ปลาเทโพ เจ้าหูดำ แห่งลำน้ำไทย (Black Ear Catfish)

ถ้าพูดถึงปลาเทโพ ก็คงคิดถึงปลาที่หน้าตาคล้ายๆ เทพา หรือ สวาย แต่ผมว่าสำหรับเทโพ เราสามารถแยกความแตกต่างของมันระหว่างเทโพ และเทพาได้ เพราะหลักๆ เลยเทโพจะได้ชื่อว่าปลาหูดำ เพราะเทโพตรงใกล้ๆ กับครีบข้างตัวมันจะมีสีออกดำๆ และสำหรับเทโพ สำหรับนักตกปลาผมเห็นตกกันได้บ่อยที่แม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นปลาที่กินเหยื่อปลอมด้วยนะ

ปลาเทโพ

ปลาเทโพ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pangasius larnaudii) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาสวาย (Pangasiidae) มีส่วนหัวและจะงอยปากมน ปากอยู่ค่อนไปทางด้านล่าง รูปร่างป้อมสั้น ปลาขนาดใหญ่มีลำตัวส่วนท้องลึก ปลายครีบหลัง ครีบท้อง ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้นยื่นเป็นเส้นยาวเรียว มีแต้มสีดำเห็นชัดเจนที่ฐานครีบอก ตัวมีสีเทาคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างมีสีเทาจาง ด้านท้องสีจางอมชมพู ครีบสีจาง ครีบก้นมีแถบสีคล้ำตามยาว ครีบหางมีแถบสีคล้ำทั้งตอนบนและตอนล่าง มีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ใหญ่สุดได้ถึง 1.5 เมตร

ปลาเทโพ

Advertisements

เป็นปลาน้ำจืดของไทยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในครอบครัวเดียวกับปลาสวายและปลาบึก ปลาเทโพมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นแตกต่างกันออกไป เช่น คนหนองคายจะเรียกว่า “ปลาหูหมาด”

ส่วนคนทางอีสานใต้ เช่น จ.อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด ฯลฯ เรียกว่า “ปลาปึ่ง” ในประเทศไทยพบว่าปลาเทโพอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายต่าง ๆ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล หรือแม้แต่สาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิงและยังสามารถพบได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ด้วยปลาเทโพจัดเป็นปลาน้ำจืดที่มีรสชาติอร่อย ราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ปลาเทโพที่จับได้จากธรรมชาติเหลือน้อยลง

ปัจจุบันทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุบลราชธานีได้ทำการเพาะพันธุ์ปลา เทโพและมีการส่งเสริมเป็นอาชีพให้กับเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ได้ นำไปเลี้ยงในบ่อดินและเลี้ยงในกระชัง สร้างรายได้ดีให้กับเกษตรกร ทางศูนย์ฯได้แนะนำในการเตรียมพ่อ-แม่พันธุ์ปลาเทโพควรจะมีอายุประมาณ 3 ปี

โดยน้ำหนักพ่อ-แม่พันธุ์ในอายุดังกล่าวจะมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม การเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ควรเลี้ยงในบ่อดินแบบรวมเพศ ควรปล่อยพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ในอัตราส่วน 1 : 2 ในพื้นที่บ่อครึ่งไร่ปล่อยพ่อพันธุ์จำนวน 20 ตัว และแม่พันธุ์จำนวน 40 ตัว แบ่งบ่อโดยใช้ตาข่ายพลาสติกกั้นไว้เป็นสองส่วน ปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ด้านละ 30 ตัว

ปลาเทโพ

ในการคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ใช้วิธีการตรวจสอบความสมบูรณ์เพศของพ่อพันธุ์ ด้วยการใช้มือรีดเบา ๆ บริเวณช่องเพศจะพบน้ำเชื้อไหลออกมา สำหรับแม่พันธุ์ปลาเทโพสังเกตจากท้องที่อูมเป่ง ผนังท้องบางและนิ่ม ช่องเพศขยายตัวมีสีชมพู ดูดไข่มาตรวจสอบความสมบูรณ์ ปลาเทโพสามารถเพาะพันธุ์ได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-สิงหาคม โดยการผสมเทียม แม่พันธุ์จะตกไข่หลังจากการฉีดฮอร์โมนประมาณชั่วโมงที่ 11-12 ที่อุณหภูมิน้ำ 27-29 องศาเซลเซียส ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวในระยะเวลา 21-25 ชั่วโมงหลังจากตกไข่

ลูกปลาเทโพ

รูปแบบการเลี้ยงปลาเทโพของเกษตรกรในเขตพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จะนิยมเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำมูล โดยซื้อลูกปลาเทโพขนาด 1-2 นิ้ว นำมาอนุบาลในกระชังมุ้งเขียวจนมีขนาดตัวประมาณ 5 นิ้ว จึงนำลงเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำมูล ขนาดของกระชังเลี้ยง 5x6x2 เมตร

Advertisements

อาหารที่ใช้เลี้ยงส่วนใหญ่จะใช้ไส้ไก่และหัวไก่นำมาบด (ต้นทุนกิโลกรัมละ 8 บาท) ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง สลับกับการให้อาหารเม็ดปลาดุกและเศษอาหาร ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 1 ปี จะเริ่มนำปลาเทโพทยอยออกจำหน่าย ราคาจำหน่ายปากกระชังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 55 บาท.

สุดท้ายต้องบอกว่าหากหาคำว่า “เทโพ” ในเว็บไซต์ รับประกันได้เลยว่าจะเจอแต่เรื่องของแกงเทโพ นั้นเพราะปลาเทโพ เป็นปลาที่นิยมบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาปรุง “แกงเทโพ” มีการเพาะเลี้ยงในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และปลาชนิดนี้มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น “หูหมาด”, “หูดำ” หรือ “ปึ่ง”

อ่านเรื่อง : ปลาเทพา นักล่าแห่งเจ้าพระยา 

Advertisements