เรื่องราวของ ‘ปลาตีน’ ที่กลายเป็นตำรับยาถึกทนในจีน กับปลาตีน 3 ชนิดที่พบในไทย

สำหรับคนไทยอย่างเรา ปลาตีนถือเป็นหนึ่งในปลาที่ไม่ค่อยจะมีคนกินกันเท่าไร จึงค่อนข้างแปลกหากจะบอกว่าในบางประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ปลาตีนเป็นที่นิยมและยังมีราคาแพง มันเป็นยาบำรุงกำลังที่ดี จนถูกเรียกว่า “โสมทะเล” หรือ “ไวอากร้าทะเล” เลยทีเดียว ...เอาล่ะเดี๋ยวเรามาดูเรื่องราวของปลาชนิดนี้กัน

ปลาตีน

ปลาตีนคืออะไร?

Advertisements

คงต้องมาทำความรู้จักกับปลาตีนกันก่อน โดยเจ้า “ปลาตีน” (mudskipper) มันคือปลาสะเทินน้ำสะเทินบก ที่ยึดครองหาดเลนและป่าชายเลนเป็นบ้าน มันเป็นสมาชิกในวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae (/โก-บิ-ดี้/) ซึ่งมีมากกว่า 25 สายพันธุ์ และพวกมันก็เป็นปลาสายพันธุ์เดียว ที่มีกิจกรรมบนบกที่หลากหลายกว่าปลาทุกสายพันธุ์บนโลกใบนี้

พวกมันจะทำหลายๆ ไม่ว่าจะขึ้นมาเพื่อพบปะสังสรรค์ การหากิน การเกี้ยวพาราสี ไปจนถึงการต่อสู้ป้องกันอาณาเขต ทั้งหมดนี้พวกมันจะทำกันบนดินโคลน

ปลาตีนมีมากมายหลายชนิด พวกมันทั้งหมดมักจะอาศัยอยู่ตามชายทะเลที่เป็นโคลน และป่าชายเลนในเขตร้อน เป็นปลาที่มีขนาดเพียงไม่กี่เซนติเมตร อย่างเช่นปลาตีนขนาดเล็กเรียกว่าปลาจุมพรวด มีความยาวเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร ไปจนถึงปลากระจังที่ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร

และสำหรับในประเทศไทยปลาตีนจะพบได้ตามป่าชายเลน ริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง เลียบชายฝั่งจนถึงตำบลเสม็ด จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราดเรื่อยลงไปถึงจังหวัดปัตตานี ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันพบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปสุดชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล และในเขตกรุงเทพอย่างบางขุนเทียนก็มีเช่นกัน … ต่อไปเรามาชนิดของปลาตีนกัน

ชนิดที่ 1 – ปลาจุมพรวด (Boleophthalmus boddarti)

ปลาจุมพรวด หรือ ปลาตีนจุดฟ้า (Blue-spotted mudskipper) เป็นปลาตีนที่อาศัยในน้ำกร่อยและทะเล มีรูปร่างเหมือนปลาตีนทั่วไป โดยมีจุดเด่นตรงที่มีลำตัวสีเข้มจนเกือบดำ และมีจุดสีฟ้ากระจายอยู่ทั่วตัว เป็นปลาตีนขนาดเล็ก โดยทั่วไปจะยาวประมาณ 8 เซนติเมตร แต่อาจยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร

ปลาจุมพรวด หรือ ปลาตีนจุดฟ้า

Advertisements

ปลาตีนชนิดนี้เป็นปลาที่หวงอาณาเขตมาก และมักมีการปะทะกันระหว่างตัวผู้ที่อยู่ใกล้เคียง ในระหว่างการเผชิญหน้า ครีบหลังทั้งสองจะยกขึ้นเพื่อข่มขู่ นอกจากนี้ตัวผู้ยังยกครีบหลังและกระโดดขึ้นไปในอากาศเพื่อดึงดูดตัวเมีย ซึ่งมันจะถูกพาไปในโพรงเพื่อผสมพันธุ์ …เป็นปลาตีนที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก

ปลาจุมพรวดพบอยู่ทั่วไปตามชายฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ ตั้งแต่อินเดียทางตะวันตกไปจนถึงอินโดจีน เกาะบอร์เนียวและนิวกินี และยังบางส่วนในคาบสมุทรมาเลเซียที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในสิงคโปร์ก็มีเช่นกัน

ชนิดที่ 2 – ปลากระจัง (Periophthalmodon schlosseri)

ปลากระจัง หรือ ปลาตีนเขี้ยว (Giant mudskipper) เป็นปลาที่อาศัยในน้ำกร่อยและทะเล มีรูปร่างเหมือนปลาตีนทั่วไป มีขนาดประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร จัดเป็นหนึ่งในปลาตีนขนาดใหญ่ที่สุด มีครีบอกที่แข็งแรง มันจะใช้ครีบอกที่แข็งแรงเพื่อกระโดดเป็นช่วงๆ ไปมาบนพื้นเลน และคลานขึ้นต้นไม้ พวกมันมักจะเกาะรากไม้โกงกางอยู่เป็นประจำ

ปลากระจัง หรือ ปลาตีนเขี้ยว

ปลาตีนชนิดนี้จะกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในเขตน้ำขึ้นน้ำลง โดยเฉพาะปูขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามเคยมีการพบว่ามันกินปลาตีนขนาดเล็กอื่นๆ ด้วย

พบในป่าชายเลนที่มีพื้นเป็นเลนหรือโคลน ในอินโดจีน ไทย คาบสมุทรมาเลเซีย สิงคโปร์ และบางส่วนของอินโดนีเซีย เป็นปลาที่มักถูกจับกินเป็นอาหารสำหรับชาวพื้นถิ่น และถูกจับขายเป็นปลาสวยงามด้วย

ชนิดที่ 3 – ปลาตีนจุดทอง (Periophthalmus chrysospilos)

Advertisements

ปลาตีนจุดทอง (Gold-spotted Mudskipper) เป็นเช่นเดียวกับปลาตีนชนิดอื่น มันจะอาศัยอยู่ตามป่าชายเลน มีความยาวประมาณ 13 เซนติเมตร ลำตัวด้านบนเป็นสีเทาอมน้ำตาลอ่อน ลำตัวด้านล่างเป็นสีครีมหรือเทาอ่อน มีจุดสีส้มทองกระจายอยู่ตามด้านข้างแต่ละด้านแบบสุ่ม

ปลาตีนจุดทอง

Advertisements

เป็นปลาตีนที่ขุดโพรงบริเวณขอบทะเลของป่าชายเลน ซึ่งตัวผู้จะล่อลวงตัวเมียด้วยการกระโดด จะพบพวกมันได้ในป่าชายเลนทะเลอันดามัน ทั้งในอินเดีย เมียนมาร์และไทย ในบริเวณอ่าวไทย ชายฝั่งคาบสมุทรมาเลเซีย สิงคโปร์และบางส่วนของอินโดนีเซีย

ปลาตีนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ยังไง.?

ข้อมูลนี่มาจาก “ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน” ได้พูดถึงปลาตีนสัตว์เศรษฐกิจสำคัญที่มาแรงในฝูอัน โดยปลาตีนในช่วงฤดูหนาวของทุกปี จะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการจับ เนื่องจากเป็นช่วงที่ปลาตีนมีเนื้อเยอะ เนื้อแน่นและมีความคาวน้อย

ปลาตีนจะมีชื่อเรียกในภาษาไทยต่างกันออกไปมากมาย แน่นอนว่าชนิดก็ต่างกันด้วย เช่น ปลาจุมพรวด ปลาตีนจุดฟ้า ปลาตีนยักษ์ เป็นต้น พวกมันเป็นปลาขนาดเล็กที่มักพบอาศัยอยู่บริเวณดินโคลนในแถบป่าชายเลน ชื่อเรียกของปลาตีนในภาษาจีน แปลตามตัวว่า “ปลากระโดด” ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของปลาตีนที่ไม่เหมือนปลาชนิดอื่นๆ คือสามารถใช้ครีบข้างลำตัวที่แข็งแรงดีดตัวหรือกระโดดได้

ปลาตีนถือเป็นปลาเศรษฐกิจประเภทรองของฝูอัน เนื่องจากคุณภาพของเนื้อปลามีความละเอียดนุ่มและอร่อย ทั้งยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ไนอาซินวิตามิน B1 และ B2 มันเป็นปลาที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ยาบำรุงชั้นดี” เลยทีเดียว

และต้องบอกว่าปลาตีนที่จีนขายกันแพงใช่ได้เลย เพราะมีราคาอยู่ราวๆ 160 หยวนต่อกิโล หรือ ประมาณ 800 บาท นั้นเอง แพงกว่าปลากะพงขาวบ้านเราซะอีก

ปลาตีนเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้หรือไม่?

แน่นอนว่าได้ เอาจริงๆ ปลาตีนมันน่ามองอยู่เหมือนกัน มันดูกวนดี และก็เป็นหนึ่งในปลาที่คนไทยเอามาเลี้ยงในตู้เหมือนกัน โดยการจัดตู้เลี้ยง ก็คล้ายๆ การเลี้ยงปลาทั่วไป แต่! “ต้องจัดแบบมีบกมากกว่าน้ำ” นั้นเพราะปลาตีน จะใช้ชีวิตส่วนมากอยู่บนบกชื้นๆ มากกว่าในน้ำ

เรื่องน้ำจืดหรือเค็ม? จริงๆ แล้วปลาตีนสามารถเลี้ยงในน้ำจืดได้ หรือจะผสมเกลือ หรือ น้ำทะเลนิดหน่อย พอให้น้ำกร่อยก็จะดีกว่า แต่หากเป็นปลาตีนที่ปรับสภาพแล้ว อย่างพวกที่ซื้อจากร้านขายปลา จะสามารถเลี้ยงในน้ำจืดได้สบายๆ เพราะยังไงซะปกติในธรรมชาติ ปลาตีนมักจะอาศัยอยู่บริเวณที่น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลเป็นหลักอยู่แล้ว

แต่การเลี้ยงทั้งหมดที่กล่าวมา คงต้องเตือนไว้ก่อนว่า ในประเทศไทยไม่ค่อยจะมีคนเลี้ยงปลาตีนเท่าไร เรื่องจะหาร้านที่มีปลาปรับสภาพคงยากด้วยเช่นกัน แต่ในต่างประเทศถือว่านิยมเลี้ยงกัน โดยเฉพาะปลาจุมพรวด หรือ ปลาตีนจุดฟ้า (Blue-spotted mudskipper) ที่บางร้านเรียกมันว่า บลูดราก้อนเลยทีเดียว และราคาก็ไม่เบาด้วย ส่วนจะเลี้ยงที่ไทยก็ศึกษาหน่อยนะ

สำหรับปลาตีนในประเทศไทย จริงๆ มีอยู่หลายชนิด แต่หลายชนิดที่ระบุตัวได้ยากเช่น ปลาตีนดั๊สกี้เกล (Dusky-gilled Mudskipper) ซึ่งพบบริเวณภาคใต้ของไทย มันเป็นปลาตีนที่สีสันและลายที่แปรปรวนซะจนดูเหมือนเป็นคนละชนิดกัน ส่วน 3 ชนิดที่ผมพูดถึงไปหลายคนก็น่าจะเคยเห็นกันมาบ้าง ส่วนเรื่องเอาไปกิน ตัวผมเองไม่เคยกิน และไม่สนับสนุนให้กินกันอย่างแพร่หลาย เพราะยังไงปลาตีนในไทยก็มีไม่มาก ถ้าเกิดดันกินกันเยอะกลัวมันจะหายไปซะเฉยๆ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements