต่างไปจากเรามากอีกด้วย

ด้วยดวงตาที่ตั้งอยู่ทางด้านข้างของหัวทั้งสองด้าน จึงทำให้สามารถแยกแยะ “สนามแห่งการมองเห็น” ออกเป็นสองด้านได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งแม้จะเหมือนกับดูหนังสองจอในเวลาเดียวกันแต่ด้วยอวัยวะที่อยู่ทางด้านหน้าทำให้มันสามารถที่จะแบ่งแยกภาพที่มองเห็นได้อย่างไม่ซับซ้อนกัน

ความสามารถทางการเห็นสีสันก็อาจจะแตกต่างไปจากพวกเรา ในบางสภาพพื้นที่มันอาจจะเห็นภาพได้คมชัดกว่า แต่กับสภาพพื้นที่อีกลักษณะหนึ่งมันอาจจะไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดแจ้งเหมือนอย่างที่เราๆ ท่านๆ มองเห็นกันเลย หรืออาจจะเห็นเป็นเพียงสีๆ เดียว (ขาวกับดำ) ในสภาพใดสภาพหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น

ที่อธิบายมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อต้องการไม่ให้ทุกคนเข้าข้างตัวเอง คือจะต้องลืมนึกถึงว่าเหยื่อที่อยู่ในน้ำนั้นเรามองเห็นเป็นอย่างไร แต่จะต้องให้ปลาเป็นตัวบอกเราเองว่าอะไรที่ดูเป็นธรรมชาติสำหรับพวกมัน

สีของเหยื่อปลอม

Advertisements

แน่นอนที่เหยื่อปลอมตัวที่เราคิดไปเองว่าน่าจะใช้ได้ผล แล้วมันก็ใช้ได้ผลจริงๆ ซะด้วย ซึ่งอาจจะเป็นด้วยเพราะเหตุผลหรือกรณีพิเศษอะไรก็ไดตั้งร้อยแปดพันประการ แต่ลองหยุดคิดกันหน่อยซิว่าเจ้าเหยื่อลากประเภทสเกิ๊ร์ตหรือที่เรียกกันว่าเหยื่อหมึกปลอมที่ใช้สเกิ๊ร์ตหลาสีสันสวมทับกันสองสามชั้นนั้น มันดูเหมือนกับอะไรในโลกของเราใบนี้บ้างเพราะรูปร่างของเหยื่อทั้งตัวนั้นมันไม่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งมีชีวิตชนิดใดเลย

อ่านเรื่อง : สีเหยื่อราพาล่า และการเลือกใช้งาน

ที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงจะเป็นปลาหมึกนั่นแหละ แต่คุณจำได้มั้ยล่ะว่าเคยเห็นปลาหมึกสีเขียวสีทองสีเงินสีชมพูสีดำและสีแดงจับตัวกันว่ายลิ่วๆ อยู่ทางท้ายเรือที่ไหนบ้างเราเพียงคิดกันเองว่าถ้าสามารถเลียนแบบรูปร่างลักษณะ แอ็กชั่นและสีสันให้คล้ายคลึงกับเหยื่อจริงตามธรรมชาติแล้ว เราก็จะประสพกับความสำเร็จ

แต่ก็อย่างที่เราบอกไว้แล้วว่าสิ่งที่สายตามนุษย์มองเห็นนั้นอาจจะไมใช่สิ่งที่ปลามองเห็นก็ได้ เช่นเดียวกับพื้นฐานในการคัดเลือกใช้สีของเหยื่อปลอมที่จะเอามาแนะนำนี้ ผู้ที่จะให้คำตัดสินได้ดีที่สุดว่าถูกหรือผิดก็คือ…ตัวปลา

ฟ้าครึ้ม…เหยื่อทึบ

แม้จะเป็นหลักเกณฑ์ที่ยึดถือกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณแต่ก็ยังทันสมัยอยู่เสมอ คือในวันที่ท้องฟ้าครึ้มไปด้วยเมฆฝน ในสภาพพื้นน้ำขุ่นเล็กน้อย และในเวลาช่วงเช้ามืดหรือบ่ายแก่ๆ ควรเลือกใช้เหยื่อสีเข้มหรือสีมอๆ ยิ่งถ้าใช้ลากเหยื่อในระดับผิวน้ำก็ยิ่งจะให้เกิดผลดี

เพราะตัวเหยื่อจะปรากฏเป็นภาพเงาแก่สายตาของเหล่านักล่าที่อยู่เบื้องล่างลงไป สีที่ควรเลือกใช้กับสภาพการณ์การตกปลา เช่นนี้คือสีน้ำเงินเข้ม สีดำ สีน้ำตาล สีแดงอมน้ำตาล สีเทาและสีแดงเข้ม แต่ทั้งหมดนี้ก็จะต้องแต่งแต้มด้วยสีที่ตัดกันด้วย

ฟ้าจ้า – เหยื่อสดใส

ก็เป็นหลักเกณฑ์โดยปริยายตามหลักข้อแรก ในเมื่อฟ้าครึ้มใช้เหยื่อสีทึบดังนั้นเมื่อฟ้าสว่างก็ต้องใช้เหยื่อสีสดใส ซึ่งจะใช้ได้ผลดีเป็นพิเศษกับสภาพพื้นน้ำใส หรืองานลากเหยื่อในระดับใกล้กับผิวน้ำ

สีดำยามราตรี

Advertisements

หลักเกณฑ์นี้ก็เป็นไปตาม “ฟ้าครึ้ม – เหยื่อทึบ ฟ้าจ้า – เหยื่อสดใส” เช่นกัน และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์สูงสุดของ “ภาพเงา” ในช่วงเวลานี้เป็นอย่างดี เหยื่อที่ใช้ได้ผลดีที่สุดในเวลากลางคืนคือเหยื่อสีดำหรือสีทึบทั้งตัว ถ้าไม่เป็นสีดำสนิทก็ควรเลือกใช้สีน้ำตาลเข้ม เทาเข้ม แดงเข้ม หรือสีกรมท่า แล้วแต่งแต้มด้วยสีสว่างที่ตัดกันหรือคาดด้วยพวกสีเรืองแสงก็ได้

สีดำในระดับผิวน้ำ

ก็เป็นไปตามเหตุผลเดียวกันอีกนั่นแหละคือเป็นผลมาจาก “ภาพเงา” ที่ปรากฏให้เห็น ดังนั้นเหยื่อชนิดป๊อปเปอร์หรือเหยื่อประเภทผิวน้ำควรมีลำตัวเป็นสีดำ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องเป็นสีแม่สีทั้งสามคือแดง น้ำเงินและเหลืองมารวมกัน ไม่ควรเลือกใช้เหยื่อที่มีท้องสีสว่างหรือสีใสๆ ถ้าใช้งานลากเหยื่อในระดับผิวน้ำ ยกเว้นกับพวกนักล่าหลายใจที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำที่ใสที่สุดตื้นที่สุด

สีแดงเข้มหรือแดงอุ่น

สีแดงเข้มเป็นสีที่ใช้งานได้ผลดีในยามรุ่งอรุณโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปลาทะเล และก็ได้ผลดีพอควรในยามโพล้เพล้ว่ากันว่ามันจะส่องประกายแวววาวชวนน่าสนใจได้ดีตอนช่วงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและหลังอาทิตย์ตกหนึ่งชั่วโมง

สีโครเมี่ยม

Advertisements

เหยื่อสีโครเมี่ยมหรือสีเงินจะสะท้อนประกายแวววามออกมารอบๆ ตัวเหมือนแผ่นกระจกเท่านั้น แต่เมื่อลงไปอยู่ในสภาพพื้นน้ำขุ่นมัวหรือในระดับน้ำลึกมากๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างแลดูเป็นสีน้ำเงินหรือสีเขียว มักจะไม่สะท้อนประกายออกมามากนัก ซึ่งแม้จะดูแวววาวเมื่ออยู่บนบก แต่เมื่อลงไปอยู่ในระดับน้ำลึกแล้วมันก็จะถูกกลืนหายไปในความมืดครึ้ม ซึ่งนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมพวกเหยื่อสปูนสีเงินจึงใช้งานได้ผลดีเมื่ออยู่ในระดับน้ำลึกถ้ามีแผ่นพลาสติกสีดำหรือเขียวเข้มก็ใช้ได้ผลดีเหมือนกัน

สีเรืองแสงในพื้นน้ำขุ่นมัว

แม้จะเป็นหลักเกณฑ์ที่มองเห็นได้อย่างชัดแจ้งแต่หลายคนก็มองข้ามไป พวกสีเรืองแสงสว่างจ้านี้จะใช้งานได้ผลดีที่สุด ในสภาพพื้นน้ำที่ขุ่นมัวหรือสีโคลน พื้นน้ำขุ่นมากเท่าไรก็ควรเลือกใช้เหยื่อสีสดใสมากเท่านั้น เพื่อที่จะทำให้พวกปลาล่าเหยื่อมองเห็นด้วยเหยื่อได้อย่างชัดเจน

โทนสีเรืองแสงที่ใช้ได้ผลดีที่สุดในแหล่งน้ำขุ่น คือสีเหลืองสด สีเหลืองเขียว สีเขียวมะนาว สีส้มและสีแดง โดยลืมเหยื่อสีขาวหรือสีเงินไปได้เลย เพราะมันจะสะท้อนประกายออกมาเพียงแค่รอบๆ ตัวเท่านั้น

สีธรรมชาติในพื้นน้ำใส

ปลาล่าเหยื่อเกือบทุกชนิดโดยเฉพาะพวกนักล่าที่ไม่ค่อยมีความก้าวร้าวมากนัก จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองได้ดีกว่ากับสีที่เรียกว่า “สีแห่งธรรมชาติ” ถ้าเป็นปลาน้ำจืดควรเลือกใช้เหยื่อสีดำ สีน้ำตาล สีเหลืองอมน้ำตาล สีส้มอ่อนและสีเขียวเข้ม ถ้าเป็นในน้ำทะเลก็ควรมองหาเหยื่อสีฟ้า สีเขียว สีเงิน สีขาวและสีออกมันแวววาว

สีเงินและสีทอง

นักตีสปินรุ่นเก่าหลายคนยังฝังหัวอยู่กับการเลือกใช้เหยื่อสีเงินในพื้นน้ำใส และสีทองหรือสีทองเหลืองในพื้นน้ำขุ่น แม้จะใช้ได้ผลดีก็จริงอยู่ แต่อย่าลืมว่าสีเงินและสีโครเมียมจะส่องประกายได้ชัดกว่าในสภาพพื้นน้ำขุ่นหรือในยามที่ไม่มีแสงแดดส่อง

สีตัดกัน

สีหลักๆ บนตัวเหยื่อที่กล่าวมาแล้วนั้นจะใช้ได้ผลดีมากขึ้นถ้าเราเพิ่มเติมสีสันที่ตัดกันบนตัวเหยื่อ เช่นจุดดำหรือลายดำบนเหยื่อสีสดใส สีอ่อนบนตัวเหยื่อสีทึบ ซึ่งจะช่วยทำให้เหล่านักล่าเหยื่อสังเกตเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้จะขัดแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วไปบ้างก็ตามเพราะที่ชักนำมาทั้งหมดนั้นก็เพียงข้อเสนอแนะชวนให้คิดเท่านั้น มิใช่ให้เป็นการเลียนแบบที่พิถีพิถันจนมากเกินไป

สีเหลือบ

ถ้าตีเหยื่อไปครั้งแล้วครั้งเล่าจนรู้สึกปวดเมื่อยแขนจนเต็มทีแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเงียบสงบอยู่ ก็ลองเปลี่ยนใช้สีเหยื่อไปในทางตรงกันข้ามดูบ้าง ซึ่งมันอาจดูไม่เป็นไปตามธรรมชาติก็จริงอยู่ แต่ก็จะทำให้ตัวเหยื่อเห็นได้ชัดเจนเหล่านักล่าอดใจไม่ไหวที่จะพุ่งเข้าสไตร๊ค์บ้างก็ได้ สีชมพูสดหรือสีเขียวมะนาวสว่างโพลงแสบตาเป็นสีที่น่าเลือกใช้ในกรณีเช่นนี้

จากหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ให้ไว้ คงจะทำให้ทุกๆ คนเกิดแนวความคิดในการเลือกใช้สีสันของตัวเหยื่อขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าเกิดปลายังคงเมินเฉยไม่ให้ความสนใจต่อตัวเหยื่อที่กำลังลากอยู่ ก็อาจเป็นเพราะว่าคุณเลือกใช้ชนิดของเหยื่อปลอมหรือสีของเหยื่อผิดต่อสภาพการณ์ของแหล่งน้ำนั้น หรือไม่ก็ที่นั่นไม่มีปลาล่าเหยื่ออาศัยอยู่เลยสักตัวเดียว

แต่ในทางตรงกันข้ามก็เห็นพวกมันว่ายไล่ตามเหยื่อมาราวน้ำเดือดแต่ไม่ยอมเข้าสไตร๊ค์ หรือเข้าสไตร๊ค์เหยื่อนานๆ ครั้งก็ตามที อย่างน้อยก็แสดงว่าคุณเลือกใช้ชนิดของเหยื่อปลอมถูกต้องแล้วกว่า 90% ที่ผิดไป 10 % ก็คือสีของเหยื่อที่ใช้ ในกรณีเช่นนี้ก็ควรเลือกใช้เหยื่อปลอมชนิดนั้นประเภทนั้นต่อไปแต่เปลี่ยนเพียงสีสันของเหยื่อให้สอดคล้องกับสภาพของแหล่งน้ำนั้นๆ

อย่าเลือกใช้สีของเหยื่อปลอมเพียงเพราะคุณชอบมันที่เห็นว่าสวยดี หรือคิดเอาเองว่ามันดูแปลกตาน่าจะเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดีเมื่อลงไปอยู่ในน้ำ การจดจำและบันทึกสภาพการณ์ตกปลาต่างๆ เอาไว้แล้วนำมาพิจารณาโดยละเอียด จะช่วยให้การคัดเลือกใช้สีสันของเหยื่อปลอมเป็นไปอย่างง่ายขึ้น ให้ใช้สามัญสำนักในการเลือกใช้สีสันให้ถูกต้อง เพื่อจะได้นำคุณไปสู่เส้นทางแห่งความมันของการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมในทุกๆ ทริพ

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ทฤษฎีแสงและเหยื่อปลอม

Advertisements