กลัวกันเกินไป? หลังมีชาวบ้านปักเบ็ดริมแม่น้ำตรังแล้วได้ฉลามหัวบาตร

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายกล้อย ได้ไปปักเบ็ดไว้ในแม่น้ำตรัง บริเวณบ้านหนองบัว ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง โดยใช้ลูกปลาดุกเป็นเหยื่อล่อ ทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนที่รุ่งเช้าจะไปดูเบ็ดที่ปักไว้ และพบว่าเป็นปลาตัวใหญ่ ตอนแรกคิดว่าเป็นปลาสวาย แต่เมื่อจับขึ้นมาได้กลับพบว่าเป็นปลาฉลามที่ยังมีชีวิตอยู่ ชั่งน้ำหนักได้ 3.9 กิโลกรัม ความยาวประมาณ 70 เซนติเมตร สร้างความฮือฮาให้กับชาวบ้านที่พบเห็นเป็นอย่างมาก เนื่องจากในแม่น้ำตรังยังไม่เคยมีใครตกได้ปลาฉลามแม้แต่คนเดียว

จากกระแสข่าวการพบปลาฉลามในแม่น้ำตรัง ทำให้สองฝั่งแม่น้ำตรังเกิดความตื่นกลัวเป็นอย่างมากว่าจะยังมีฉลามอาศัยอยู่อีกหรือไม่ หรือมีตัวแม่เข้ามาด้วยหรือไม่ ชาวบ้านจึงงดลงเล่นน้ำในแม่น้ำตรังตลอดสายเป็นการชั่วคราว ขณะที่นายกล้อยยังเชื่อว่าจะยังมีฉลามอยู่ในพื้นที่

ฉลาม ด้านบนเป็นเนื้อหาข่าวย่อๆ จริงๆ แล้วการเจอฉลามหัวบาตรเป็นเรื่องปกติหรือไม่ เราดูกัน

ฉลามหัวบาตร ปกติมากที่จะว่ายในน้ำจืด และต้องกลัวมันหรือเปล่า?

Advertisements

ฉลามหัวบาตรเป็นหนึ่งในฉลามที่พบเจอได้มากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก เป็นฉลามที่มีจุดเด่นที่แปลกกว่าฉลามชนิดอื่นหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะที่มันสามารถอาศัยในน้ำจืดได้ หากจำเป็นมันสามารถอยู่ในน้ำจืด 100% โดยไม่ต้องกลับไปน้ำเค็มเลย แถมยังออกลูกได้ด้วย

โดยในปี 1937 ชาวประมงสองคนจับฉลามหัวบาตรได้ใกล้เมือง Alton รัฐ Illinois ซึ่งห่างจากปากแม่น้ำที่เมือง New Orleans ถึง 2,800 กิโล และเคยมีรายงานพบและจับพวกมันได้ในแม่น้ำอเมซอน โดยตัวที่ไปไกลสุดพบที่ Iquitos เปรู ซึ่งห่างจากมหาสมุทรถึง 3,500 กิโล

การได้เจอ “ฉลามหัวบาตร” ในน้ำจืดจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในสมัยก่อนแม้แต่ในแม่น้ำเจ้าพระยายังเคยเจอ แต่ที่ไม่ค่อยได้เจอกันแล้วอาจเพราะน้ำมีมลพิษกับจำนวนที่น้อยลงมาก

ความจริงคือฉลามหัวบาตรมีแรงกัดมากกว่าฉลามขาว (หากตัวเท่ากัน) มันจัดเป็นหนึ่งในปลาที่มีแรงกัดมากสุด จากผลวิจัยในปี 2012 แรงกัดของมันมีมากถึง 5,914 นิวตัน ซึ่งมากกว่าฉลามชนิดอื่นถึง 12 ชนิด มากกว่าฉลามขาวยักษ์และฉลามหัวค้อน

“ปัจจุบันมีการจัดอันดับให้ปลาฉลามหัวบาตรเป็นปลาฉลามที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุด เนื่องด้วยการที่พบกระจายอยู่ทั่วโลกและสามารถเข้ามาอาศัยได้ในน้ำจืดได้”

สุดท้ายถามว่าต้องกลัวหรือเปล่า? ถ้าตัวแค่ไม่กี่โล ไม่น่ากลัวหลอก ถึงฉลามหัวบาตรจะดุร้ายที่สุดก็ตาม แต่ยังไงก็เป็นเรื่องยากที่มันจะทำร้ายมนุษย์ แถมเรื่องที่จะเจอในแม่น้ำประเทศไทยยิ่งยากใหญ่ ..คงยากพอๆ กับเจอจระเข้ไทยแท้ๆ ว่ายในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นล่ะ

“ปลาฉลามหัวบาตร (Bull shark) ชื่อวิทยาศาสตร์ Carcharhinus leucas มีรูปร่างอ้วนป้อม หัวกลมป้านมีขนาดใหญ่ ข้อที่สองครีบหลังเป็นกระโดงรูปสามเหลี่ยมมุมป้าน มีนิสัยดุร้าย กินปลาและสัตว์ต่างๆ ในน้ำเป็นอาหาร รวมทั้งอาจทำร้ายมนุษย์ได้ด้วย พบอาศัยในทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง ขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 3.5 เมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 316.5 กิโลกรัม”

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements