เต่าทะเล 5 ชนิด ที่พบได้ในทะเลประเทศไทย

ในโลกนี้มีเต่าทะเลประมาณ 7 ชนิด มี 5 ชนิดที่สามารถพบได้ในประเทศไทย บางชนิดก็ขึ้นมาวางไข่ทุกปี และก็มีบางชนิดที่ไม่พบการวางไข่มานานนับสิบปี เดี๋ยวเรามาดูเรื่องราวของเต่าทะเลทั้ง 5 กัน

เต่าทะเล

1. เต่าตนุ (Green turtle)

Advertisements

เต่าตนุ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Chelonia mydas หรือบางทีก็เรียกว่า เต่าแสงอาทิตย์ พบในเขตร้อนและกึ่งร้อน ตามชายฝั่ง แหล่งหญ้าทะเลและเกาะ ประเทศไทยพบการแพร่กระจายในธรรมชาติ ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน .. เต่าตนุเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนักมากเมื่อโตเต็มที่ โดยมีความยาวตั้งแต่หัวจรดหางประมาณ 1 เมตร น้ำหนักราว 130 กิโลกรัม

เต่าตนุ

เต่าตนุนับเป็นเต่าทะเลที่พบได้บ่อยที่สุดในน่านน้ำไทย โดยมักพบในเขตที่มีอุณหภูมิน้ำที่ค่อนข้างอุ่น คือ สูงกว่า 20 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยขึ้นมาวางไข่มากที่เกาะครามและเกาะกระในอ่าวไทย และทางฝั่งทะเลอันดามันพบวางไข่มากที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา บนชายหาดและเกาะหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ตและพังงา .. แต่แม้จะพบได้บ่อยที่สุด มันก็เป็นเต่าที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

2. เต่ากระ (Hawksbill turtle)

เต่ากระ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Eretmochelys imbricata อาศัยและวางไข่ในเขตร้อน ในบริเวณน้ำตื้นที่เป็นแนวปะการัง แนวหญ้าทะเลและแนวสาหร่าย ประเทศไทยพบเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่งทั้งสองด้าน เต่าชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่ จะมีขนาดความยาวประมาณ 100 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 120 กิโลกรัม

เต่ากระ

จากการศึกษาพบว่า เต่ากระกินทั้งได้พืชและสัตว์ โดยใช้ปากที่งองุ้มนี้กินทั้งสาหร่ายทะเล, หญ้าทะเล รวมทั้งสัตว์น้ำประเภทต่าง ๆ รวมถึงปะการังด้วย วางไข่บนชายหาดครั้งละ 150-250 ฟอง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

3. เต่าหญ้า (Olive Ridley Turtle)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ Lepidochelys olivacea อีกชื่อหนึ่งคือ เต่าสังกะสี ถิ่นอาศัยหลักอยู่ในเขตซีกโลกเหนือ บริเวณที่มีอุณหภูมิของน้ำ 20 องศาเซลเซียส ประเทศไทยพบมากในฝั่งทะเลอันดามัน สำหรับการเกยตื้นพบทั่วไปด้านฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนด้านฝั่งอ่าวไทยพบการเกยตื้นเพียงบางแห่งเท่านั้น มีความยาวเต็มที่ประมาณ 60-70 เซนติเมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30-40 กิโลกรัม

เต่าหญ้า

Advertisements

ในน่านน้ำไทยจะพบได้ในฝั่งทะเลอันดามัน ในอ่าวไทยจะพบได้น้อยกว่า จัดเป็นเต่าทะเลอีกชนิดหนึ่งที่พบได้น้อยมากในน่านน้ำไทย โดยการวางไข่มีรายงานว่าพบที่ฝั่งทะเลอันดามันเท่านั้น โดยจะไม่พบในฝั่งอ่าวไทย และจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

4. เต่าหัวค้อน (Loggerhead Turtle)

Advertisements

เต่าหัวค้อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Caretta caretta อาศัยใกล้ชายฝั่งน้ำตื้นมักอาศัยในเขตที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิมากกว่า 20 องศาเซลเซียส ประเทศไทย พบการเกยตื้นทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นประชากรเต่าทะเลจากแหล่งอื่นของประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาอาศัยหรือหาอาหารในน่านน้ำไทย โตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 85 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม

เต่าหัวค้อน

ในน่านน้ำไทยพบน้อยมาก และไม่พบรายงานว่ามีการขึ้นมาวางไข่เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว แต่ยังพบได้บ้างที่เขตอบอุ่นทางตอนเหนือของออสเตรเลียและทะเลญี่ปุ่น หรืออินโดนีเซีย .. สถานะปัจจุบันของเต่าหัวค้อนในประเทศไทย ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เช่นเดียวกับเต่าทะเลชนิดอื่นๆ

5. เต่ามะเฟือง (Leatherback Turtle)

เต่ามะเฟือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dermochelys coriacea อาศัยในเขตทะเลเปิดที่อุณหภูมิน้ำ 10-20 องศาเซลเซียส ประเทศไทยพบเต่ามะเฟืองได้น้อยมากในปัจจุบัน พบการเกยตื้นเพียงบางแห่งในชายฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน

เต่ามะเฟือง

Advertisements

เนื่องจากเต่าทะเล ส่วนใหญ่จะมีการเดินทางตามกระแสน้ำอุ่น จึงสามารถพบเต่ามะเฟืองได้ตามทวีป หรือ ประเทศที่มีกระแสน้ำอุ่นพัดผ่าน รวมถึงประเทศในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย หมู่เกาะอินดีส ปาปัวนิวกินี และ ในฝั่งทะเลแคริบเบียน .. ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พุทธศักราช 2562

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements