แม่หอบ สัตว์ลึกลับที่ใกล้สูญหาย ไม่ใช่กุ้งไม่ใช่ปูและพบได้ในไทย

แรกเห็น "แม่หอบ" ก็แอบกลัวมันเหมือนกัน เพราะดูคล้ายสัตว์ประหลาด แต่เพราะแม่หอบจัดเป็นสิ่งมีชีวิตโบราณ จึงพอจะเข้าใจได้ว่าทำไมมันจึงมีรูปร่างประหลาด แต่น่าเสียดายที่สัตว์ชนิดนี้มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์ซะแล้ว

แม่หอบ

แม่หอบ หรือ จอมหอบ (Mud lobster, Mangrove lobster ) เป็นสัตว์น้ำประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกครัสเตเชียนชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสกุล Thalassina และวงศ์ Thalassinidae จัดเป็นสิ่งมีชีวิตโบราณหรือซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน โดยถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคไมโอซีนยาวนานถึง 16 ล้านปี

แม่หอบมีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับปูและยังลักษณะของแมงป่องอีกด้วย โดยขาคู่แรกขนาดใหญ่คล้ายก้ามปู นอกจากใช้เดินแล้วยังทำหน้าที่ขุดรูและขนดินออกมากองคล้ายจอมปลวก แต่มีขนาดเล็กกว่า หัวเหมือนกุ้งขนาดใหญ่ ลำตัวสีแดงเข้มเป็นปล้องๆ คล้ายกั้ง ท้องขนาดเล็กยาวเรียวไม่มีแพนหางลักษณะคล้ายแมงป่อง มีขนาดความยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร (7.9–12 นิ้ว)

ถิ่นที่อยู่ของแม่หอบ

Advertisements

แม่หอบจะอาศัยด้วยการขุดรูอยู่ตามพื้นป่าชายเลน โดยขนดินขึ้นมากองทับถมกันเป็นเนินสูง และอาศัยอยู่ด้านใต้กองดินนั้น สามารถอยู่บนบกได้เป็นเวลานานกว่าสัตว์จำพวกครัสตาเซียนชนิดอื่นๆ โดยแม่หอบจะกินอาหารจำพวกอินทรีย์สารที่อยู่ในดินเลนในเวลากลางคืน

ความจริงแม่หอบถือเป็นเกษตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่าชายเลน นั้นเพราะมันมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตในป่าชายเลน เชื่อกันว่ามันกินโคลนและเมื่อกินและขุด มันจะรีไซเคิลสารอาหารจากใต้ดินลึก ช่วยให้สารอาหารอยู่ในระยะที่พืชแบะสัตว์อื่นๆ เข้าถึงได้

นอกจากนี้การขุดของมันยังทำให้โคลนคลายตัวและช่วยให้อากาศและน้ำที่มีออกซิเจน สามารถทะลุผ่านพื้นดินที่ขาดออกซิเจนได้ การขุดทั้งหมดนี้ยังส่งผลให้เกิดเนินรูปทรงภูเขาไฟที่โดดเด่นซึ่งอาจมีขนาดใหญ่จนน่าตกใจ

โดยเนินรูปทรงภูเขาไฟที่แม่หอบสร้างอาจสูงถึง 2 เมตรจากพื้นดิน เนินนี้จะแห้งกว่าสภาพแวดล้อมโดยรอบ จึงเป็นที่อยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบสำหรับสัตว์อื่นๆ สัตว์หลายชนิดก็เข้ามาอาศัยบริเวณเนินนี่เช่นกัน มันเป็นทั้งบ้าน ที่หลบภัยและเป็นคอนโดชองสัตว์หลายชนิด ได้แก่ งู ,ปู , มดแมงมุมหนอนหอยและกุ้ง พืชบางชนิดก็ดูเหมือนจะเติบโตได้ดีกว่าบนเนินดินเหล่านี้

ในประเทศไทยพบเฉพาะบริเวณป่าชายเลนทางภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ในต่างประเทศพบได้ที่รัฐเกรละ ในอินเดีย, ศรีลังกาจรดถึงเวียดนาม, หมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่น จนถึงชายฝั่งทะเลของปาปัวนิวกินีและออสเตรเลียทางตอนเหนือและตะวันตก รวมถึงฟิจิและซามัว พบได้รอบๆ พื้นที่เกษตรกรรม เช่น พื้นที่เพาะเลี้ยงปลาหรือกุ้ง โดยแม่หอบถือว่าเป็นสัตว์คุกคาม

ความเชื่อในไทย

การที่ได้ชื่อในภาษาไทยว่า “แม่หอบ” เนื่องจากมีความเชื่อว่า เนื้อของแม่หอบสามารถรักษาอาการหอบหืดได้ จึงนิยมนำมาเผาไฟรับประทานกันในอดีต และยังสอดคล้องกับชื่อวิทยาศาสตร์ “Thalassina” ที่หมายถึง “การย้อนกลับทางเดินหายใจ” เพื่อให้เหงือกไม่มีสิ่งสกปรก

Advertisements
ในอดีตมีการนำตัวแม่หอบมาเผาไฟและนำเนื้อไปให้คนป่วยโรคหืดหอบรับประทาน เชื่อว่าสามารถทุเลาและหายจากการเป็นโรคหืดหอบ.. ปัจจุบันสถานะของแม่หอบ ถือได้ว่าหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มลพิษ ขยะทะลักเข้าสู่ป่าชายเลน เพราะ เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างบอบบางและตายง่าย

“ในอดีตเคยเชื่อว่า แม่หอบ มีเพียงชนิดเดียว คือ Thalassina anomala แต่ปัจจุบันได้มีการศึกษาเพิ่มเติมในปี ค.ศ. 2009 โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านครัสเตเชียนชาวเวียดนาม เหงียน หง็อก-โฮ และมิเชลล์ เดอ แซงต์ ลอรองต์ ชาวฝรั่งเศส พบว่ามีแปดชนิดและยังพบซากดึกดำบรรพ์ โดยที่พบในไทยคือ Thalassina gracilis และ Thalassina squamifera”

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements