เช็คกันให้ดี สัตว์น้ำ 13 ชนิด ‘ห้ามเลี้ยง’ ประกาศล่าสุด

กรมประมงได้ออกประกาศฯ ห้ามเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิด ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงมากเลยทีเดียว หากคุณมีสัตว์เหล่านี้ และไม่ต้องการเลี้ยงต่อ อย่าเอามันไปปล่อย หากสงสารไม่อยากทำลายด้วยตัวเอง ให้นำไปส่งมอบกับกรมประมงใกล้บ้าน ...ต่อไปเป็นรายละเอียดของสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิด

ชนิดที่ 1 – ปลาหมอสีคางดำ – Sarotherodon melanotheron

Advertisements

ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) จัดเป็นปลาหมอสีชนิดหนึ่ง เดิมพวกมันอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน จนถึงทะเลชายฝั่ง และยังเป็นปลาที่ทนต่อความเค็มสูงได้อีกด้วย

ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) / Sarotherodon melanotheron

ปลาหมอสีคางดำถือเป็นปลาตัวแสบที่สุดชนิดหนึ่งในปลาต่างถิ่น เพราะมันประสบความสำเร็จอย่างมากในไทย โดยเฉพาะใน จังหวัดสมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม จะมีพวกมันเยอะเป็นพิเศษ ถ้าลองปลาชนิดนี้ได้ลงไปในบ่อกุ้ง รับประกันได้เลย เมื่อจับกุ้งขาย คุณอาจจะไม่ได้เห็นกุ้งแม้แต่ตัวเดียว …จึงสมควรแล้วที่ห้ามเลี้ยง

ชนิดที่ 2 – ปลาหมอมายัน – Cichlasoma urophthalmus

ปลาหมอมายัน (Mayan Cichlid) จัดเป็นปลาหมอสีอีกเช่นกัน พวกมันเป็นปลาที่ทนทานอย่างเหลือเชื่อ มันสามารถอยู่ในอุณหภูมิ 14 องศาเซลเซียส และยังอยู่ได้อย่างสบายที่ 33 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าร้อนกว่านี้ก็อยู่ได้ แต่อาจไม่สบายตัว

ปลาหมอมายัน (Mayan Cichlid) / Cichlasoma urophthalmus

พวกมันเป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย และยังทนต่อการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพันของความเค็มได้ และแม้พวกมันจะดูทนทาน แต่ประวัติการรุกรานของมันค่อนข้างเงียบเหงาเมื่อเทียบกับปลาหมอสีคางดำ …แต่ถึงอย่างงั้นก็ไม่ควรเอามาเลี้ยง

ชนิดที่ 3 – ปลาหมอบัตเตอร์ – Heterotilapia buttikoferi

ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia) เป็นปลาหมอสีที่มีขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาแถบตะวันตก มันตัวใหญ่กว่า 2 ชนิดด้านบน เป็นปลาหมอที่มีหน้าตาคล้ายปลานิลที่สุด แต่จะมีลวดลายที่สวยกว่า

ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia) / Heterotilapia buttikoferi
Advertisements

ในประเทศไทยปลาหมอบัตเตอร์ จัดเป็นปลาหมอสีที่มีราคาถูก จึงมีคนนำพวกมันไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งที่มีมากมาย ในบางเขื่อนโดยเฉพาะในเขื่อนศรีนครินทร์ คุณจะตกปลาหมอบัตเตอร์ ได้มากกว่าปลานิลซะอีก และมันก็ตัวใหญ่มากด้วย …และหากคุณตกได้ แนะนำให้กิน เพราะมันอร่อยกว่าที่คุณคิด

ชนิดที่ 4 – ปลาเรนโบว์เทราต์ – Oncorhynchus mykiss

Advertisements

ปลาเรนโบว์เทราต์ หรือ ปลาเทราต์สายรุ้ง (Rainbow trout) เป็น 1 ใน 100 สายพันธุ์รุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก และปลาชนิดนี้ก็พบได้แล้วในประเทศไทย โดยมันถูกนำมาทดลองเลี้ยงตั้งแต่ปี 1998 และก็พบในธรรมชาติแล้วเช่นกัน

ปลาเรนโบว์เทราต์ หรือ ปลาเทราต์สายรุ้ง (Rainbow trout) / Oncorhynchus mykiss

แต่ปลาพวกนี้ยังถูกจำกัดอยู่ที่บนดอย เนื่องจากเป็นปลาน้ำเย็น ไม่สามารถลงในในพื้นที่ด้านล่างได้ จึงยังไม่ค่อยเข้าใจว่าห้ามเลี้ยงไปทำไม เพราะยังไงปลาพวกนี้ก็ตาย หากมันลงมาในแหล่งน้ำธรรมชาติด้านล่าง อีกอย่างคงไม่ทันได้โต โดนจับกินจนหมดซะก่อน

ชนิดที่ 5 – ปลาเทราต์สีน้ำตาล – Salmo trutta

ปลาเทราต์สีน้ำตาล (Brown trout) เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในยุโรป โดยปลาเทราต์ชนิดนี้มีอีกชื่อว่า ปลาเทราต์ทะเล เพราะพวกมันมักจะอยู่ในทะเล จะเข้ามาในน้ำจืดก็แค่ช่วงฤดูวางไข่ ส่วนในประเทศไทยแทบจะไม่มีข้อมูลของปลาชนิดนี้ แต่ก็อยู่ในรายชื่อปลาห้ามเลี้ยงเช่นกัน

ปลาเทราต์สีน้ำตาล (Brown trout) / Salmo trutta
Advertisements

ชนิดที่ 6 – ปลากะพงปากกว้าง – Micropterus salmoides

ปลาแบสปากใหญ่ หรือ ปลากะพงปากกว้าง (Largemouth bass) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ และดูเหมือนผมจะเคยเห็นพวกมันในตลาดปลาสวยงาม แล้วยังมีการเลี้ยงในบ่อตกปลาบางแห่งอีกด้วย แต่คิดว่ายังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าไร โดยปลากะพงปากกว้าง ถือเป็นปลานักล่าขนาดใหญ่ มันยาวได้ถึง 1 เมตร

ปลาแบสปากใหญ่ หรือ ปลากะพงปากกว้าง (Largemouth bass) / Micropterus salmoides

โดยปลาชนิดนี้ จัดเป็นหนึ่งในเป็นปลายอดนิยมในเกมกีฬาตกปลา และปลากะพงปากกว้าง ก็เคยสร้างปัญหาให้กับเกาหลีใต้อย่างหนัก เนื่องจากพวกเขาปล่อยปลาชนิดนี้ลงในแหล่งน้ำหลายแห่ง โดยหวังจะแก้ปัญหาขาดแคลนอาหาร แต่ผลคือพวกมันกินปลาท้องถิ่นซะเรียบ

ชนิดที่ 7 – ปลาไทเกอร์โกไลแอต – Hydrocynus goliath

Advertisements

ปลาไทเกอร์โกไลแอต (Goliath tigerfish) เป็นปลาประเภทคาราซิน (Characins) หรือปลาตะเพียนกินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งยาวได้ถึง 1.8 เมตร โดยปลาที่อยู่ในกลุ่มนี้ที่เรารู้จักกันดีคือ ปลาปิรันย่า, ปลาเปคู หรือขนาดเล็กก็เป็นปลานีออน

ปลาไทเกอร์โกไลแอต (Goliath tigerfish) / Hydrocynus goliath

เนื่องจากถิ่นกำเนิดของไทเกอร์โกไลแอต เป็นแม่น้ำที่เชี่ยวกราดในแม่น้ำคองโก มันจึงเป็นปลาที่แข็งแกร่งและว่องไวมาก ที่สำคัญคือมีฟันที่ใหญ่และแหลม โดยรวมแล้วคือน่ากลัว และปลาชนิดนี้ก็ถูกนำมาขายในประเทศไทย ในฐานะปลาสวยงามมานานแล้ว แต่ผมเองไม่เคยได้ยินการพบพวกมันในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ชนิดที่ 8 – ปลาเก๋าหยก – Scortum barcoo

ปลาเก๋าหยก แม้ปลาชนิดนี้จะถูกเรียกว่า “ปลาเก๋า” แต่มันไม่เกี่ยวอะไรกับปลาเก๋าเลย และมันก็หน้าตาไม่เหมือนด้วย เนื้อยิ่งไม่ใช่ ผมว่ามันคล้ายปลาหมอผสมปลาตะเพียนมากกว่า พวกมันเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และชื่อเดิมของมันคือ บาโค กรันซ์เตอร์ (Barcoo grunter) หรือ เจดเพิร์ช (Jade perch) และก็ตามสไตล์ไทย ชื่อเดิมไม่น่ากิน ก็เลยเปลี่ยนชื่อแบบหน้าด้านๆ ให้เป็นปลาเก๋าหยกซะเลย

ปลาเก๋าหยก (Jade perch) / บาโค กรันซ์เตอร์ (Barcoo grunter)  / Scortum barcoo
Advertisements

โดยปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาโดย CP เจ้าเก่า แล้วก็เอามาทำตลาดในชื่อปลาเก๋าหยก ในราคาค่อนข้างแพง แรกๆ แพงกว่าปลาแซลมอนเลยด้วยซ้ำ แต่ช่วงหลังเริ่มเงียบเหงาเพราะปลาก็ไม่ได้ดีตามราคา สุดท้ายตอนนี้ก็ห้ามเลี้ยงแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่า CP ยังเลี้ยงได้อยู่หรือเปล่า

ชนิดที่ 9 – ปูขนจีน – Eriocheir sinensis

ปูขนจีน หรือ ปูเซี่ยงไฮ้ (Chinese mitten crab) เป็นปูที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน อาศัยอยู่ตามทะเลสาบ และเจริญเติบโตได้ดีอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็น ซึ่งต่ำกว่า 10 องศาเชลเชียส เรื่องที่ปูชนิดนี้จะเลี้ยงในประเทศไทยได้คงจะไม่ง่าย

ปูขนจีน หรือ ปูเซี่ยงไฮ้ (Chinese mitten crab) / Eriocheir sinensis

ปูชนิดนี้กับคนไทยรู้จักกันมานานมาก มันเป็นปูที่คนไทยมักจะได้กินในช่วงฤดูหนาว โดยในอดีตถือเป็นอาหารของผู้มีอันจะกิน เพราะต้องเดินทางไปกินที่ต่างประเทศ ใกล้ที่สุดคงเป็นที่ฮ่องกง แต่ตอนนี้สามารถหากินได้ในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ที่โครงการหลวง บนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

ชนิดที่ 10 – หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิด – Hapalochlaena

หมึกสายวงน้ำเงิน (blue-ringed octopus) เป็นหมึกขนาดเล็กที่มีสีสันสดใส และมีจุดวงกลมคล้ายแหวนสีน้ำเงินหรือสีม่วงที่ดูโดดเด่น หมึกชนิดนี้เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก ซึ่งร้ายแรงกว่าพิษงูเห่าถึง 20 เท่า แต่คุณต้องโดนกัดเท่านั้น หากจับเฉยๆ จะไม่เป็นไร แต่ดูเหมือนมันจะไม่ค่อยชอบกัดคนเท่าไร และอีกอย่างไม่ควรเอามันมาย่างกิน

หมึกสายวงน้ำเงิน (blue-ringed octopus) / Hapalochlaena

ชนิดที่ 11 – ปลาทุกชนิดในสกุลซิคคลา – Cichla

ข้อห้ามนี้ค่อนข้างกว้าง เพราะปลาในสกุล “ซิคคลา – Cichla” มีอยู่หลายชนิด แต่ที่ระบาดแล้วในประเทศไทย ก็คือปลาพีค็อกแบส หรือ ปลาหมอออสเซลาริส (Peacock bass – Cichla ocellaris) ซึ่งเป็นปลากินเนื้อที่ยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ส่วนชนิดอื่นที่ผมพอจะนึกออกก็เป็น ปลาหมอโมโนคูลัส (Cichla monoculus) ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับพีค็อกแบส แต่จะตัวเล็กกว่าหน่อย

ปลาพีค็อกแบส หรือ ปลาหมอออสเซลาริส (Peacock bass) / Cichla ocellaris
ปลาหมอโมโนคูลัส (Tucanare peacock bass) / Cichla monoculus

และหลายคนอาจไม่รู้ว่า ปลาที่รุกรานในแหล่งน้ำประเทศไทยในตอนนี้ ที่พวกเราเรียกว่าปลาพีค็อกแบส จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นปลาหมอโมโนคูลัส นะครับ! แต่ยังไงพวกมันก็เรียกว่าพีค็อกแบสได้อยู่ดี

ชนิดที่ 12 – ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด

ห้ามแบบนี้ก็คือกว้างใช่ได้เลย ถ้าหมายถึงปลาที่มีการดัดแปลง ก็จะหมายถึงพวกปลาที่ทำให้เรืองแสงได้ด้วย พวกที่มีเต็มไปหมดในตลาดปลาสวยงามด้วยหรือไม่? …เอาเป็นว่าผมไม่ขอแจ้งชนิดปลา เพราะผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นชนิดไหน แต่สรุปคือห้าม

ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO (ตัวอย่างปลา)

ชนิดที่ 13 – หอยมุกน้ำจืดจีน – Hyriopsis cumingii

หอยมุกน้ำจืดจีน (Triangle shell mussel) เป็นหอยมุกที่ผมไม่แน่ใจชนิดที่แท้จริงของมัน เพราะข้อมูลแถมยังไม่ตรงกันด้วย ประกอบกับความรู้ของผมก็ไม่ถึง ด้วยเหตุนี้จึงแค่จะมาบอกว่า ห้ามเลี้ยงนะ

หอยมุกน้ำจืดจีน (Triangle shell mussel) / Hyriopsis cumingii

สุดท้ายขอสรุปท้ายเรื่องซะหน่อย …สัตว์น้ำห้ามเลี้ยง 13 ชนิดนี้ ไม่ใช่ทั้งหมดที่ถูกห้ามนะครับ จริงๆ ยังมีอีกมากมาย เพียงแต่เป็นชนิดที่เพิ่งประกาศเพิ่มเติม และออกมาเน้นย้ำโดยกรมประมง โดยมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย หากจะเลี้ยงให้ได้ก็ต้องระวังกันให้ดี …ระวังจะเหมือนกับกรณีที่โดนจับปลาปิรันยากันล่ะ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements