ความหวังการเพาะเลี้ยง ‘กุ้งมังกร’ จะช่วยแก้ปัญหาการทำประมงมากเกินไป

ภายในห้องปฏิบัติการ ผู้ช่วยประจำห้องทดลองที่สวมถุงมือยาง และกำลังหย่อนสวิงลงในถังน้ำซึ่งกินพื้นที่ถึงครึ่งห้อง ในนั้นมีกุ้งล็อบสเตอร์อยู่ เมื่อสวิงเข้าใกล้ กุ้งจะพุ่งไปอีกด้านหนึ่งของถังแล้วกลับมาอีกครั้ง มันหลบเลี่ยงการดักจับอยู่ครู่หนึ่งจนกระทั่งในที่สุดก็ถูกจับและยกออกมา

เลี้ยงกุ้งมังกร

Jean-José Filippi วิศวกรของห้องทดลอง Stella Mare กล่าวว่า “มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความยืดหยุ่นสูง กุ้งเหล่านี้มีความแข็งแกร่งมาก แต่พวกมันยังต้องการความช่วยเหลือจากเราเพื่อความอยู่รอด”

Stella Mare เป็นสถาบันวิจัยทางทะเลที่ไม่เหมือนใคร อาคารรูปทรงหอยทากบนคาบสมุทรที่ยื่นออกมาทางใต้จากเมืองบาสเตียในคอร์ซิกา ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 โดยมหาวิทยาลัยคอร์ซิกาและศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส (CNRS) พร้อมแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหาการจับสัตว์น้ำมากเกินไป

ตามรายงานสภาวะการประมงโลกของสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว ประชากรอาหารทะเลที่จับได้ในระดับที่ไม่ยั่งยืนได้เพิ่มถึง 3 เท่า จาก 10% ในปี 1974 เป็น 34% ในปี 2017

ความพยายามที่จะลดการประมงที่เกินขนาดนั้น ส่วนใหญ่เน้นไปที่การควบคุมและการรักษากฏหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยมีความสำเร็จที่จำกัด Stella Mare มีแนวทางที่แตกต่าง คือการเพาะพันธุ์สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยม

ทางสถาบันได้เพาะพันธุ์ดอกไม้ทะเล ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะในหลายประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน มาเป็นเวลาสามปี และได้จำหน่ายดอกไม้ทะเลหลายพันชนิดในเขตประมงรอบคอร์ซิกา ในบรรดาสปีชีส์อื่นๆ ยังมีการเพาะพันธุ์สายพันธุ์ยอดนิยม อย่างเช่น หอยนางรมยุโรป เม่นทะเล ปูแมงมุม และ กุ้งมังกร

แม้จะมีช่วงเวลาบังคับใช้ของการห้ามทำการประมงรวมถึงการจำกัดขนาดที่จับได้ และการห้ามไม่ให้จับตัวเมียที่มีไข่โดยเด็ดขาด แต่จำนวนกุ้งก็ยังคงลดลงที่นี่

“ขั้นตอนต่อไปคือการห้ามอย่างสมบูรณ์” Filippi กล่าว “แต่ไม่มีใครต้องการแบบนั้นแน่ เราจะฆ่าอุตสาหกรรมการประมงและสร้างความขัดแย้งครั้งใหญ่ ดังนั้นเราจึงต้องการเพาะพันธุ์และนำพวกมันกลับคืนสู่มหาสมุทรและดูว่าพวกมันจะเพิ่มขึ้นหรือไม่”

ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำมีอัตราการประมงที่มากเกินไป ซึ่งมากถึง 62.5% (ตามรายงานของสหประชาชาติ) และการจับกุ้งมังกรในคอร์ซิกาลดลงจาก 300 ตันต่อปี ในปี 1950 เป็น 61 ตันโดยเฉลี่ยในช่วงสองปีที่ผ่านมา มองว่าเป็นหลักฐานของจำนวนประชากรกุ้งที่ลดลงอย่างมาก

แต่ถึงแม้จะจัดอยู่ในประเภทเปราะบาง แต่การจับ Palinurus elephas หรือ กุ้งมังกรสีแดงก็ยังคงดำเนินต่อไป กุ้งมังกรคิดเป็น 70% ของรายได้จากการประมงในคอร์ซิกา มีมูลค่ามากถึง 4 ล้านยูโร (152 ล้านบาท) ต่อปี และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านักอนุรักษ์ได้ทำให้ผู้คนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการจับกุ้งได้รับผลกระทบโดยไม่ได้มีส่วนร่วมกับพวกเขา

ทางสถาบัน Stella Mare มีความพยายามที่มุ่งเน้นการประมงที่ไม่เพียงเพื่อฟื้นฟูสายพันธุ์ แต่ยังเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการประมงในท้องถิ่น การขยายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการสามารถช่วยทำให้การฟื้นฟูสายพันธุ์ “ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และคงทนมากขึ้น” Filippi ผู้นำโครงการขยายพันธุ์ ในขณะเดียวกันก็ยังทำให้เกิดการประมงที่ยั่งยืนได้ทั่วโลก

จนถึงตอนนี้ สถาบัน Stella Mareได้รับการสนับสนุนอย่างมั่นคงจากชาวประมงท้องถิ่น Gérard Romiti ประธานคณะกรรมการประมงคอร์ซิกา (CRPMEM) กล่าวว่า “มันเป็นโครงการที่ยอดเยี่ยมที่ทำให้เราภูมิใจมาก ความช่วยเหลือของนักวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยคอร์ซิกาทำให้พวกเรามีวิสัยทัศน์ใหม่สำหรับอนาคต”

Advertisements

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สถาบัน Stella Mare ได้ประกาศถึงความก้าวหน้า พวกเขาได้เลี้ยงกุ้งมังกรตัวเล็กหกตัวที่มีอายุ 83 วันหลังจากฟักไข่ ทางสถาบันระบุว่าอัตราการรอดชีวิตมากถึง 50% มันเป็น “ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ” มันประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันกับปูแมงมุมยุโรป (Maja squinado) ทางสถาบันได้ขยายพันธุ์ลูกปูมากกว่า 1,200 ตัวในปีนี้ โดยมีอัตตรารอดมากกว่า 70%

แต่กุ้งมังกรคือรางวัลชิ้นใหญ่ จากผลงานที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1980 โดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ทีมงานของ Stella Mare กำลังทดลองสร้างสภาวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเพาะพันธุ์กุ้งมังกร ซึ่งรวมถึงปัจจัยต่างๆ เช่น รูปแบบและประเภทของถัง จำนวนกุ้งในแต่ละถัง ปริมาณแสงแดด และ ค่าความเป็นกรดของน้ำ

แต่มันจะไม่ง่ายนัก นักวิจัยก่อนหน้านี้ ได้ละทิ้งความพยายามในการเพาะพันธุ์กุ้งมังกร เนื่องจากตัวอ่อนนั้นเปราะบาง และกุ้งมังกรก็มีความต้องการด้านอาหารที่ซับซ้อน

ความท้าทายหลักคือการเลี้ยงกุ้งมังกรด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพ และให้มันมีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ราคาถูกพอที่จะนำไปใช้ในปริมาณมาก “ปัจจุบันทุกคนใช้เหมือนกัน นั่นคือ อาหารมาตรฐานที่ทำจากกุ้งและแพลงก์ตอน” Filippi กล่าว “แต่พวกนี้ไม่มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับกุ้งมังกร”

คนอื่นเตือนว่าสายพันธุ์ที่เพาะพันธุ์นอกสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของพวกมัน อาจจำกัดความหลากหลายทางพันธุกรรมในมหาสมุทรเมื่อพวกมันกลับคืนสู่สภาพเดิมในที่สุด

Marcelo Vasconcellos เจ้าหน้าที่การประมงขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า “ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญและยินดีเป็นอย่างยิ่ง” “แต่อาจมีผลกระทบทางพันธุกรรมของการใช้กุ้งที่เพาะในห้องปฏิบัติการ หรือที่เพาะในห้องปฏิบัติการและปล่อยสู่ธรรมชาติ คุณต้องระวังให้มากเพื่อไม่ให้เกิดผลการผสมพันธุ์” ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาให้สายพันธุ์ในอนาคตได้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มาtheguardian