กินผิดอาจตายได้ ‘ปูพิษร้ายที่สุดในโลก’ อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด

ปูที่ดูน่ากินตัวนี้ มีเปลือกสีชมพูและม่วงที่ดูสดใส มันปกคลุมไปด้วยขนสีทอง ความจริงด้วยสีสดๆ ของมัน ก็ดูเหมือนกำลังจะบอกให้เรารู้ว่ามันไม่ใช่ปูธรรมดา และก่อนจะเอามันไปต้มกินก็ควรคิดให้ดีซะก่อน เพราะปูที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ มีหน้าตาคล้ายกับปูที่เรากินเช่นกัน เพียงแต่ปูที่ว่านี้มีพิษร้ายแรงมาก แต่ดูเหมือนจะโชคดีสำหรับคนชอบกินปูอยู่บ้าง เพราะปูชนิดนี้หาค่อนข้างยาก ...เดี๋ยวมาฟังเรื่องราวของมันกัน

ปูมีพิษมีชนิดเดียวหรือไม่? คำตอบถือไม่! ความจริงมีปูหลายชนิดที่มีพิษถึงตาย เพียงแต่เมื่อเทียบกับจำนวนปูที่พวกเรากินกัน มันเป็นประชากรส่วนน้อยนิดเท่านั้น และสำหรับปูที่มีพิษส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของ “ปูใบ้” ซึ่งเป็นปูที่อาศัยอยู่ทะเล

Lophozozymus incisus

ตัวอย่างหนึ่งของปูมีพิษถึงตายคือ Lophozozymus incisus เป็นชนิดใบ้ชนิดหนึ่งที่หายากและสวยงาม พบได้ในทะเลน้ำอุ่นทั่วโลก รวมทั้งนอกชายฝั่งของออสเตรเลีย และมีโอกาสพบในไทยเช่นกัน

โดยปูชนิดนี้อยู่ในวงศ์ แซนธิด (Xanthid) หรือวงศ์ปูใบ้ มันเป็นตัวอย่างที่ดีของกฎง่ายๆ ในเรื่องคำเตือนของธรรมชาติที่ว่า “ถ้าสัตว์มีสีสดใสและไม่ใช่นก ก็ควรปล่อยมันไว้ตามลำพัง เพราะสีได้บอกถึงอันตรายของมันไว้แล้ว” แต่ความจริงมีนกบางชนิดก็มีพิษเช่นกัน เพียงแต่สีมันไม่ค่อยสวย

นอกจาก Lophozozymus incisus ยังมี Lophozozymus pictor หรือที่คนไทยเรียกว่า ปูใบ้ลาย หรือ Mosaic reef crab ซึ่งเป็นปูที่ได้ชื่อว่า “ปูพิษร้ายแรงที่สุดในโลก” มีขนาด 8 – 10 เซนติเมตร มีรูปร่างค่อนข้างคล้ายพัด และมักจะเป็นสีแดงถึงสีส้ม มีจุดสีขาวขนาดใหญ่คล้ายกระเบื้องโมเสคที่โดดเด่น ก้ามปูสั้นและทั้งสองข้างก็มีขนาดเท่ากัน มีปลายสีดำที่ก้าม ที่ขาเดินมีขนปลายแหลม

Lophozozymus pictor ปูมีพิษถึงตาย และยังอันตรายมาก เพราะมันมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปูที่กินได้ จุดสังเกตคือลายบนหลัง ก้ามเท่ากันและปลายมีสีดำ

โดยปกติปูพวกนี้จะมีสารพิษในกลุ่มนิวโรทอกซิน (Neurotoxin) ซึ่งเป็นพิษที่มีผลต่อระบบประสาทหรือเนื้อเยื่อเส้นประสาท เช่น แซกซิทอกซิน (saxitoxin) และยังเป็นสารพิษที่ไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน นั้นหมายความว่า แม้คุณจะต้มปูด้วยความร้อนสูง ก็ไม่สามารถกำจัดพิษไปได้

นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์เวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้อธิบายความรุนแรงของพิษเอาไว้ว่า “เพียงครึ่งมิลลิกรัมของสารพิษที่ปูมีอยู่ ก็สามารถฆ่ามนุษย์ขนาดกลางได้หลายคน และความจริงสารพิษแซกซิทอกซินถูกใช้โดย CIA เพื่อนำมาทำยาเม็ดคล้ายไซยาไนด์” แต่ยังมีข่าวดีที่ว่า ไม่มีทางที่เราจะได้สัมผัสกับสารพิษเหล่านี้ ถ้าไม่พยายามกินปูเหล่านี้ การกัดหรือการแทงจากปู พิษจะไม่ทำงาน

ทั้งนี้ยังมีปูอีกหลายชนิดที่มีพิษเช่น ปูใบ้แดง (Artergatis intergerrimus), ปูตาเกียง (Eriphia smithi) และ ปูใบ้ตาแดง (Eriphia sebana) เป็นต้น แน่นอนว่ามีปูใบ้อีกหลายชนิดที่ไม่มีพิษ ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นอันตรายได้หากินผิด

สำหรับเรื่องปูมีพิษถึงตาย อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกัน เนื่องจากพวกมันมีไม่มาก แต่พวกมันส่วนใหญ่มีพิษร้ายแรงมาก เช่นเดียวกับปลาปักเป้า พิษของปูไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน หากไปทะเลหรือเดินตลาดแล้วไปเจอปูสีสวยๆ และไม่แน่ใจในชนิดของมัน ก็ควรตรวจสอบให้ดีก่อนกิน

สุดท้ายหากถามว่าปูพวกนี้มีโอกาสเจอในน่านน้ำไทยหรือไม่? คำตอบคือมี เพราะปูใบ้ลาย สามารถพบได้ในประเทศจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ออสเตรเลีย และ ไทย และเป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลเกี่ยวกับปูมีพิษนั้นน้อยมากๆ จึงยากที่จะระบุชนิดทั้งหมดหรือลงรายละเอียดได้ …วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ถ้าเจอปูที่หน้าตาแปลกๆ ก็ไม่ควรกิน

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มาaustraliangeographic