สัตว์ป่า 7 ชนิด หายากหรืออาจสูญพันธุ์ และเคยพบได้ในบึงบอระเพ็ด

ยิ่งได้รู้จัก "บึงบอระเพ็ด" ก็ยิ่งทำให้คิดว่า แหล่งน้ำแห่งนี้มหัศจรรย์และสำคัญมากจริงๆ นอกจากจะเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในไทย บึงแหล่งนี้ยังเต็มไปด้วย นก ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แมลง รวมถึงพืชพันธุ์หายาก ซึ่งหลายชนิดก็พบได้แค่ที่บึงบอระเพ็ดเท่านั้น แต่น่าเสียดายที่บึงแห่งนี้เสื่อมโทรมลงไปมาก สัตว์หลายชนิดที่เคยพบได้มากมายในบึงก็สูญพันธุ์ไป เช่น ปลาเสือตอลายใหญ่ แม้แต่ปลาฉนาก ปลากระเบนราหูน้ำจืดก็เคยพบในบึง ก็ไม่มีอีกแล้ว ส่วนนกพงปากยาวที่หายไปเกือบ 140 ปี ก็มาพบอีกครั้งที่บึงบอระเพ็ด ...ในเรื่องนี้ผมจะมาแนะนำให้รู้จักกับบึงบอระเพ็ด และสัตว์ป่าหายากหรืออาจหาไม่ได้แล้ว ที่พบในแหล่งน้ำที่มหัศจรรย์แห่งนี้

บึงบอระเพ็ด

บึงบอระเพ็ด คืออะไร?

Advertisements

บึงบอระเพ็ดคือแหล่งน้ำจืดธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 132,000 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ในจังหวัดนครสวรรค์ บึงแห่งนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงมากๆ

ในอดีตบึงบอระเพ็ดเป็นที่ราบลุ่มที่แวดล้อมไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณอันอุดมสมบูรณ์ มีลำคลองน้อยใหญ่ไหลผ่าน อีกทั้งยังประกอบไปด้วยหนองน้ำหลายแห่ง เมื่อถึงฤดูฝนจะมีน้ำจากทางเหนือไหลหลากเข้ามา จนทำให้บึงแห่งนี้มีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง จนกลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ จระเข้ กุ้งก้ามกรามและตะพาบน้ำ นกประจำถิ่น นกอพยพก็มักจะเข้ามาอยู่ในบึง …ความจริงบึงแห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่องนกเป็นอย่างมาก

แผนที่บึงบอระเพ็ด

และสิ่งที่มีมากเป็นพิเศษในสมัยก่อน จนกลายเป็นของขึ้นชื่อเลยก็คือ “จระเข้น้ำจืด” ว่ากันว่าชุกชุมมาก จนผู้คนที่นั่งรถไฟผ่านบึงบอระเพ็ดสามารถมองเห็นจระเข้ที่ลอยอยู่ในบึง และก็มีขึ้นมานอนผึ่งแดดตามชายบึงหรือบนเกาะ …แต่มาถึงตอนนี้พวกมันเกือบสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

ตามบันทึกบึงบอระเพ็ดถูกดัดแปลงครั้งแรกในช่วงปี 1926 -1928 ด้วยสร้างทำนบกั้นน้ำและประตูระบายน้ำ โดยหวังให้กักเก็บน้ำได้ตลอดปี จากนั้นในปี 1928 ก็ประกาศให้เป็นเขตรักษาพืชพันธุ์ปลาน้ำจืด ก่อนที่จะแก้ไขในปี 1930 โดยประกาศเป็นเขตหวงห้าม ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ พื้นที่มากกว่าบึงบอระเพ็ดในตอนนี้เกือบ 2 เท่า

ต่อมาในปี 1937 ก็มีการถอนเขตหวงห้ามให้คงเหลือเท่ากับพื้นที่ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ ประมาณ 132,000 ไร่ จนในปี 1947 ก็ประกาศแบ่งเขตรักษาพืชพันธุ์ออกเป็น 2 เขต คือ เขตหวงห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงโดยเด็ดขาด และ เขตหวงห้ามที่อนุญาตให้ประชาชนทำการประมง โดยใช้เครื่องมือบางชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้ และกฎนี้ก็ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ..ต่อไปเป็นรายชื่อของสัตว์ป่าหายากที่พบในบึงบอระเพ็ด

ชนิดที่ 1 – ปลาเสือตอลายใหญ่ไทย – Datnioides pulcher

ปลาเสือตอลายใหญ่ไทย (Siamese tiger fish) เป็นปลาที่พบได้มากในบึงบอระเพ็ด และในตอนนี้ก็ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว ที่เราเห็นกันในตอนนี้คือ ปลาเสือตอลายใหญ่เขมร ซึ่งตอนนี้ก็แพงหลักแสนบาท อีกชนิดคือปลาเสือตอลายใหญ่อินโด ซึ่งจะถูกลงมาอีกหน่อย แต่ก็แพงอยู่ดี

Advertisements

เมื่อราวๆ 50 กว่าปีก่อน ปลาเสือตอลายใหญ่ไทย ถือเป็นปลาที่หาได้ง่าย มันเป็นปลาที่ถูกจับมาทอดกินในราคาทั่วไป ลองนึกภาพตอนที่คุณสั่งปลาแรดทอดในร้านอาหารมากินนั้นละ ปลาเสือตอก็ไม่ต่างกัน และมันยังถูกขายไปต่างประเทศอีกด้วย ในสมัยนั้นเสือตอลายใหญ่ลายเล็กจะไม่แยกกัน ตกตัวละ 40 – 50 บาทเท่านั้น

วันเวลาผ่านไปปลาชนิดนี้ก็หายากขึ้นเรื่อยๆ ราคาดีขึ้น ถูกจับมากขึ้น ประกอบกับความเสื่อมโทรมของบึง สุดท้ายปลาเสือตอลายใหญ่ไทยก็สูญพันธุ์ไปตลอดกาล …สำหรับเรื่องปลาเสือตอ หากต้องการดูแบบเต็มๆ ให้กดดูได้ที่ท้ายเรื่องนะครับ

ชนิดที่ 2 – จระเข้น้ำจืด – Crocodylus siamensis

ในประเทศไทยมีสัตว์จำพวกจระเข้หายากมากๆ อยู่ 3 ชนิด คือ ตะโขง จระเข้น้ำจืด และจระเข้นำเค็ม ทั้ง 3 ชนิดนี้ ถือว่าหายากมากในธรรมชาติ จนถือเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะจระเข้น้ำจืด หรือ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ในไทยอาจไม่เหลือไม่ถึง 30 ตัว ในธรรมชาติ และในตอนนี้ ที่ๆ พบจระเข้น้ำจืดได้ง่ายที่สุดก็คือที่บึงบอระเพ็ด ที่เหลือจะต้องเข้าไปในป่าลึกจึงจะเจอ หรือไม่ก็ไปดูในสวนสัตว์

จระเข้น้ำจืด เป็นจระเข้ขนาดปานกลางค่อนมาทางใหญ่ ยาวได้ประมาณ 3 – 4 เมตร ปัจจุบันจระเข้สายพันธุ์ไทยแท้ๆ ถือว่าหายาก แม้จะในฟาร์มก็ตาม นั้นเพราะถูกผสมข้ามสายพันธุ์กับจระเข้สายพันธุ์อื่นจนเสียสายพันธุ์แท้ไป เนื่องจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ

และแม้จะเป็นสายพันธุ์แท้ ก็ยากที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากเป็นเรื่องยากมากที่จะหาที่อยู่ที่ปลอดภัยให้กับพวกมัน และเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่

ชนิดที่ 3 – นกพงปากยาว – Acrocephalus orinus

Advertisements

นกพงปากยาว (Large-Billed Reed-Warbler) เป็นนกที่ได้ชื่อว่า “นกที่มนุษย์รู้จักน้อยที่สุดในโลก” นั้นเพราะเป็นที่รู้จักจากตัวอย่างเพียงตัวเดียว ซึ่งพบในประเทศอินเดีย ในปี 1867 หลังจากนั้นก็ไม่พบอีกเลยจนคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

Advertisements

จนในช่วงปี 2006 ก็พบนกชนิดนี้ในประเทศไทยที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี และที่เชียงแสน จังหวัดเชียงราย มันเป็นการพบอีกครั้งหลังผ่านมาเกือบ 140 ปี และด้วยเหตุนี้ “นกพงปากยาว” จึงถูกจัดให้เป็นสัตว์ในกลุ่มลาซารัส (Lazarus taxon) ซึ่งปลาซีลาแคนท์ก็อยู่ในกลุ่มนี้

หลังจากนั้นก็มีบันทึกการพบอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดคือที่บึงบอระเพ็ด ครั้งแรกในปี 2008 เป็นนกพงปากยาว 1 ตัว ที่ติดตาข่ายเพื่อการวิจัย จนถึงปี 2013 ก็พบอีกหนึ่งตัว และปี 2017 ก็พบอีกตัว หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบอีก แต่ก็เชื่อว่ามันจะปะปนอยู่กับนกชนิดอื่นในบึง

ชนิดที่ 4 – ปลากระเบนราหูน้ำจืด – Himantura polylepis

ปลากระเบนราหูน้ำจืด เป็นปลากระเบนน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หากนับปลากระเบนในทะเล ก็จะใหญ่เป็นอันดับสองรองจากปลากระเบนแมนตา ในตอนนี้ถือเป็นปลากระเบนที่หายากมากๆ และพบตัวใหญ่ได้ที่ แม่น้ำแม่กลอง บริเวณ 20 กิโลเมตรก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย …ในตอนนี้จัดเป็นสัตว์ที่เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

สำหรับในบึงบอระเพ็ด ปลากระเบนราหู ได้สูญพันธุ์ไปก่อนที่จะมีการบันทึกดีๆ ซะอีก อาจไปก่อนปลาเสือตอลายใหญ่ด้วยซ้ำ ถ้าจะมีอยู่ก็คงใน อาคารแสดงพันธ์สัตว์น้ำบึงบอระเพ็ด ลองไปดูกันได้

ชนิดที่ 5 – ปลาฉนากจะงอยปากกว้าง – Pristis pristis

ในประเทศไทยมีบันทึกเกี่ยวกับปลาฉนากอยู่ 2 ชนิด นั้นคือ ปลาฉนากจะงอยปากแคบ ซึ่งจะอาศัยอยู่ในทะเลและปากแม่น้ำ ส่วนอีกชนิดก็คือปลาฉนากจะงอยปากกว้าง ซึ่งจะอาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่และตามปากแม่น้ำ

ในอดีตปลาชนิดนี้เคยมีค่อนข้างมาก ในคลองฉนาก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เคยมีรายงานพบในแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยังเข้าไปอาศัยอยู่ในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ แต่น่าเสียดายที่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะไปค้นหาที่ไหนก็ไม่เจอปลาฉนากในประเทศไทยอีกแล้ว และในระดับโลกก็ถือเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต

ชนิดที่ 6 – ปลาหวีเกศ – Platytropius siamensis

Advertisements

ปลาหวีเกศเป็นปลาน้ำจืดขนาดค่อนข้างเล็ก มีรูปร่างคล้ายกับปลาวงศ์ปลาสวาย มันคล้ายปลาสังกะวาดผสมปลาเนื้ออ่อน เป็นปลาที่ได้รับการอธิบายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และปลาชนิดนี้ก็เหลือเพียงแค่ชื่อ

ความจริงแล้วปลาหวีเกศ ถูกบันทึกว่าพบได้เฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่มีก็บางแหล่งข้อมูลว่าเคยพบที่บึงบอระเพ็ด ซึ่งก็เป็นไปได้มาก เนื่องจากตัวอย่างเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ คือปลาหวีเกศที่จับได้ ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปี 1943

Advertisements

ทั้งนี้ปลาหวีเกศมีอีกชื่อว่า “ปลาสายยู” แต่สิ่งที่คุณต้องรู้คือ ในไทยมีปลา 3 ชนิดที่ใช้ชื่อว่า “ปลาสายยู” ชนิดแรกคือ “ปลาสายยู” ที่อยู่ในวงศ์ปลาหวีเกศ ซึ่งเป็นชนิดที่ผมพูดถึงตอนนี้ และมันก็สูญพันธุ์ไปแล้ว ชนิดที่สองคือ “ปลาสายยู” ที่อยู่ในวงศ์ปลาสวาย ซึ่งมันก็ยังมีอยู่มากมาย และชนิดสุดท้ายคือ “ปลาสายยู” ที่อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน ซึ่งเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

และเพราะชื่อของปลาพวกนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะปลาสายยูที่เป็นปลาสวาย มักจะเอาข้อมูลของปลาสายยูที่เป็นปลาเนื้ออ่อนไปผสมจนมั่ว จนนำไปสู่การสอนแบบผิดๆ …ถึงขนาดเข้าใจผิดอย่างจริงจังว่า ปลาสายยูที่เป็นปลาสวายเป็นปลาเนื้ออ่อนเลยก็มี

ชนิดที่ 7 – นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร – Pseudochelidon sirintarae

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกนางแอ่นตาพอง (White-eyed River-Martin) จัดเป็นนกที่อยู่ในสกุลของนกนางแอ่นแม่น้ำ โดยนกในสกุลนี้ก็มีด้วยกัน 2 ชนิด ซึ่งอีกชนิดไม่มีในไทย

จนถึงตอนนี้ “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” พบได้ที่บึงบอระเพ็ดเพียงแห่งเดียวในโลก ไม่มีแม้แต่ภาพตัวเป็นๆ หรือภาพในธรรมชาติของนกชนิดนี้ และมันก็อาจสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี 1980 ด้วยเหตุนี้ข้อมูลของ “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” ส่วนใหญ่จึงเป็นการอนุมาน ข้อมูลที่แท้จริงจึงยังไม่แน่นอน และอาจไม่มีวันเข้าใจมากไปกว่านี้

และก็อย่างที่เห็น “บึงบอระเพ็ด” เป็นแหล่งน้ำที่มหัศจรรย์ ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย บางชนิดถึงขนาดพบได้เฉพาะที่บึง บางชนิดก็หายไปจากที่อื่น แต่ก็มาพบอีกครั้งที่บึง ไม่แน่ว่ายังสัตว์น้ำอีกหลายชนิดที่เรายังไม่เคยเห็นอาศัยอยู่ในบึงบอระเพ็ด นั้นเพราะสัตว์ที่อยู่ใต้น้ำมันเป็นอะไรที่สังเกตุได้ยาก …และจากเรื่องนี้ ผมก็หวังว่ามันจะช่วยให้ผู้คน ตระหนักถึงความสำคัญของบึงบอระเพ็ดมากยิ่งขึ้น

ส่วนภาพที่ใช้เป็นภาพปกของเรื่องคือ “นกอีแจว” ซึ่งเป็นนกที่พบได้ในบึงบอระเพ็ด มันโดดเด่นจนได้ชื่อว่า “”ราชินีบึงบอระเพ็ด” หรือ “ราชินีแห่งนกน้ำ” นกชนิดนี้ที่เป็นนกตัวเมีย จะจับคู่ผสมพันธุ์กับตัวผู้หลายตัวและจะทำรังหลายรังในบริเวณเดียวกันในแบบฮาเร็ม โดยลูกหลายครอกจะถูกเลี้ยงโดยตัวผู้หลายตัว เป็นนกที่มีนิ้วตีนยาวมาก ซึ่งจะช่วยพยุงตัว ขณะเดินบนใบของพืชลอยน้ำ ในถิ่นอาศัยที่เป็นหนองน้ำตื้น

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements