6 ปลาต่างถิ่นพบในไทย ใหญ่เกิน 1.4 เมตร ที่ถูกเลี้ยงเป็นปลาสวยงามจนถึงวันนี้

ในประเทศไทย มีปลาที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศมากมาย บางชนิดถูกนำเข้ามาเพื่อเลี้ยงสวยๆ บางชนิดเริ่มแรกก็มีเป้าหมายเพื่อเอามากิน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นปลาตู้ และนี้คือปลาต่างถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่ถูกเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

ชนิดที่ 1 – ปลาอะราไพม่า กิกะ – Arapaima gigas

Advertisements

ปลาอะราไพม่า กิกะ (Arapaima) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “ปลาช่อนอเมซอน” จัดเป็น 1 ใน 10 ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์อะราไพม่า (Arapaimidae) โดยปลาในวงศ์นี้จะมีทั้งหมด 6 ชนิด แน่นอนว่าชนิดที่คนไทยรู้จักมากที่สุดก็คือ “อะราไพม่า กิกะ – Arapaima gigas” มันเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ชาวพื้นเมืองจะเรียกมันว่า ปีรารูกู (Pirarucu) … จากนี้ไปผมจะขอเรียกแค่ “อะราไพม่า” เป็นอันเข้าใจว่าเป็นการเรียก ปลาอะราไพม่า กิกะ

โดยปลาอะราไพม่าชนิดนี้ มีลักษณะคล้ายปลาช่อน แต่ตัวใหญ่กว่ามาก มันไม่มีหนวดซึ่งแตกต่างจากอะราไพม่าชนิดอื่นที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน จัดเป็นปลาที่มีอัตราการเติบโตที่เร็วมาก ภายในเวลาเพียง 1-2 ปี สามารถเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นถึง 3-5 เท่าได้ และปลาที่ยาวที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้คือยาว 4.5 เมตร หนักกว่า 400 กิโลกรัม

การมาถึงไทยของปลาชนิดนี้ ตามที่มีการบันทึกไว้ ปลาถูกนำเข้ามาครั้งแรกประมาณปี ค.ศ 1986 และมันก็ได้รับความนิยมอย่างมากในปีต่อมา จนทุกวันยังพบพวกได้มากมายในไทย โดยปลาเกือบทั้งหมดจะอยู่ในบ่อดิน – บ่อปูน หรือไม่ก็ตู้ปลาขนาดใหญ่ เป็นปลาที่คนไทยนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่มันก็เป็นปลาเกมราคาแพง ที่นักตกปลาชาวไทยอยากตกเช่นกัน

และเนื่องจากอะราไพม่า ไม่ใช่ปลาถิ่นในประเทศไทย การปล่อยมันลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างมาก เพราะมันเป็นนักล่าที่อยู่จุดสูงสุดในธรรมชาติ …จึงห้ามปล่อยปลาชนิดนี้ลงแหล่งน้ำธรรมชาติเด็ดขาด

ชนิดที่ 2 – ปลาพิไรบ้า Brachyplatystoma filamentosum

ปลาพิไรบ้า หรือ ปลากดปีศาจ (Piraiba) จัดเป็นปลาอยู่ในวงศ์ปลากดอเมริกาใต้ “Pimelodidae (/พาย-มิ-โล-ดิ-ดี้/)” และปลาพิไรบ้า ก็มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ เพราะมันยาวได้เกือบ 3 เมตร จึงกลายเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่ซะจนปลากดคังบ้านเราเทียบไม่ติดเลยทีเดียว

โดยปลาพิไรบ้า จะมีลักษณะคล้ายปลากดทั่วไป มีลำตัวที่เข้มถึงเทาอ่อน มีจุดดำเล็กๆ ที่ครีบหาง ครีบหางเป็นแฉกลึก เมื่อยังเล็กจะมีจุดหรือจ้ำสีเข้มตามร่างกาย เป็นปลากินเนื้อที่ชอบอาศัยอยู่ตามท้องน้ำ และมีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำสายใหญ่ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำอเมซอน

แม้ว่าปลาพิไรบ้าจะตัวใหญ่จนน่ากลัว แต่โดยปกติพวกมันถือว่าไม่เป็นอันตราย ในไทยมักถูกเลี้ยงในตู้ปลา แต่สุดท้ายก็ต้องย้ายไปอยู่ในบ่อดินหรือบ่อปูนขนาดใหญ่อยู่ดี และยังเป็นปลาที่ถูกเลี้ยงเพื่อใช้ตกเป็นเกมกีฬาอีกด้วย

ในถิ่นกำเนิดของมัน ปลาพิไรบ้า มีข่าวลือและตำนานที่แปลกประหลาดมากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่มันสามารถกลืนคนเข้าไปได้ทั้งตัว แต่ด้วยขนาดของปลาชนิดนี้ก็ถือว่าเป็นข่าวลือที่เป็นไปได้

ชนิดที่ 3 – ปลาอัลลิเกเตอร์ การ์ (Atractosteus spatula)

ปลาอัลลิเกเตอร์ การ์ (Alligator gar) หรือที่คนไทยชอบเรียกว่าปลาจระเข้ เป็นปลาน้ำจืดกินเนื้อขนาดใหญ่ ในวงศ์ปลาการ์ Lepisosteidae (/เล็พ-พิ-โส-สตี-ได-ดี้/) โดยแบ่งเป็น 2 สกุล 7 ชนิด และชนิดที่เรากำลังจะพูดถึงคือปลาอัลลิเกเตอร์ การ์ …จากนี้จะขอเรียกเพียงปลาอัลลิเกเตอร์

ปลาอัลลิเกเตอร์ มีจุดเด่นที่ส่วนปากคล้ายกับจระเข้ รูปร่างกลมยาว ตากลมสีดำ บริเวณลำตัวจรดหางคล้ายปลา เป็นปลาที่มีขนาดเฉลี่ยประมาณ 1.8 เมตร ตัวใหญ่ที่สุดแบบที่ไม่ได้รับการบันทึกที่ถูกต้องคือ 4.2 เมตร แต่ตัวที่มีบันทึกอย่างถูกต้องคือ 3 เมตร ถูกจับได้ในรัฐมิสซิสซิปปี ในปี 1987

จัดเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดต่างๆ เช่น แม่น้ำ หรือทะเลสาบ ของสหรัฐอเมริกาทางตอนใต้ เช่น รัฐฟลอริดา และหลุยส์เซียนา …แต่ถึงแม้ปลาชนิดนี้จะมีถิ่นกำเนิดในอเมริกา แต่ครั้งหนึ่งพวกมันเคยถูกสั่งให้ทำลายล้างครั้งใหญ่

การทำลายล้างเกิดเริ่มขึ้นในปี 1933 เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐพบกว่าปลาพวกนี้มีจำนวนมากจนเกินไป จนกลายเป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ของปลาพื้นเมืองชนิดต่างๆ และด้วยเหตุนี้ปลาอัลลิเกเตอร์นับล้านตัวจึงถูกจับและทำลายทิ้งไป ..ในตอนนี้คงจะเหลือแค่ภาคใต้ของอเมริกา และพวกมันก็ถูกอนุรักษ์เอาไว้ โดยอนุญาติให้จับเพื่อเป็นเกมกีฬาได้

สำหรับในประเทศไทย การมาถึงของปลาอัลลิเกเตอร์ไม่มีประวัติที่แน่ชัดนัก แต่มันก็เป็นปลาที่มักถูกเลี้ยงร่วมกับปลาอะราไพม่า และแม้ปลาชนิดนี้จะดูน่ากลัว แต่พวกมันไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ แต่สำหรับสัตว์น้ำขนาดเล็ก พวกมันคือภัยพิบัติ จึงห้ามปล่อยปลาชนิดนี้ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติเด็ดขาด

ชนิดที่ 4 – ปลากระโห้อินเดีย (Catla catla)

Advertisements

ปลากระโห้อินเดีย หรือ ปลากระโห้เทศ (Calta) จัดเป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาตะเพียน มีรูปร่างคล้ายกับปลากระโห้ที่เป็นพบในประเทศไทยมากที่สุด แต่ปลากระโห้อินเดียจะมีสีลำตัวที่อ่อนกว่าและมีหนวด 1 คู่ เหนือริมฝีปาก เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 1.8 เมตร และหนักประมาณ 40 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กกว่ากระโห้ไทยมาก พบได้ในภูมิภาคเอเชียใต้ตอนบน เช่น รัฐอัสสัมในอินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล, บังกลาเทศ จนถึงพม่า

Advertisements

ในอดีตปลากระโห้ชนิดนี้ ถูกนำเข้ามาในไทยเช่นเดียวกับนวลจันทร์เทศและยี่สกเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นปลาเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต แต่หลังจากที่พยายามอยู่นาน ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปลากระโห้อินเดียเลี้ยงยากกว่า และยังโตช้ากว่าด้วย …สุดท้ายจึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก คงเหลือแต่เลี้ยงเพื่อเป็นปลาแปลกปลาสวยงาม แน่นอนว่าพบพวกมันได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และมักทำให้สับสนว่าเป็นปลากระโห้ไทย

ชนิดที่ 5 – ปลาเรดเทลแคทฟิช (Phractocephalus hemioliopterus)

ปลาเรดเทลแคทฟิช หรือ หรือปลาเรดเทล (Redtail catfish) เป็นปลาที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลากดคังของไทย แม้พวกมันจะต่างกันหลายจุดก็ตาม อาจเพราะมีหางสีแดงส้มเหมือนกัน โดยปลาเรดเทลถือเป็นปลากดที่มีขนาดใหญ่และสวยงามชนิดหนึ่ง พวกมันอยู่ในวงศ์ปลากดอเมริกาใต้ “Pimelodidae (/พาย-มิ-โล-ดิ-ดี้/)” หรือก็คือในวงศ์เดียวกับปลาพิไรบ้า

ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีรูปร่างส่วนหัวแบนกว้างและใหญ่ ปากมีขนาดใหญ่ กินเหยื่อด้วยวิธีกลืนทั้งตัว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดง ส่วนท้องและด้านข้างลำตัวสีขาวหรือสีเหลือง มีหนวดทั้งหมดสี่คู่ ปลายหางและครีบหลังมีสีแดงจัด อันเป็นที่มาของชื่อ เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 1.5 เมตร และเนื่องจากหัวโตมาก น้ำหนัก 1 ใน 4 จะเป็นน้ำหนักของส่วนหัว

ในประเทศไทย ปลาชนิดนี้ยังนิยมนำมากินแทนปลากดคัง เนื่องจากปลาเรดเทลขยายพันธุ์ เลี้ยงง่ายและยังเติบโตได้เร็วกว่า อีกทั้งยังมีรสชาติที่ดี นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม รวมในตู้ของปลานักล่าเขตร้อน และยังมีการผสมข้ามสายกับปลาไทเกอร์โชวเวลโนส (Pseudoplatystoma fasciatum) จนทำให้เกิดลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา

ชนิดที่ 6 – ปลาไทเกอร์โชวเวลโนส (Pseudoplatystoma fasciatum)

ปลาไทเกอร์โชวเวลโนส (Tiger shovelnose) จัดเป็นน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อยู่ในวงศ์ปลากดอเมริกาใต้ “Pimelodidae (/พาย-มิ-โล-ดิ-ดี้/)” มันเป็นปลาที่ยาวได้ถึง 1.3 เมตร มีลำตัวเรียวยาว ส่วนหัวแบน ปากยื่นออกมาคล้ายเสียม มีหนวด 3 คู่ มีพื้นลำตัวสีน้ำตาลเทา ลายสีดำคาดขวางลำตัว คล้ายลายของเสือโคร่งอันเป็นที่มาของชื่อ

Advertisements

ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในลุ่มน้ำอเมซอน และลุ่มแม่น้ำโอริโนโกในทวีปอเมริกาใต้ ในไทยจะนิยมเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลาไทเกอร์” จัดเป็นปลาที่ขี้อายแต่ก็ก้าวร้าวเช่นกัน ชอบกินปลาชนิดอื่นเป็นอาหาร จึงควรเลี้ยงในพื้นที่ขนาดใหญ่ และยังเป็นปลาที่มักเอาไปผสมเทียมกับปลาชนิดอื่น จนได้เป็นปลาสายพันธุ์แปลกๆ ออกมา

เอาล่ะก็ขอจบเพียงแค่ 6 ชนิดนี้นะครับ ความจริงมันยังมีมากกว่านี้ แต่ต้องบอกว่าทั้ง 6 ชนิดนี้ถือว่าตัวใหญ่มาก จึงข้อเน้นอีกครั้งว่า ห้ามนำมันไปปล่อยในธรรมชาตินะครับ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements