ประวัติ ‘ปลายี่สกเทศ’ ปลาจากอินเดียที่กลายเป็นปลาไทยแบบเนียนๆ

ปลายี่สกเทศ เป็นหนึ่งในปลาที่คนไทยรู้จักกันดี โดยเฉพาะนักตกปลาอย่างผม จริงๆ มันเป็นปลาที่ทำให้ผมต้องเก็บตังค์เพื่อซื้อเบ็ดฝรั่งในสมัยเด็กเลยทีเดียว ปลายี่สกเทศมันอยู่มานานซะจนคิดว่ามันคือปลาถิ่นไทย แต่ปลาตัวนี้ไม่ใช่ปลาไทย ถิ่นกำเนิดของปลายี่สกเทศคือประเทศอินเดีย จุดเด่นของปลาตัวนี่ นอกจากตัวจะใหญ่แล้ว มันยังเข้ากับประเทศไทยได้ดีจนน่ากลัว

ยี่สกเทศ

ยี่สกเทศ ปลาจากประเทศอินเดีย

Advertisements

ปลายี่สกเทศ หรือ ปลาโรหู้ วิทยาศาสตร์ว่า Labeo rohita มีรูปร่างลำตัวยาวทรงกระบอก ส่วนหัวสั้น ปากเล็ก มีหนวดสั้น 2 คู่ ริมฝีปากเป็นชายครุยเล็กน้อย และมีแผ่นขอบแข็งที่ริมฝีปากบนและล่าง มีเกล็ดขนาดเล็กตามแนวเส้นข้างลำตัว ครีบหลังและครีบก้นมีขนาดเล็ก ครีบหางเว้าลึก ลำตัวด้านบนสีคล้ำ ปลาขนาดใหญ่จะมีจุดสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอ่อนแต้มที่เกล็ดแต่ละเกล็ด ท้องมีสีจาง ครีบสีคล้ำมีขอบสีชมพูอ่อนหรือแดง ..เจ้านี่โตได้ถึง 1 เมตร!

ปลายี่สกเทศเป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศอินเดีย เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก โดยนายประสิทธิ์ เกษสัญชัย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 จำนวน 19 ตัว และ ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2512 จำนวน 250 ตัว

มันเป็นปลาที่ถูกนำเข้ามาในช่วงเดียวกับ ปลากระโห้เทศ และปลานวลจันทร์เทศ แต่ทั้งสองไม่ค่อยประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับปลายี่สกเทศ

จนในปี พ.ศ. 2514 กรมประมงได้ทำการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีฉีดฮอร์โมน เพื่อเร่งให้ปลาวางไข่ได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของปลาชนิดนี้ในประเทศไทย

ต่อมาในปี พ.ศ 2515 ยี่สกเทศก็ถูกปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติครั้งแรก โดยปล่อยในแหล่งน้ำ 3 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน จังหวัดมหาสารคราม และอ่างเก็บน้ำห้วยสีทน จังหวัดกาฬสินธุ์

โดยทดลองปล่อยลูกปลาขนาด 2.5 นิ้ว แห่งละ 30,000 ตัว จนในปี พ.ศ. 2516 มีรายงานประชาชนจับปลาชนิดนี้ได้จากอ่างเก็บน้ำห้วยสีทนได้หลายสิบตัว ซึ่งทุกตัวมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป นี่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของปลายี่สกเทศ

ยี่สกเทศ-ยี่สกไทย

คงต้องบอกว่าในสมัยที่ “ยี่สกเทศ” กำลังเจริญรุ่งเรือง เป็นช่วงที่ “ยี่สกไทย” อยู่ในบัญชีตัวแดง หรือก็คือใกล้สูญพันธุ์เต็มที เพราะหากมองจากไทม์ไลน์ ในปี พ.ศ. 2512 การเพาะพันธุ์ของยี่สกไทยโดยกรมประมงยังไม่สำเร็จเลยด้วยซ้ำ โดยระหว่างนั้นเป็นการนับเวลาถอยหลังการสูญพันธุ์ของยี่สกไทย

ทั้งนี้กว่ายี่สกไทยจะประสบผลสำเร็จในการผสมเทียม ก็เป็นปี พ.ศ. 2517 และต้องรอจนถึงปี พ.ศ. 2533 จึงจะถึงจุดที่สามารถขยายพันธุ์ จนกระจายสู่ธรรมชาติได้ หรือก็คือ ผ่านไปแล้วมากกว่า 20 ปี ในขณะที่ยี่สกเทศถูกปล่อยไปตั้งแต่ปี 2515

ยี่สกเทศ

มาถึงตรงนี้ยี่สกเทศเข้ามาแทนที่ปลายี่สกไทย จนกลายเป็นปลาพื้นเมืองของไทยแบบเนียนๆ โดยที่คนไทยอย่างเรา รวมทั้งผมตอนวัยเด็กก็ไม่รู้ เอาจริงๆ ตอนเด็กผมอ่านหนังสือตกปลา เจอภาพปลายี่สกเทศตัวใหญ่มาก ทั้งอ้วนทั้งขาว และก็คิดว่ามันปลาไทยนั้นละ และก็อยากตกมันด้วย

และนอกจากนี้ยี่สกเทศยังมีชื่อเสียงอย่างมากอีกเรื่องคือ การที่มันเป็นหนึ่งในปลาที่นักตกปลาไทยอยากตก มันเป็นปลาที่มีฉายาให้เรียกมากมาย ทั้งไอ้แสบ, ตอร์ปิโดน้ำจืดหรือรถถัง และชื่อฉายาก็เป็นไปตามลักษณะของปลา ทั้งที่มันเร็วซะจนหลายครั้งที่ลากคันเบ็ดตกน้ำไปเลย หรือจะเป็นเรื่องที่ตัวใหญ่พลังเยอะ มันจึงตกสนุกถือเป็นปลาบิ๊กเกมชนิดหนึ่งในไทย

ยี่สกเทศ

Advertisements

ในเรื่องที่มันสร้างความเดือดร้อนให้กับแหล่งน้ำขนาดไหน? ผมเองไม่แน่ใจ เพราะไม่เคยได้ยินใครด่าเรื่องประมาณนี้กับปลาชนิดนี้ ซึ่งแม้แต่ปลานิลก็ยังมีคนด่า แต่ยี่สกเทศดันไม่มี อาจเพราะปลาชนิดนี้ไม่ได้อาศัยแพร่หลายเหมือนปลานิลหรือปลารุกรานอื่น ส่วนใหญ่ยี่สกเทศก็จะเจอตามเขื่อน ไม่ก็บ่อตกปลาไม่ค่อยได้เจอในแม่น้ำลำคลอง คุณจะไม่มีวันบังเอิญสูบน้ำเข้าบ่อแล้วดันมีลูกยี่สกติดเข้ามาด้วย และเนื้อมันก็ดีพอไหว เอาไปวางขายก็มีคนซื้อ สรุปคือมันก็เนียนอยู่สบายไปแล้ว

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements