ความลึกลับของ ‘ปลาฉลามน้ำจืดแท้’ ที่อาจเคยหากินอยู่ในแหล่งน้ำของไทย

ฉลามชนิดนี้ไม่เพียงแต่มันจะเป็นฉลามน้ำจืดแท้เพียงไม่กี่ชนิดที่มนุษย์อย่างเรารู้จักในตอนนี้ มันยังเป็นฉลามที่ยากจะเข้าใจที่สุดอีกด้วย และต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า ข้อมูลต่อไปนี้ รวมทั้งภาพประกอบอาจไม่ตรงกับฉลามที่ผมกำลังพูดถึง เนื่องจากข้อมูลที่น้อยและอาจไม่ค่อยตรงกันในแหล่งข้อมูลที่ต่างกัน แต่ก็เชื่อว่าจะทำให้รู้ว่าโลกของเรามีฉลามแบบนี้อยู่จริงๆ และที่ท้ายเรื่องผมจะเสริมเรื่องของปลาฉนากอีก 2 ชนิด ที่เคยอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำและในแม่น้ำของไทย

ปลาฉลามน้ำจืดคืออะไร?

Advertisements

หลายคนอาจคิดว่าฉลามน้ำจืดน่าจะเป็น ฉลามหัวบาตร (Carcharhinus leucas) เพราะเคยได้ยินบ่อยๆ ว่าฉลามชนิดนี้ชอบเข้ามาหากินในแม่น้ำ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะฉลามหัวบาตรสามารถเข้ามาลึกในแม่น้ำ จนถึงขั้นเคยมาทะเลาะกับฮิปโปเลยด้วยซ้ำ แต่จริงๆ แล้วยังมีสกุลของปลาฉลามน้ำจืดแท้อยู่ด้วย

สำหรับฉลามน้ำจืด หรือ ฉลามแม่น้ำ (River sharks, Freshwater sharks) เป็นหนึ่งในฉลามหายากที่สุดในโลก มีชื่อสกุลว่า Glyphis (กลายฟิส) มันอยู่ในวงศ์ของฉลามครีบดำ โดยฉลามน้ำจืดถือเป็นฉลามเพียงสกุลเดียวเท่านั้นที่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดสนิทได้ตลอดทั้งชีวิต

ซึ่งในตอนนี้เรายังไม่มีองค์ความรู้เพียงพอเกี่ยวกับปลาฉลามในสกุลนี้ จึงอาจมีชนิดอื่นที่ยังไม่ถูกค้นพบ หรือมีความเป็นไปได้ว่า บางชนิดที่เราเข้าใจว่าเป็นชนิดอื่น ก็อาจเป็นชนิดเดียวกันด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามปลาฉลามในสกุลนี้ มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับฉลามสีน้ำเงิน ส่วนลักษณะโดยรวมของฉลามน้ำจืดคือ จมูกสั้นแบน มีรูจมูกเล็ก ตาเล็กมีสีเข้ม ฟันบนแบนและเป็นร่องหยักคล้ายฟันเลื่อย ช่องปากสั้นมาก ครีบหลังแบนและอยู่ใกล้ครีบอก มีขนาดประมาณ 100 – 300 เซนติเมตร

โดยปกติฉลามน้ำจืดพวกนี้ จะอาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่และตามแนวชายฝั่ง กระจายพันธุ์อยู่แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ปาปัวนิวกินีและออสเตรเลีย พวกมันอยู่อย่างน้อย 4 ชนิด ในประเทศไทยพบเพียง 1 ชนิด ซึ่งก็คือ ปลาฉลามแม่น้ำอิรวดี

ปลาฉลามแม่น้ำอิรวดี (Glyphis siamensis)

สำหรับฉลามแม่น้ำอิรวดี (Irrawaddy river shark) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glyphis siamensis (กลายฟิส สยามเอ็นสิส) ตามที่อ้างอิงจากหนังสือปลาน้ำจืดไทย ของ ดร.นนท์ ผาณิตวงศ์ ได้เขียนเอาไว้ว่า

ฉลามแม่น้ำชนิดนี้มีความยาวประมาณ 300 เซนติเมตร มีลำตัวเพรียวยาวกว่าฉลามหัวบาตร หน้าแหลมยาว ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบหลังแรกเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบหลังที่สองมีขนาดเล็กลงกว่าครีบหน้าประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลน บริเวณปากแม่น้ำ

ฉลามแม่น้ำอิรวดี (Irrawaddy river shark) / Glyphis siamensis

ฉลามชนิดถูกอธิบายจากตัวอย่างต้นแบบที่พบในแม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่า ซึ่งมีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร แต่ไม่มีบันทึกใดๆ ว่าทำไมจึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับฉลามชนิดนี้ โดยมีคำว่า สยามเอ็นสิส (siamensis) ซึ่งหมายความว่าพบในประเทศไทย

ปัจจุบันนอกจากตัวอย่างต้นแบบแล้ว ยังไม่มีรายงานการพบปลาชนิดนี้อีกเลย อย่างไรก็ดีเมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานการพบปลาฉลามชนิดนี้อีกตัวที่แพปลาในจังหวัดระนอง แต่ไม่สามารถยืนยันแหล่งที่จับปลาฉลามตัวนี้ได้ ว่าอยู่ในเขตน่านน้ำไทยหรือไม่ ด้วยความลึกลับของปลาฉลามชนิดนี้ จึงทำให้มันเป็นหนึ่งในปลาหายากที่สุดในโลก และยังถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต

แล้วปลาฉนาก 2 ชนิด เป็นเช่นไร?

สำหรับประเทศไทย เคยมีปลาฉนากขนาดใหญ่มากอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกก็คือ ปลาฉนากจะงอยปากแคบ ที่ยาวได้ถึง 450 เซนติเมตร และอีกชนิดคือ ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง ที่ยาวได้ถึง 600 เซนติเมตร …ต่อไปจะเป็นข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ของปลาหายากสุดๆ ทั้ง 2 ชนิดนี้

ปลาฉนากจะงอยปากแคบ (Anoxypristis cuspidata)

Advertisements

แต่เดิมปลาฉนากจะงอยปากแคบ (Anoxypristis cuspidata) จัดอยู่ในสกุล Pristis (ปริติส) แต่เพราะมันมีจะงอยปากที่แคบและมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างมากพอที่จะแยกออกมาเป็นอีกสกุล Anoxypristis (อันออกซีพริสตีส) และปลาในสกุลนี้ก็เหลือเพียงปลาฉนากจะงอยปากแคบ เพียงชนิดเดียวเท่านั้น แถมมันยังอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย

สำหรับปลาฉนากชนิดนี้ มีความยาวประมาณ 450 เซนติเมตร มีรูปร่างเหมือนปลาฉนากทั่วไป แต่มีรูปร่างเพรียวกว่า ส่วนหัวแคบกว่า มีจะงอยปากที่ยาวแคบ ขอบขนานไม่ลดขนาดลงจนถึงบริเวณส่วนปลาย มีซี่ฟัน 18 – 25 คู่ ตามบันทึกในหนังสือ Fresh-water fishes of Siam, or Thailand ว่าเคยมีคนจับปลาชนิดนี้ได้ในแม่น้ำท่าจีน โดยมีลำตัวยาว 800 เซนติเมตร มีจะงอยปากยาว 250 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหลือเชื่อ

ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง (Pristis pristis)

สำหรับปลาฉนากจะงอยปากกว้าง (Pristis pristis) ซึ่งอยู่ในกลุล Pristis (ปริติส) เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 600 เซนติเมตร จัดเป็นปลาฉนากขนาดใหญ่มาก มีจะงอยปากแผ่กว้างที่ฐานและจะค่อยๆ แคบลงจนถึงส่วนปลาย มีซี่ฟัน 14 – 22 คู่ ซึ่งฟันอาจยาวได้ถึง 4 เซนติเมตร

ในประเทศไทยเคยพบบริเวณชายฝั่ง และอาจเข้ามาอาศัยในแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ เคยมีรายงานการพบในหลายจังหวัด เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ หรือแม้แต่ในกรุงเทพ แต่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว และจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต

เอาละก็จบแล้วนะครับ สำหรับเรื่องความลึกลับของ ‘ปลาฉลามน้ำจืดแท้’ ก็อย่างที่เห็นว่าข้อมูลน้อยสุดๆ และพวกมันทั้งหมดก็ถือว่าใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งปลาฉนากที่คนรุ่นผมหรือรุ่นน้องก็เกือบจะไม่มีโอกาสได้รู้เลยด้วยซ้ำว่าเคยมีปลาตัวใหญ่ขนาดนี้ว่ายอยู่ในแม่น้ำจนถึงกรุงเทพเลยด้วยซ้ำ สุดท้ายก็หวังว่าข้อมูลส่วนนี้จะมีประโยชน์กับทุกคนนะครับ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements