11 ปลาเนื้ออ่อนไทยแท้ ที่พบได้ในธรรมชาติบ้านเรา

ก่อนที่จะเข้าเรื่องต้องขอกล่าวอะไรเล็กน้อย สำหรับรายชื่อของปลาเนื้ออ่อนในส่วนนี้ มีหลายชนิดที่ตกหล่นไป เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ ...เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า

ปลาเนื้ออ่อนในไทย

สำหรับ “วงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Sheatfish)” จะหมายถึงปลาหนังที่มีรูปร่างเพรียวยาว ลำตัวแบนข้าง และใช้ชื่อวงศ์ว่า Siluridae (/ไซ-เลอร์-อิ-ดี้/) โดยปลาในวงศ์นี้มีอยู่มากมายหลายชนิด เฉพาะที่พบในไทยก็มีประมาณ 30 ชนิด

ปลาเนื้ออ่อนชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุดของไทยคือ ปลาก้างพระร่วง (Krytopterus vitreolus) ที่มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร ส่วนชนิดที่ใหญ่ที่สุดในไทย ก็คงเป็นปลาเค้าขาวหรือไม่ก็เค้าดำ ที่ยาวได้ถึง 2 เมตร ส่วนปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือ ปลาเวลส์ (Silurus glanis) พบได้ในยุโรป

ชนิดที่ 1 – ปลาสายยู – Ceratoglanis pachynema

Advertisements

ปลาสายยู (Club-barbel sheatfish) เป็นปลาน้ำจืดที่หน้าตาประหลาด มันมีตาที่เล็ก มีหนวดเล็กที่ดูเป็นติ่งใกล้จมูก แถมยังมีพฤติกรรมกระดิกหนวดอย่างรวดเร็วขณะว่ายน้ำ โดยภายในเวลา 1 นาที จะสามารถกระดิกหนวดได้นับร้อยครั้ง นอกจากหนวดแปลกๆ ของมันแล้ว ปลาชนิดนี้ยังเป็นปลาที่มีลำตัวแบนข้าง มีสีชมพู่หรือสีนวล และยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร

ปลาสายยู (Club-barbel sheatfish) / Ceratoglanis pachynema/  ภาพปลาสายยู โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์ / nstda

เป็นปลาที่พบได้ในธรรมชาติเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นั้นก็คือบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันมีสถานะเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต เป็นที่ต้องการของนักเลี้ยงปลาเช่นกัน ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาสูงมาก

แต่ยังมีอีกสิ่งที่คุณต้องรู้คือ ในไทยยังมีปลาอีกชนิด 2 ชนิดที่ใช้ชื่อว่า “ปลาสายยู” ชนิดแรกคือ “ปลาสายยู” ที่อยู่ในวงศ์ปลาหวีเกศ และมันก็สูญพันธุ์ไปแล้ว อีกชนิดคือ “ปลาสายยู” ที่อยู่ในวงศ์ปลาสวาย ซึ่งยังพบได้มากมาย และชนิดนี้เองที่มักเอาข้อมูลของสายยูที่เป็นปลาเนื้ออ่อนไปผสมจนมั่ว จนไปสู่การสอนแบบผิดๆ

ชนิดที่ 2 – ปลาคางเบือน – Belodontichthys truncatus

ปลาคางเบือน (Twisted-jaw catfish) เป็นปลาน้ำจืดที่มีลักษณะส่วนหัวแบนข้างมากซึ่งเป็นเช่นเดียวกับลำตัว มีรูปร่างเพรียวยาว หัวและจะงอยปากงอนขึ้นด้านบน ปากกว้างมาก คางเชิดขึ้น อันเป็นที่มาของชื่อ “คางเบือน” ใกล้มุมปากมีหนวด 1 คู่ยาวจนถึงครีบอก ลำตัวมีสีเงินวาว มีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร

ปลาคางเบือน (Twisted-jaw catfish) / Belodontichthys truncatus

ในไทยพบปลาชนิดนี้ได้ในแม่น้ำสายใหญ่ทั่วประเทศ ยกเว้นแม่น้ำสาละวินและในภาคตะวันออก เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่แหล่งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลเวียนที่ดี โดยเฉพาะตามตอม่อสะพานหรือประตูน้ำ ถ้าอยากจะจับปลาชนิดนี้คงต้องไปรอแถวนั้น

ชนิดที่ 3 – ปลาชะโอนถ้ำ – Pterocryptis buccata

ปลาชะโอนถ้ำ (Cave sheatfish) เป็นปลาน้ำจืดที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย อาศัยอยู่ในถ้ำวังบาดาล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

ปลาชะโอนถ้ำ (Cave sheatfish) / Pterocryptis buccata
Advertisements

โดยปลาชะโอนถ้ำจะมีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร ลำตัวมีสีขาวเผือก ดวงตามีขนาดเล็กและเป็นสีแดง เป็นปลาที่หายากมาก ตามข้อมูล ในปี 2002 ได้มีคณะสำรวจชาวไทยเข้าไปสำรวจ และจับปลากลับมาได้ประมาณ 10 ตัว จากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบปลาชนิดนี้อีก แม้จะมีการสำรวจอีกหลายครั้งก็ตาม …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะข้อมูลไม่เพียงพอ

ชนิดที่ 4 – ปลาดังแดง – Hemisilurus mekongensis

Advertisements

ปลาดังแดง เป็นปลาที่ส่วนหัวแบนข้างเล็กน้อย มีปากที่เล็ก ตาเล็ก มีหนวดหนึ่งคู่ โดยหนวดของตัวผู้จะเรียวสั้น ในขณะที่ตัวเมียจะมีหนวดเส้นใหญ่กว่าและยังแบนที่ปลาย สีของลำตัวมีสีเทาอ่อนอมฟ้า หนังบางค่อนข้างใส ครีบสีจางขอบครีบหางสีคล้ำ ส่วนหัวมีสีแดงเรื่อโดยเฉพาะบริเวณจะงอยปาก จึงเป็นที่มาของชื่อ “ดัง ภาษาอีสานแปลว่า จมูก”

ปลาดังแดง / Hemisilurus mekongensis

ปลาดังแดงมีขนาดประมาณ 30-40 เซนติเมตร โดยปกติมักจะถูกจับได้ในหลายจังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงอุบลราชธานี เนื้อมีรสชาติดี มักบริโภคโดยการปรุงสด

ชนิดที่ 5 – 6 – ปลาน้ำเงิน และ ปลาแดง

สำหรับปลาน้ำเงิน (Phalacronotus apogon) และปลาแดง (Phalacronotus bleekeri) ขอพูดถึงพร้อมกันไปเลย เนื่องจากปลาทั้งสองชนิดนี้ค่อนข้างคล้ายกัน พวกมันเป็นปลาที่พบเห็นได้ง่ายในสมัยก่อน แต่เมื่อมาถึงยุคนี้ต้องบอกว่า ทั้งปลาแดงและน้ำเงินเป็นปลาที่พบได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ปลาน้ำเงิน (Phalacronotus apogon) และปลาแดง (Phalacronotus bleekeri)
Advertisements

ตามข้อมูลระบุว่าปลาน้ำเงิน ยาวได้ถึง 1.5 เมตร ซึ่งทำไมมันตัวใหญ่จัง ผมเคยเห็นอย่างมากก็ตัวเท่าแขน ส่วนปลาแดงยาวได้ประมาณ 80 เซนติเมตร ก็ยังใหญ่เกินไปอยู่ดี ข้อมูลส่วนนี้อาจใช้ไม่ได้ในตอนนี้ และแม้พวกมันจะดูเหมือนกัน แต่ถ้ามองดูดีๆ ปลาทั้ง 2 ตัวนี้ มีจุดที่ต่างกันค่อนข้างชัดเจน เพียงแต่อาจต้องรู้จักลักษณะของปลาทั้ง 2 ชนิดก่อน

หากดูที่บริเวณส่วนหัว ให้ดูที่ตาของปลา จะเห็นว่า “ปลาน้ำเงินมีตาที่เล็กกว่าปลาแดง” หากดูที่ตำแหน่งปาก “ปลาแดงจะมีปากล่างยืนออกมามากกว่าปลาน้ำเงิน” และปลาน้ำเงินก็มีสันหลังบริเวณต้นคอสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

หากดูที่สีของลำตัว “ปลาน้ำเงิน จะมีพื้นลำตัวสีขาวเงินและมีหลังสีดำอมเขียว” ในขณะที่ “ปลาแดง จะมีพื้นลำตัวจะออกใส สีเงินวาวอมแดง และด้านบนจะมีสีออกเหลือบเขียวคล้ำๆ” นอกจากนี้ครีบก้นของปลาแดงจะสีจาง ไม่มีแถบสีคล้ำซึ่งต่างจากปลาน้ำเงิน ..และนี่ก็เป็นความแตกต่างหลักๆ ของปลาแดงและปลาน้ำเงิน แน่นอนว่าพวกมันเป็นปลาเนื้ออ่อนที่มีราคาแพงทั้งคู่ และก็รสชาติดีด้วย

ชนิดที่ 7 – ปลาเค้าขาว – Wallago attu

ปลาเค้าขาว (Great White Sheatfish) เป็นปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่สุดในไทย ยาวได้ถึง 2 เมตร แต่ขนาดโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 80 เซนติเมตร มีส่วนหัวและจะงอยปากปากยื่นแหลม ปากกว้างมาก มุมปากอยู่เลยด้านหลังของลูกตา มีฟันแหลมเล็กบนขากรรไกร ตาเล็กและมีหนวดที่ริมฝีปาก ลำตัวมีสีเงินวาวอมเขียวอ่อนที่ด้านหลัง ในปลาบางตัวมีแถบยาวสีคล้ำที่ด้านข้างลำตัว ด้านท้องสีจาง บางตัวอาจมีครีบสีคล้ำอมเหลืองอ่อน

ปลาเค้าขาว (Great White Sheatfish) / Wallago attu

ปลาเค้าขาว ชอบอาศัยอยู่บริเวณน้ำลึกตามแม่น้ำ ในที่ๆ กระแสน้ำไม่แรงมาก และยังชอบซ่อนตัวอยู่ตามซอกหลืมริมฝั่งแม่น้ำที่มีสภาพเป็นดินโคลน เป็นปลาที่ชอบอยู่ตัวเดียว เพราะมีนิสัยก้าวร้าวห่วงที่ และยังเป็นปลาประจำถิ่นไม่ค่อยจะย้ายไปไหน หากคุณเจอมันขึ้นน้ำตรงไหน มันก็มักจะอยู่แถวนั้นเป็นเวลานาน

ชนิดที่ 8 – ปลาเค้าดำ

Advertisements

ในประเทศไทยมีปลาเค้าดำอยู่ 2 ชนิด หนึ่งคือ ปลาเค้าดำ (Black Sheatfish) ซึ่งเป็นชนิดที่พบในภาคกลางขึ้นไปทางเหนือและพบในแม่น้ำโขง มันใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ วอลลาโกเนีย ไมโครโพกอน (Wallagonia micropogon) เป็นปลาเค้าดำที่คนไทยส่วนใหญ่พูดถึง และมันก็ใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว

ปลาเค้าดำ (Black Sheatfish) / Wallagonia micropogon

ส่วนตัวที่สองคือ ปลาเกรตทาปาห์ (Great Tapah) ที่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ วอลลาโกเนีย ลีเรีย (Wallagonia leerii) ชนิดนี้พบได้ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยลงไป และจะพบมากในมาเลเซีย จนถึงอินโดนีเซีย มันเป็นชนิดที่ใหญ่กว่าปลาเค้าขาวบ้านเราซะอีก

ปลาเกรตทาปาห์ (Great Tapah) / Wallagonia leerii
Advertisements

และจุดต่างของปลาเค้าดำกับเกรตทาปาห์ หลักๆ เลยคือ เกรตทาปาห์ ดูคล้ายกับเค้าขาวมากกว่า มีลายยาวสีขาวเหลืองจางๆ สองถึงสามเส้นพาดไปตามยาวของลำตัวที่เป็นสีดำของมัน ส่วนเค้าดำก็มีลายเช่นกันแต่จะไม่ชัดเจนและตัวก็ป้อมสั้นกว่า แต่ถึงอย่างงั้น ทั้งสองชนิดนี้ก็ดูคล้ายกันจนน่าสับสน

ชนิดที่ 9 – ปลาชะโอน – Ompok bimaculatus

ปลาชะโอน หรือ ปลาสยุมพร (Butter catfish) มีความยาวประมาณ 22 เซนติเมตร ลำตัวเรียวยาวแบนข้าง ไม่มีเกล็ด พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลและเป็นลวดลายกระดำกระด่างจ่างๆ เหนือครีบมีจุดสีดำขนาดใหญ่ข้างละจุด มีหนวด 2 คู่ เป็นปลาที่พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง แม่กลอง จันทบุรี พัทลุง และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย

ปลาชะโอน หรือ ปลาสยุมพร (Butter catfish) / Ompok bimaculatus

ชนิดที่ 10 – ปลาขาไก่ – Kryptopterus cryptopterus

ปลาขาไก่ (blue sheatfish) เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะยาว 10 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้างและเรียวไปทางด้านท้าย หัวเล็ก ปากเล็ก ตาค่อนข้างโต มีหนวด 2 คู่ ลำตัวสีเหลืองอ่อนเหลือบเขียวและตัวค่อนข้างใส เป็นปลาที่อาศัยอยู่เป็นฝูง โดนจะพบพวกมันได้ในลุ่มน้ำแม่กลอง เจ้าพระยา แม่น้ำโขง และแม่น้ำในภาคใต้

ปลาขาไก่ (blue sheatfish) / Kryptopterus cryptopterus

ปลาขาไก่ สามารถนำมาบริโภคโดยการปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย หรือนำไปทำเป็นปลาแห้ง ปลารมควันก็ดี และยังจัดเป็นหนึ่งในปลาที่ถูกเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ก็เลี้ยงค่อนข้างยากเนื่องจากขี้ตกใจ

ชนิดที่ 11 – ปลาก้างพระร่วง – Kryptopterus bicirrhis

ปลาก้างพระร่วง (Glass catfish) ถือเป็นปลาประจำถิ่นของประเทศไทย พวกมันเคยมีอยู่มากมายในแม่น้ำลำธารที่มีกระแสน้ำไหลแรง โดยในภาคกลางพบที่จังหวัดนครนายก จันทรบุรีจนถึงตราด ภาคใต้พบในสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุงและสงขลา นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบเห็นที่รัฐปีนังของมาเลเซียด้วย แต่ก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน

ปลาก้างพระร่วง (Glass catfish) / Kryptopterus bicirrhis

ปลาก้างพระร่วง เป็นปลาขนาดเล็กที่ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้าง มีหนวด 2 คู่ ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นจนเกือบจะมองไม่เห็น ครีบก้นยาวตลอดจนถึงครีบหาง ลำตัวใสจนมองเห็นก้างภายในตัว เป็นปลาที่ไม่เหมาะที่จะเอามาทำอาหาร แต่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามโดยใช้ประกอบในตู้ไม้น้ำ

สำหรับปลาก้างพระร่วงเป็นปลาสวยงานที่ได้รับความนิยมสูง แต่ปลาส่วนใหญ่ยังคงเป็นปลาที่จับมาจากธรรมชาติ เนื่องจากยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้ในปริมาณมาก และปลาก้างพระร่วงซึ่งอยู่ในสกุลปลาเพียว ก็มีอีก 19 ชนิด เช่น ปลาเพียวขุ่น และ ปลาผี เป็นต้น …เอาไว้วันหลังจะรวบรวมมาให้ดูกัน

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements