สำเร็จ! กรมประมงเพาะพันธุ์ ‘ปลากระทิงไฟ’ พร้อมปล่อยสู่ธรรมชาติ

กรมประมงขยายพันธุ์ “ปลากระทิงไฟ” สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์สำเร็จ สนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพันธุ์ปลากระทิงไฟเพื่อทรงปล่อยเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2565

ปลากระทิงไฟ

ปลากระทิงไฟ เป็นปลาน้ำจืดพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง พบได้ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคกลางและภาคใต้ และได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงปลาสวยงามทั่วโลก แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ปลากระทิงไฟมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ทำให้ปริมาณปลากระทิงไฟในธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

ปลากระทิงไฟ

กรมประมงจึงได้สั่งการให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสุพรรณบุรี เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อขยายพันธุ์ปลากระทิงไฟ ภายใต้โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำประจำถิ่นหายากหรือใกล้สูญพันธุ์




ปลากระทิงไฟ (Fire spiny eel) ชื่อวิทยาศาสตร์ Mastacembelus erythrotaenia มีลักษณะรูปร่างคล้ายงูหรือปลาไหล ลำตัวเรียวยาว แบน มีความยาวประมาณ 15 – 90 เซนติเมตร ส่วนหัวยาวแหลม ตามีขนาดเล็ก มีจะงอยปากล่างยื่นยาวกว่าจะงอยปากบน

ลำตัวของปลากระทิงไฟเป็นสีน้ำตาลเข้ม จนเกือบดำและมีเส้นหรือจุดสีแดงเรียงตลอดความยาวลำตัว ครีบมีสีแดงสดเชื่อมติดกันเป็นครีบเดียว ขอบครีบเป็นกระดูกแหลมแข็งใช้สำหรับป้องกันตัวจากศัตรู ครีบหลังส่วนหน้ามีลักษณะเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อยขนาดเล็ก ปลายหางโค้งมน




ปลากระทิงไฟเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าวหวงถิ่น อาศัยอยู่ตามไม้น้ำ ซอกหินหรือซากปรักหักพังใต้น้ำ มักอยู่รวมกันเป็นฝูงและออกหากินในเวลากลางคืน อาหารส่วนใหญ่เป็นปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก

เมื่อปี 2561 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสุพรรณบุรี ได้รวบรวมพันธุ์ปลากระทิงไฟจากแหล่งน้ำธรรมชาติบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม และราชบุรี นำมาเลี้ยงขุนเป็นพ่อแม่พันธุ์ จากนั้นก็ทำการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์เพศพร้อมที่จะผสมพันธุ์วางไข่มาเพาะพันธุ์ด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนกระตุ้น จนสามารถผสมได้สำเร็จ

Advertisements




โดยที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัย มีการขับเคลื่อนการดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ปลากระทิงไฟอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2563 ก็สามารถผลิตลูกปลาที่มีความแข็งแรง และมีอัตรารอดสูงได้ประมาณ 1,500 ตัว และในปี 2564 จำนวน 3,000 ตัว

Advertisements




นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังได้มีการนำลูกปลากระทิงไฟขนาด 5 – 7 เซนติเมตรที่ได้จากการเพาะพันธุ์ชุดแรก จำนวน 1,000 ตัว ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่เขื่อนกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นครั้งแรก ร่วมกับคนในชุมชนบริเวณรอบเขื่อน เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ คืนความหลากหลายและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ ตลอดจน สร้างการรับรู้ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 2 เมษายน 2565 กรมประมงมีการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพันธุ์ปลากระทิงไฟ ขนาด 5 เซนติเมตร จำนวน 900 ตัว และปลาไทย 9 ชนิด จำนวน 590,000 ตัว เพื่อปล่อยเป็นพระราชกุศล




พร้อมด้วยหนังสือ “กระทิงไฟ…ฟื้นฟูปลาไทย น้อมสืบสานพระราชเสาวนีย์ พระพันปีหลวง” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเห็นถึงประโยชน์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืดของไทย ให้เป็นแหล่งโปรตีนอาหารชั้นดี สร้างรายได้ สร้างอาชีพ นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์แห่งทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำของไทย

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มากลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง