บทสรุปทั้งหมด ‘ปลาเสือตอสายพันธุ์ไทย’ ที่หายไปอย่างสมบรูณ์

ปลาเสือตอเป็นหนึ่งในปลาธรรมชาติ ที่สวยที่สุดในประเทศไทย แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ปลาเสือตอลายใหญ่ของไทยได้สูญพันธุ์ไปอย่างสมบรูณ์แล้ว และในเรื่องนี้ผมจะมาสรุปเรื่องราวของปลาเสือตอไทย ตั้งแต่ที่มันยังอยู่จนถึงวันที่มันหายไป และวิธีการดูเสือตอแต่ละชนิด ...และเนื่องจากข้อมูลเป็นเรื่องราวที่ย้อนไปหลายสิบปี อาจมีอะไรผิดพลาดไปบ้าง ยังไงก็ต้องขออภัยเอาไว้ก่อนครับ

ปลาเสือตอลายใหญ่ จะมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Siamese tiger fish ซึ่งในอดีตสามารถพบพวกมันได้มากมายในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน และบึงบอระเพ็ด

แล้วปลาเสือตอที่เลี้ยงกันในไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน นั้นเพราะในไทยไม่มีปลาเสือตอไทยในธรรมชาติอีกแล้ว และที่สำคัญปลาเสือตอเป็นปลาที่เพาะพันธ์ได้ยากมากและมีต้นทุนที่สูง โดยเฉพาะเสือตอลายใหญ่ยิ่งยากหนัก จนถึงทุกวันนี้ผมยังไม่แน่ใจว่ามีใครเพาะพันธ์กันได้หรือยัง …ถ้าทำกันได้ก็คอมเมนต์ให้ข้อมูลกันบ้างนะ

เรื่องราวเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน

Advertisements

ในตอนนั้นปลาเสือตอที่พบได้ตามแหล่งน้ำของไทย โดยเฉพาะในบึงบอระเพ็ด ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มีมากเป็นพิเศษ และมันก็เป็นปลาที่มักจะถูกจับมาทำเป็นอาหาร ลองนึกภาพตอนที่คุณจับปลาแรดมาทอดนั้นละปลาเสือตอก็ไม่ต่างกัน และมันยังถูกขายไปต่างประเทศอีกด้วย โดยตลาดใหญ่ที่สุดคือประเทศญีปุ่น ในสมัยนั้นเสือตอลายใหญ่ ลายเล็ก จะไม่แยกกัน คือขายมั่วๆ ไปเลย ตกตัวละ 40 – 50 บาทเท่านั้น

ปลาเสือตอลายใหญ่
ปลาเสือตอลายใหญ่ (Siamese tiger fish) / Datnioides pulcher

วันเวลาผ่านไปอีกหน่อย นักเลี้ยงปลาชาวญีปุ่น ก็เริ่มนิยมปลาเสือตอลายใหญ่มากกว่า จึงทำให้ปลาเสือตอลายใหญ่มีราคาสูงถึง 1 พันบาท หากตัวสวยๆ อาจแพงถึง 10,000 บาท

และถึงแม้จะเป็น 50 ปีก่อน ปลาเสือตอลายใหญ่ ก็ถือว่าเป็นปลาที่หายากอยู่ดี ในสมัยที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุม ชาวบ้านก็จับกันอย่างมันมือ แน่นอนว่าพวกเขาไม่สนใจฤดูกาล ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สุดท้ายปลาเสือตอในไทยก็สูญพันธุ์ไปตลอดกาล

กำเนิดเสือตอลายคู่ ในช่วงปี พ.ศ. 2528

ในตอนนั้นมีการค้นพบแหล่งน้ำที่มีปลาเสือตอจำนวนมาก นั้นคือแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งแต่เขมรจนถึงเวียดนาม แต่มันก็ต่างจากเสือต่อไทยเล็กน้อย และจะถูกเรียกกันว่าเสือตออินโด โดยเสือตอที่พบคือ ลายใหญ่, ลายเล็กและลายคู่ แน่นอนว่า ลายเล็กเป็นชนิดที่พบมากที่สุด และมันเป็นครั้งแรกที่นักเลี้ยงปลาได้รู้จักกับ เสือตอลายคู่

ปลาเสือตอลายคู่
ปลาเสือตอลายคู่

โดยเสือตอลายคู่ จะเกิดจากการผ่าเหล่าของเสือตอลายใหญ่ โดยเสือตอลายคู่จะมีลาย 2 ข้างเท่ากัน มันไม่ใช่ปลาที่มีลายเสีย หรือ ลายใหญ่ข้าง ลายคู่ข้าง ด้วยความหายากและความใหญ่ของมัน จึงทำให้เสือตอลายคู่ในตอนนั้น มีราคาแพงกว่าลายใหญ่ซะอีก …วันเวลาผ่านไป นับวันปลาเสือตอไม่ว่าจะลายไหนก็หายากขึ้นทุกที แต่ถึงงั้นปลาเสือตอสายพันธุ์ไทยก็จะมีราคาแพงที่สุดอยู่ดี

ค้นพบปลาเสือตอจากโตนเลสาบ ประมาณปี พ.ศ. 2534

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อมีการพบปลาเสือตอที่ตายแล้ว ปะปนมากับปลาที่ขายเพื่อเป็นอาหารจากฝั่งเขมร ผ่านเขตเสียมราฐ สู่เขตศรีโสภณ และปอยเปต ก่อนมาฝั่งไทยที่อรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (ตอนนี้เป็นจังหวัดสระแก้ว) ตอนนั้นพ่อค้าแม่ค้าที่ไปรับซื้อปลาสด และปลาแห้งจากเขมรไม่ได้สนใจอะไรกับปลาเสือตอพวกนี้

ปลาเสือตอลายใหญ่

ในตอนแรกเข้าใจว่าเป็นเสือตอลายเล็ก ที่เจอได้บ่อยในแถบแม่น้ำโขง แต่ก็ต้องประหลาดใจกับขนาดปลาที่มีหนักถึง 3 กิโลกรัม มันไม่น่าจะเป็นเสือตอลายเล็กไปได้ จนข่าวแพร่ไปถึงหูพ่อค้าปลาสวยงามของไทยและต่างประเทศ จนพวกเขาเดินทางไปพิสูจน์ซากปลาเสือตอ เมื่อเห็นของจริงพวกเขาก็ต้องตกใจ เพราะเป็นปลาเสือตอลายใหญ่จริงๆ

มันเป็นปลาเสือตอที่อาศัยในเขมร โดยในภาษาเขมร เรียกว่า ตริยคา (ตริย แปลว่า ปลา , คา แปลว่า เสือ) โดยแหล่งที่พบมากคือโตนเลสาบ (Tonle Sap) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขนาดของทะเลสาบจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล โดยจะใหญ่สุดในฤดูน้ำหลาก เพราะทะเลสาบแห่งนี้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนจำนวนมหาศาล จากแม่น้ำและคลองสาขาย่อยจำนวนนับร้อยสาย จนก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์

จากการตรวจสอบพบว่า ปลาเสือตอที่โตนเลสาบ ก็มีสภาพคล้ายๆ บึงบอระเพ็ด พวกมันเป็นที่รู้จักมานับร้อยปี และถูกจับมากินเป็นอาหาร และไม่ค่อยได้รับความสนใจจากชาวบ้านเท่าไร นั้นเพราะมันไม่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ หลังจากนั้นก็มีการพบเสือตอที่ประเทศเวียดนามอีกด้วย ซึ่งในตอนนั้นพวกมันยังมีอยู่มาก

เพราะปลาหาได้มากขึ้น ราคาจึงตก

Advertisements

หลังจากมีการพบปลาเสือตอ คุณภาพดีจากแหล่งใหม่ ก็ทำให้คนไทยในเวลานั้น ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของปลาเสือตอลายใหญ่ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมเกือบ 10 เท่า และมีการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากขึ้นเช่นกัน

จนทำให้ชาวญี่ปุ่นที่รับซื้อปลา ถึงกับตกใจกับจำนวนปลาที่ทะลักเข้ามาในประเทศ ทำให้เกิดความสับสนว่า ปลาที่ส่งมานี้เป็นปลาเสือตอแท้ๆ จากไทยหรือไม่ เพราะชาวญี่ปุ่นจะยึดติดกับปลาเสือตอจากไทยมากกว่า

ปลาเสือตอลายคู่ขนาดเล็ก
Advertisements

นั้นเพราะปลาเสือตอไทยหายาก มีพื้นเหลือง หรือ ส้ม เส้นคาดลำตัวปลาต้องมี 6 เส้น นับจากเส้นแรกที่บริเวณตาของปลา แล้วเส้นต้องเท่ากันทั้ง 2 ข้างของตัวปลา โดยปลาเสือตอลายใหญ่จากเขมรและเวียดนาม กว่าครึ่งจะมี 7 เส้นคาดลำตัว โดยจะแตกเป็น 2 เส้นที่บริเวณข้อหาง จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นสับสนกับปลาที่จับได้จากแหล่งน้ำอื่น

ด้วยเหตุนี้พ่อค้าปลาสวยงามไทย จึงต้องคัดแยกปลาเสือตอลายใหญ่สำหรับส่งออก ต้องมีลาย 6 ขีดคาดลำตัวเท่ากันทั้ง 2 ด้าน เพื่อให้เป็นตามสายพันธุ์เสือตอลายใหญ่ที่พบในไทย จนกลายเป็นที่ยอมรับและหลักในการเลือกซื้อปลาของนักสะสมปลาเสือตอ ทั้งที่ปลาเสือตอลายใหญ่ 7 ขีดก็จับได้จากแหล่งเดียวกัน ความสวยก็ไม่แพ้กันเลย แต่ 6 ขีด กลับแพงเห็นๆ

ทั้งนี้ปลาเสือตอ ถือเป็นปลาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดญีปุ่น หากเป็นปลาขนาดใหญ่ ราคาของมันคือแพงระยับมาก มีตั้งแต่หลายแสนเยนไปจนถึงหลายล้านเยน ส่วนตัวเล็กๆ ราคาก็พอซื้อกันได้ครับ สาเหตุที่ตัวใหญ่แพงมากเพราะปลาเสือตอเป็นปลาที่เลี้ยงยากมาก มันจะกินเฉพาะ “เหยื่อที่มีชีวิตเท่านั้น” หรือก็คือเหยื่อที่ขยับได้ มีนักเลี้ยงปลามากมายพยายามเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดอยู่เหมือนกัน แต่ก็ทำได้ยากและยังไม่เป็นผลดีอีกด้วย

ปลาเสือตอลายใหญ่ขยายพันธุ์ในฟาร์มได้หรือยัง?

ในไทยไม่มีเสือตอตามธรรมชาติอย่างแท้จริง และจนถึงตอนนี้ข่าวการขยายพันธุ์ปลาเสือตอสำเร็จ แบบชัดเจนยังไม่มี ว่ากันว่าถึงแม้จะขยายพันธุ์ได้ลูกปลามา แต่ก็ยากที่จะอนุบาลลูกปลาให้เกิน 1 เซนติเมตร และคงจะมีเพียงเสือตอลายเล็กเท่านั้นที่สามารถขยายพันธุ์ได้สำเร็จ

ต่อไปเป็นวิธีดูปลาเสือตอเบื้องต้น

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าปลาใน “วงศ์ปลาเสือตอ” ชนิดหลักๆ ที่คุณน่าจะได้เจอในตลาดปลาสวยงามของไทย จะมีอยู่ 5 ชนิด นั้นคือ เสือตอลายใหญ่ เสือตอลายคู่ เสือตอลายเล็ก เสือตอปาปัวนิวกินี และกระพงลาย แล้วในตอนนี้ปลาเสือตอที่ขายอยู่ในไทย จะมาจาก 3 แหล่งคือ

  1. เสือตอจากประเทศปาปัวนิวกินี และชื่อของมันคือ ปลาเสือตอปาปัวนิวกีนี (Datnioides campbelli) ในธรรมชาติพวกมันจะอาศัยอยู่ในน้ำกร่อย เป็นปลาที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในไทยเท่าไร เนื่องจากสวยสู้อีกอีกแหล่งไม่ได้
  2. เสือตอจากอินโดนีเซีย หรือที่เรียกกันว่า ปลาเสือตออินโด (Datnioides microlepis) จัดเป็นชนิดที่ขายอยู่ในประเทศไทย เสือตอจากแหล่งนี้ มีทั้งลายใหญ่และลายคู่ แน่นอนว่าในทางวิทยาศาสตร์ ปลาทั้งสองถือเป็นชนิดเดียวกัน พวกมันจึงใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ เดียวกัน
  3. แหล่งสุดท้ายคือ ในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม เสือตอลายใหญ่และลายคู่จากแหล่งนี้ จะใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่เหมือนกับเสือตอลายใหญ่ของไทย (Datnioides pulcher) แต่ในวงการปลาเสือตอประเทศไทย จะเรียกปลาจากแหล่งนี้ว่า “ปลาเสือตอเขมร” เนื่องจากเป็นปลาที่มาจากเขมร
ภาพที่ 1 : ภาพรวมญาติของปลาเสือตอ (ขอบคุณภาพจาก lovefishclub.com)

นอกจากนี้.. บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาในไทย ยังค้นพบ “ปลาเสือตอลายเล็ก” อีกด้วย ในทางวิทยาศาตร์ก็แยกมันออกมาเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง โดยให้ชื่อว่า Datnioides undecimradiatus ในปัจจุบันมีการจับมาขายกันเป็นจำนวนมาก และเป็นที่น่ายินดีว่ากรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ปลาเสือตอลายเล็กได้แล้ว

ต่อไปมาดูหน้าตาของเสือตอแต่ละชนิด

Advertisements

ในการเลือกซื้อปลาเสือตอ หลังจากดูความสมบูรณ์ แข็งแรงของปลาเช่น รูปร่างปกติ หลังไม่หัก ปากไม่เบี้ยว ครีบอยู่ครบ ตาไม่บอด สิ่งที่เราจะดูต่อไปก็คือ สีและลาย และ สำหรับลาย สิ่งแรกที่ต้องดูก่อนเสมอคือ ลายทั้งสองด้านของลำตัวเหมือนกันหรือไม่? ..ลายของปลาเสือตอต้องมีจำนวน ความกว้างของแถบ รูปทรง สี และตำแหน่ง เหมือนกันทั้งสองด้าน

ปลาเสือตอลายใหญ่เป็นเช่นไร? (Siamese Tigerfish)

เสือตอลายใหญ่ คือลายที่หายากที่สุดเป็นที่ต้องการมากที่สุด และราคาสูงที่สุดในบรรดาปลาเสือตอทั้งหมด แต่ปลาเสือตอลายใหญ่จากไทย เขมร และเวียดนาม เรียกรวมๆ ว่า ปลาเสือตอลายใหญ่เขมร ถือว่าเป็นสุดยอดของปลาเสือตอ ทั้งสวยที่สุด หายากที่สุด และแพงที่สุด

ภาพที่ 2 : เปรียบเทียบปลาเสือตอลายใหญ่จากเขมรและอินโด (ขอบคุณภาพจาก lovefishclub.com)
Advertisements

จุดสังเกตุของปลาเสือตอลายใหญ่

  1. ลายบนลำตัวมี 6 หรือ 7 แถบ แต่ส่วนใหญ่เป็น 6 แถบ ดังนั้นถ้ามี 6 แถบ มันคือเสือตอลายใหญ่จากเขมร เพราะปลาเสือตอลายใหญ่จากอินโดนีเซียมักมีลายบนลำตัว 7 แถบ
  2. ถ้าลายที่ 4 และที่ 5 เชื่อมต่อกัน (ดูภาพที่ 2 ตัวซ้ายบน) มักเป็นเสือตอลายใหญ่จากเขมร
  3. ถ้าดั้งหัก มักเป็นเสือตอลายใหญ่จากเขมร (ดูภาพที่ 3 ประกอบ) ขณะที่ปลาจากอินโดนีเซียบริเวณหัวจะมีลักษณะความชันค่อนข้างน้อย
  4. สีจะเข้มและสวยกว่าปลาอินโด

ปลาเสือตอลายคู่เป็นเช่นไร?

ปลาเสือตอลายคู่ คือชนิดที่มีขายมากที่สุดในตลาด โดยปลาเสือตอลายคู่ส่วนใหญ่จะมาจากอินโดนีเชีย ส่วนลายคู่เขมรนั้น นานๆ จะมีให้เห็นกันซักตัวหนึ่ง เพราะปลาเสือตอเขมรส่วนใหญ่จะเป็นลายใหญ่ (จากภาพที่ 3) จะเห็นความแตกต่างระหว่างปลาเสือตอลายใหญ่และลายคู่

ภาพที่ 3 : เปรียบเทียบปลาเสือตอลายใหญ่และลายคู่ (ขอบคุณภาพจาก lovefishclub.com)

จุดสังเกตุปลาเสือตอลายคู่เขมร (Siamese Tigerfish)

  1. ลายบนลำตัวมี 7 แถบเสมอ
  2. ถ้าลายที่ 5 และที่ 6 เชื่อมต่อกัน (ดูภาพที่ 4 ตัวซ้าย) มักเป็นเสือตอลายใหญ่จากเขมร
  3. ขอบของแถบสีดำจะเปรอะ ไม่เรียบคมเท่าจากอินโด
ภาพที่ 4 : เปรียบเทียบปลาเสือตอลายคู่เขมรและอินโด (ขอบคุณภาพจาก lovefishclub.com)

จุดสังเกตุปลาเสือตอลายคู่อินโด (Indo Tigerfish)

  1. ปลาเสือตอลายคู่อินโดจะมี 8 แถบเสมอ ส่วนปลาเสือตอลายใหญ่อินโดจะมี 7 แถบเสมอ
  2. จะมีสีเหลืองอ่อนคล้ายกล้วยหอม สีอาจจะเปลี่ยนตามอารมณ์และสิ่งแวดล้อม (หรือที่เรียกกันว่า “สีไม่นิ่ง”)
  3. ขอบลายสีดำจะเรียบและคมกว่าปลาเสือตอเขมร
  4. ระหว่างลายที่ 4-5 และ 5-6 มักจะมีลอนด่าง หรือ มีเขม่าสีเข้ม (ดูภาพที่ 5)
ภาพที่ 5 : รอยด่างในปลาเสือตอลายคู่อินโด (ขอบคุณภาพจากคุณ Mofish_6)
Advertisements

ปลาเสือตอลายเล็กเป็นเช่นไร? (Northern Thai Tigerfish)

เสือตอลายเล็กส่วนใหญ่ จะมีลำตัวที่ผอมเรียวยาวเมื่อเทียบกับลายใหญ่และลายคู่ ส่วนสันด้านหน้าจะค่อนข้างลาด ไม่ตั้งชันมาก เกล็ดจะมีขนาดใหญ่กว่าลายใหญ่และลายคู่

จุดสังเกตุปลาเสือตอลายเล็ก

  1. ลายบนลำตัวมี 6 แถบและขนาดเท่าๆ กันทั้ง 6 แถบ
  2. แถบที่ 5 จะแยกไม่ติดกัน
  3. เกล็ดหยาบและใหญ่
ภาพที่ 6 : เปรียบเทียบปลาเสือตอลายเล็ก ปลาเสือตอลายใหญ่ และ ปลาเสือตอลายคู่ (ขอบคุณภาพจาก lovefishclub.com)

ปลาเสือตอปาปัวนิวกีนี เป็นเช่นไร? (New Guinea Tiger Fish)

เป็นปลาที่มีรูปร่างคล้ายกับปลาเสือตอจากอินโดนีเชียแต่ยาวกว่า เกล็ดมีขนาดใหญ่และหยาบ จุดสังเกตุง่ายๆ คือ สีของลายดูเปรอะ ไม่เป็นระเบียบ ไม่เรียบคม ไม่สวยเท่าปลาเสือตอลายใหญ่ ลายคู่และลายเล็ก

ปลาเสือตอปาปัวนิวกีนี (New Guinea Tiger Fish) / Datnioides campbelli

ปลากะพงลายเป็นเช่นไร? (Silver tiger fish)

ปลากะพงลายอยู่ในวงศ์ปลาเสือตอ จึงมีส่วนคล้ายปลาเสือตออยู่หลายส่วน หากคนหัดเลี้ยงปลาเสือตอใหม่ๆ ที่ยังดูปลาเสือตอไม่ชำนาญอาจแยกไม่ออก และถูกหลอกว่าเป็นเสือตอได้ และยังเป็นปลาที่จับได้ในแหล่งน้ำกรอยของไทยด้วย โดยวิธีดูปลากะพงลายแบบง่ายๆ คือ ให้ดูที่ลายแถบสุดท้ายบนหาง ลายจะขาดออกจากกัน ดูเป็นจุด 2 จุด ดังในวงกลมสีแดง มันคือ.. ปลากะพงลายแน่นอน

ปลากะพงลาย (Silver tiger fish) / Datnioides polota

เอาล่ะก็จบแล้วสำหรับเรื่องปลาเสือตอ เล่ามาซะยาวเลย สำหรับเรื่องที่พอจะสรุปได้ว่า ปลาเสือตอลายใหญ่ของไทยแท้ๆ ไม่สามารถหาได้แล้ว ที่มีขายกันในตอนนี้จะเป็นเสือตอเขมรและอินโด ส่วนเสือตอลายเล็กถือว่าดีหน่อย ที่ยังพอจะมีในธรรมชาติ และกรมประมงก็สามารถเพาะพันธุ์พวกมันได้แล้ว ส่วนลายใหญ่ยังไม่สามารถ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements