บันทึก เพื่อนซี้จระเข้ 20 ปี จวบจนวันสุดท้าย

แม้จระเข้จะเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างสงบ แต่ลักษณะทางกายภาพของมันก็ยังคงเป็นสัตว์ที่ดุร้ายและยังสามารถฆ่าสัตว์อื่นได้อย่างง่ายดาย แน่นอนว่ามีเพียงไม่กี่คนในโลกที่เต็มใจจะเข้าใกล้มัน และแทบหาไม่ได้เลยที่จะมีคนกล้าลงน้ำไปเล่นกับจระเข้ขนาดใหญ่บ่อยๆ อย่างไรก็ตาม มีชาวประมงคนหนึ่งในคอสตาริกาที่เคยช่วยจระเข้เอาไว้ หลังจากนั้นเขาก็อาศัยอยู่กับมันมานานกว่า 20 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับจระเข้ที่เป็นดังตำนาน และยังถูกเล่าต่อๆ มา แม้จระเข้ตัวนี้จะตายไปแล้วก็ตาม ต่อไปเป็นเรื่องราวความสัมพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับจระเข้

เรื่องราวเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2532 (1989) ชาวประมงหนุ่มชื่อ “ชิโตะ (Chito)” ได้พบกับจระเข้อเมริกา (American crocodile) ที่ได้รับบาดเจ็บนอนอยู่บริเวณริมแม่น้ำ มีรายงานว่าชาวนาในพื้นที่กลัวว่าวัวของเขาจะถูกจระเข้โจมตีจึงยิงมัน ซึ่งดูเหมือนว่าจะโดนยิงที่ตาซ้าย

ชิโตะเห็นจระเข้นอนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำและมันกำลังจะตาย โชคดีที่มันได้รับความช่วยเหลือจากชิโตะและเพื่อนๆ ของเขา เพื่อย้ายจระเข้ขึ้นเรือและนำกลับไปรักษาที่บ้าน

หลังจากนั้นชิโตะตั้งชื่อจระเข้ตัวนี้ว่า “โปโช (Pocho)” และเขาก็ดูแลมันอย่างดี ตอนกลางคืนชิโตะก็ยังนอนกับโปโช .. ชิโตะกล่าวว่าเขารู้ว่า โปโชได้รับบาดเจ็บจากมนุษย์ “ตอนแรกฉันให้อาหารมัน แต่มันไม่ยอมกิน ฉันพยายามสัมผัสและพูดคุยกับมัน โดยหวังว่ามันจะรับรู้ว่าฉันห่วงใยมันจริงๆ และทำให้มันรู้ว่าไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่จะทำร้ายมัน”

หลายเดือนผ่านไป โปโชค่อยๆ ฟื้นตัว ดังนั้นชิโตะจึงพามันไปที่แม่น้ำใกล้ๆ แล้วปล่อยกลับไป เช้าวันรุ่งขึ้นโดยไม่คาดคิดโปโชกลับมาตามกลิ่น และปรากฏตัวที่ระเบียงบ้านของชิโตะ มันทำให้เขาประหลาดใจ “ฉันคิดว่าในตอนนั้น บางทีจระเข้อาจจะเชื่องได้” น่าแปลกที่ทุกครั้งที่ชิโตะเรียกชื่อโปโช ดูเหมือนมันจะเข้าใจมันคือโปโช มันคล้ายสุนัขที่วิ่งมาหาเจ้าของ

ชิโตะทุ่มเทอย่างมากในการดูแลโปโช และมันก็เป็นเหตุให้เขาต้องหย่ากับภรรยาด้วย “เธอไม่เข้าใจฉัน และคิดว่าฉันใช้เวลากับโปโชมากเกินไป ฉันไม่สนใจถึงแม้เมียฉันจะแต่งงานกับผู้ชายคนอื่น แต่โปโชนั้นไม่เหมือนใคร” ต่อมาชิโตะก็แต่งงานใหม่และมีลูกสาวคนหนึ่ง

ตอนแรกชิโตะกังวลว่า ถ้าเจ้าหน้าที่เจอโปโช พวกเขาจะจับมันไป ชิโตะเลยเก็บซ่อนไว้ในสระน้ำในป่าใกล้บ้าน แต่บ่อยครั้งที่เขาลงน้ำไปอยู่กับโปโช จนในที่สุดก็ถูกพบเห็น

เขาถูกรายงานว่าว่ายน้ำกับสัตว์ป่า โชคดีที่รัฐบาลเห็นพ้องต้องกันว่าชิโตะควรเลี้ยงดูโปโช แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นั้นมา เรื่องราวของโปโชและชิโตะก็แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ และนอกเหนือจากรายงานของสื่อท้องถิ่น เรื่องราวดังกล่าวก็ได้รับความนิยมในชิลี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และที่อื่นๆ ด้วย มันทำให้พวกเขามีชื่อเสียงมากขึ้น

นักท่องเที่ยวจำนวนมากมาที่นี่เพื่อดูโปโชและชิโตะ ดังนั้นชิโตะจึงเริ่มมีการแสดงขนาดเล็กกับโปโชทุกวันอาทิตย์ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยว 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเขาใช้เป็นค่าทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม และซื้ออาหารให้กับโปโช “มันเป็นเพื่อนของฉัน ฉันไม่อยากใช้เขาเป็นทาส ฉันปฏิบัติต่อเขาในทางที่ดีและฉันจะไม่เอาเปรียบเขา” ชิโตะกล่าว

Advertisements

ทั้งนี้ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์จากแอฟริกาใต้ ที่ได้ถ่ายทำสารคดีสำหรับชิโตะและโปโช เขาสันนิษฐานว่า พฤติกรรมที่อ่อนโยนของโปโช อาจเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนที่ส่งผลต่อสมองของมัน ซึ่งอาจไปทำลายสัญชาตญาณนักล่าของจระเข้ จนทำให้โปโชเชื่องจริงๆ

แม้ผู้คนจะเป็นกังวลที่เห็นจระเข้ขนาดใหญ่ว่ายน้ำเล่นกับมนุษย์อยู่บ่อยครั้ง แต่ชิโตะยังคงยืนยันว่าเขาวางใจในโปโช พวกเขาอยู่ด้วยกันอย่างสุขสบายตลอดมา จนในที่สุด “โปโชก็ตายจากไปด้วยวัยชรา ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2554 (2011) คาดว่ามีอายุประมาณ 50-60 ปี ..และโปโชก็อยู่กับชิโตะเป็นเวลากว่า 20 ปี

ชิโตะจัดงานใหญ่สำหรับการจากไปของโปโช ที่งานศพของโปโช มีคนในท้องถิ่นจำนวนมากมาร่วมงาน ในเวลานั้นชิโตะร้องไห้อยู่ที่งานศพ นั้นเพราะสำหรับเขาแล้ว โปโชเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ไม่สามารถแทนที่ได้

หลังจากการตายของโปโช ชิโตะยังคงมุ่งมั่นที่จะเล่าเรื่องราวนี้ต่อไป โดยหวังว่า จะให้โลกจำได้ว่า มีจระเข้ที่อ่อนโยนและกตัญญูอยู่จริงๆ สุดท้ายมีรายงานว่าในเวลาต่อมา ชิโตะได้นำจระเข้อเมริกันมาเลี้ยงและเลี้ยงแบบเดียวกับที่เขาเลี้ยงโปโช และเขาตั้งชื่อมันว่า Pocho Jr. แต่เขาเชื่อว่าในใจของเขาโปโชไม่สามารถแทนที่ได้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements