9 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ‘ปลาอัลลิเกเตอร์การ์’ ยักษ์ใหญ่ที่ยาวได้ถึง 3 เมตร

Alligator Garfish อ่านว่า อัลลิเกเตอร์การ์ฟิช หรืออีกชื่อที่คนไทยเรียกันคุ้นปากว่า “ปลาปากจระเข้” อันที่จริงแล้วปลาในตระกูลการ์ฟิชนั้นทุกชนิดจะมีปากที่ยื่นยาว บางชนิดยื่นมากบางชนิดยื่นน้อย พวกมันเป็นปลาที่ดูน่ากลัว แต่ความจริงมันค่อนข้างใจดี และนี่เป็น 9 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพวกมัน

อัลลิเกเตอร์การ์ฟิช

1. มันคือหนึ่งในปลาขนาดใหญ่ที่สุด

Advertisements

ปลาอัลลิเกเตอร์ ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยมีบันทึกไว้คือ 2.9 เมตร แต่จากภาพประกอบด้านล่าง ไม่ทราบว่าใครคือชายในภาพและช่วงเวลารวมถึงสถานที่ แต่หากประเมินด้วยสายตา ก็น่ายาวเกือบ 3 เมตร

2. มันคือสัตว์โบราณ

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตสมัยยุคไดโนเสาร์ ฟอสซิลดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับอัลลิเกเตอร์ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีมาตั้งแต่ในอดีตราวหนึ่งร้อยล้านปีก่อน และวิวัฒนาการมาตามช่วงเวลาจนมาเป็นอัลลิเกเตอร์หน้าตาแบบปัจจุบันตามที่เราเห็น

3. มันเป็นนักล่าที่แข็งแกร่ง

ปลาชนิดนี้เป็นผู้ล่าที่อยู่ในลำดับสูงจนแทบจะสูงที่สุดอยู่แล้ว ถ้าไม่นับมนุษย์ที่สามารถล่ามันได้ อาจจะเหลือแค่จระเข้ตัวจริงที่สามารถทำร้ายหรือกินปลาชนิดนี้ได้ ส่วนปลาอื่นนั้น คมเขี้ยวคงไม่สามารถทะลุผ่านเกล็ดที่หนาและสากแน่นของมันได้แน่นอน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอัลลิเกเตอร์แข็งแกร่งมาแต่กำเนิด ช่วงเวลาที่มันเป็นเด็กตัวเล็กน่ารักก็สามารถโดนเขมือบโดยปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าได้เช่นกัน

4. รูปร่างเท่ และเลี้ยงง่าย

Advertisements

ด้วยความที่หน้าตาและรูปทรงมันเหมือนจระเข้มากกว่าปลา ก็นับว่าเป็นปลารูปร่างแปลกๆ ที่น่าสนใจ ปลาชนิดนี้ก็เลยได้รับการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแทบทุกที่ และเพราะปลาชนิดนี้เป็นปลาอดทนโตไวเลี้ยงง่าย อาศัยอยู่ได้ในน้ำจืด น้ำกร่อย หรือแม้แต่น้ำคุณภาพต่ำเฉียดเน่า มันก็อยู่ได้เพราะว่ามันมีอวัยวะที่ช่วยให้หายใจได้จากอากาศโดยตรง

นอกจากปากที่ยาวแล้ว ลำตัวมีลักษณะเป็นท่อนทรงกระบอกกลม มีดวงตากลมสีดำ ลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลอ่อน บางพื้นที่ที่พบก็มีสีเขียว สีเทา แตกต่างกันไป มีจุดสีดำกระจายอยู่ตามลำตัวด้านบน ช่วงลำตัวด้านล่างเป็นสีขาวไล่มาจนถึงท้อง เกล็ดมีขนาดใหญ่และหนาเรียงตัวแน่นเป็นระเบียบ หางเป็นทรงพัดมีความหนาและแข็งแรง

5. เคยถูกนำมาทำอาวุธ

ในสมัยโบราณชาวพื้นเมือง (น่าจะเป็นชาวอินเดียนแดง) ได้นำเอาเกล็ดปลามาตากแห้ง มาแปลงสภาพเป็นหัวลูกศรเพื่อใช้ในการล่าสัตว์ เนื่องจากเกล็ดปลาชนิดนี้เมื่อแห้งแล้วจะมีลักษณะแหลมคม สามารถทะลุผ่านสิ่งที่พุ่งสัมผัสได้ดี

นอกเหนือจากการเป็นเกราะหรือโล่ป้องกันชั้นดีของอัลลิเกเตอร์จากการล่าของสิ่งมีชีวิตอื่นแล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่งก็สร้างความลำบากให้กับการเคลื่อนไหวของปลาชนิดนี้เช่นกัน ด้วยความที่เกล็ดมันเรียงตัวกันอย่างหนาแน่นปลาก็จะเอี้ยวตัวได้นิดเดียว เหมือนทหารใส่ชุดเกราะเหล็กหนาๆเทอะทะ ก็จะเคลื่อนตัวได้ยากกว่าทหารที่ใส่เพียงเกราะเบา

Advertisements

และนั่นก็เป็นสาเหตุว่าทำไมอัลลิเกเตอร์ไม่ว่ายไล่งับปลาอื่นเป็นอาหาร แต่มันต้องลอยตัวอยู่ผิวน้ำนิ่งๆ จนสิ่งมีชีวิตอื่นนึกว่ามันเป็นท่อนไม้ลอยน้ำ และพอเข้าระยะทำการอัลลิเกเตอร์การ์ก็จะตวัดปากงับทางด้านข้างเอาไว้ให้แน่น เมื่อเหยื่อสิ้นใจตายไปแล้วมันจึงสะบัดปากเหวี่ยงเหยื่อเพื่อกลืนลงท้องต่อไป

6. เป็นปลาที่กินได้เกือบทุกอย่างจริงๆ

ก่อนที่อัลลิเกเตอร์จะกระจัดกระจายไปทั่วทุกประเทศในเขตเส้นศูนย์สูตร เดิมทีมันอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก มันอาศัยอยู่ได้ในทุกแหล่งน้ำตั้งแต่ ห้วย หนอง คลองบึง ไปจนถึงแม่น้ำขนาดใหญ่ ไล่ไปจนถึงปากอ่าวที่กำลังจะออกทะเล และถึงปลาตัวนี้จะอาศัยได้ในน้ำเค็มแต่ก็ไม่เคยมีรายงานการพบปลาชนิดนี้ในทะเล

อาหารในธรรมชาติของอัลลิเกเตอร์คือ สิ่งมีชีวิตทุกประเภทที่เล็กกว่าปากของมัน ตอนมันยังเด็กก็กินลูกกุ้งลูกปลาแมลงน้ำ พอมันโตขึ้นหน่อยก็เริ่มกินปู กินปลาที่ตัวใหญ่ขึ้นได้ เมื่อมันโตขึ้นอีกก็จะเริ่มล่าเป็ดล่านกเป็นอาหาร เมื่อกำลังงับมันทรงพลังมากพอเต่าที่มีกระดองก็ยังเป็นอาหารของมันได้ด้วย นี่ยังไม่รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ลงมาเล่นน้ำในระยะทำการ

เรื่องแปลกของมันก็คือ มีรายงานการทำร้ายมนุษย์น้อยมากๆ ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุอย่างชัดเจนว่าไม่ทำร้ายมนุษย์ถ้าไม่ไปแหย่หรือแกล้งมันก่อน แต่แบบเห็นหน้าตามันพร้อมกับฟันอีกห้าร้อยซี่ในปากที่เล็กละเอียดแหลมคม จะให้ไปว่ายน้ำเล่นข้างมันก็คงใช่เรื่องอะนะ

7. เนื้อปลาอัลลิเกเตอร์

Advertisements

ว่ากันว่า เนื้อปลาอัลลิเกเตอร์นั้นเป็นสีขาว มีความหนาแน่นแต่นุ่ม มีรสชาดหวานอ่อนๆ สามารถนำไปย่างกินได้อร่อยดี แต่ขั้นตอนการแล่เนื้อถลกหนังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยความที่เกล็ดปลาทั้งหนาและแน่น กว่าจะจัดการจนออกมาเป็นชิ้นเนื้อปลาก็กินเวลาน่าดู ข้อควรทราบสำหรับผู้ที่สนใจชิมเนื้อปลาชนิดนี้ก็คือ “ไข่มันมีพิษ” เอามากินไม่ได้นะครับ

8. เป็นปลาที่เคยถูกตั้งค่าหัว

ในช่วงปี ค.ศ. 1930 ปลาชนิดนี้ระบาดหนักมากในหลายรัฐของประเทศอเมริกา ว่ากันว่ามันเป็นต้นเหตุของวิกฤตการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำท้องถิ่นหลายชนิด ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะมันกินไม่เลือกเลย กินเยอะ และไม่มีศัตรูทางธรรมชาติคอยควบคุมประชากรของมัน

Advertisements

ในที่สุดคณะกรรมการตกปลาจากรัฐเทคซัสก็ออกนโยบายสนับสนุนการล่าปลาชนิดนี้เพื่อลดจำนวนมันลงให้เร็วที่สุด เป็นเวลาเกือบสามสิบปีปัญหานี้จึงลดระดับความรุนแรงลง ปัจจุบันเราจะพบอัลลิเกเตอร์จำกัดอยู่แค่ทางตอนใต้ของอเมริกา และก็มีจำนวนน้อยลงกว่าในอดีตหลายเท่าตัว

9. อัลลิเกเตอร์ในไทย

สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยนั้น เมื่อเทียบพื้นที่ระบาดดังกล่าวในอเมริกา ก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่เลย ทุกวันนี้ข่าวเรื่องการเจออัลลิเกเตอร์ ในแหล่งน้ำธรรมชาติบ้านเราก็โผล่มาเป็นระยะอยู่แล้ว เอาจริงๆ แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ก็มาจากปลาที่น้องในฟาร์มหิ้วมาจากบ้านนี่แหละ เค้าบอกว่าจับได้แถวบ้านตัวประมาณหนึ่งเมตร

ตอนเห็นก็งง ไม่ได้มีลูกค้าคนไหนสั่งนี่หว่าทำไมมีปลาตัวนี้ว่ายเล่นอยู่ในฟาร์มฟระ หลังจากสอบถามจนได้ความก็ผงะไป ก็เออ แบบจะปล่อยให้มันอยู่ในแหล่งธรรมชาติต่อก็คงไม่ได้ปะ​ เดี๋ยวมันกินมั่วซั่วไปหมด ไม่รู้มันจะหิวโซจนงับเด็กเล่นน้ำแถวนั้นไปกินมั๊ย

ดูจากสภาพปลาแล้วคิดว่าคงเป็นปลาที่เคยถูกเลี้ยงในตู้มาก่อนเพราะปลามันผอมเชียว คงยังล่าเองไม่เป็นก็เลยไม่ค่อยได้กิน นั่นแปลว่าอะไร คือเลี้ยงไม่ไหวตัวโตแล้วเอามาปล่อยลงคลองงี้เหรอ ?

หลังจากอ่านบทความนี้แล้วผู้อ่านก็จะทราบว่า ปลาชนิดนี้กินไม่เลือก โตได้ใหญ่มาก ผิวหนาและไม่มีผู้ล่ามันในธรรมชาติ อยู่ได้ในน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ถ้าสนใจจะเลี้ยงแล้วไม่ได้มีบ่อใหญ่ขนาดอควอเรี่ยมก็อย่าเลี้ยงมันเลยครับ วันหนึ่งมันโตขึ้นมาจนคับตู้นอกจากมันกินเปลืองค่าอาหารแล้ว ตู้เล็กไปไม่มีที่เลี้ยงแล้วจะทำยังไง จะเอามาปล่อยคลองเหมือนเจ้าตัวที่น้องเค้าเจอยังนี้เหรอ อย่าเลยครับ.. ช่วยกันรักษาระบบนิเวศดีกว่า

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
แหล่งที่มาThai Fish Shop