ปลาพรม ‘หัวเหม็น’ กินได้ รสอร่อย ปลาเกมหรือแค่สวยงาม?

เกี่ยวกับ ปลาพรหม หรือ ปลาพรมหัวเหม็น นึกกลับไปสมัยเด็ก มีเรื่องราวเกี่ยวกับมันนิดหน่อย ในวันที่ผมตกปลาแม่น้ำแล้วได้ตัวมันขึ้นมา บอกตรงๆ ว่าสมัยนั้นผมไม่รู้จักมันหลอก แต่พอตกขึ้นมาได้ ผู้ใหญ่แถวนั้นก็บอกว่ากินไม่ได้ มันคือปลาพรม หัวมันเหม็น ส่วนเรื่องเหม็นจริงหรือเปล่า ผมไม่เคยลองเอาไปกินอะนะ เพราะโดยปกติผมไม่ค่อยกินปลาที่ตกขึ้นมาเองเท่าไร เดี๋ยวอ่านเรื่องราวของมันกัน

ปลาพรมหัวเหม็น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Osteochilus melanopleura และมีชื่อสามัญว่า Greater Bony–lipped Barb ลักษณะโดยทั่วไป ปลาพรมหัวเหม็นเป็นปลาเกล็ด มีลักษณะลำตัวกว้างและแบนข้าง หลังโค้ง ท่อนหางสั้น เกล็ดเล็ก ตัวสีเทาปนเงิน ลำตัวตอนเหนือครีบอกมีลายดำลางๆ ขวางลำตัว

เคยเหลือน้อยจนอยู่ในขั้นวิกฤติ

Advertisements

ปลาพรมหัวเหม็น พบแพร่กระจายทั่วไปในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานและภาคใต้ แต่จะพบมากที่สุดบริเวณทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำชี แต่สำหรับในทะเลสาบสงขลาเป็นเพียงแค่อดีตไปแล้ว เพราะปัจจุบันนี้ ปลาพรมหัวเหม็นในทะเลสาบสงขลาเหลือน้อย (เมื่อเทียบกับอดีต)

โดยจากการสำรวจปริมาณสัตว์น้ำรอบทะเลสาบสงขลาของทีมงานสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ปี 2547 ชาวประมงจับปลาชนิดนี้ได้เพียง 17 กิโลกรัม, ปี 2548 จับได้ 12.5 กิโลกรัม, ปี 2550 จับได้ 12 กิโลกรัม และปี 2555 จับได้ 112 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าน้อยมาก

ด้วยเหตุนี้กรมประมงจึงไม่นิ่งนอนใจ พยายามปล่อยพันธุ์ปลาชนิดนี้ เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ กรมประมงปล่อย 500,000 ตัว ปี 2550 ปล่อย 300,000 ตัว และปี 2551 ปล่อย 150,000 ตัว ก็ถือว่าไม่น้อยเลย

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องชาวประมงนี้แหละ ถึงจะปล่อย 10 ล้าน 20 ล้าน ถ้าหากพวกเราไม่ช่วยกันดูแล ไม่ช่วยกันอนุรักษ์ ต่อให้ปล่อยปลามากแค่ไหนก็ไร้ประโยชน์

ทำไมจึงเป็น ปลาพรมหัวเหม็น

ปลาพรมหัวเหม็น มีที่มาจากปลาชนิดนี้เพราะชอบกินตะไคร่น้ำและสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ที่ขึ้นตามโขดหิน ซึ่งมีสารจีออสมิน (Geosmin) และสารประเภท เมททริลไลโซบอเนียล (Methylisoborneol) ที่มีกลิ่นโคลนหรือกลิ่นสาบ ทำให้ตัวปลามีกลิ่นสาบ และส่วนหัวมีกลิ่นสาบมากเป็นพิเศษ

จึงไม่นิยมนำมากินกัน …แต่ถึงงั้นก็ยังเป็นปลาที่มีจำนวนลดลงอย่างหน้าใจหาย

จากการสำรวจปลาชนิดนี้ตามแหล่งน้ำสาธารณะในปัจจุบัน กลับพบว่าจำนวนประชากรของปลาพรมหัวเหม็นได้ลดจำนวนลงกว่าในอดีตอย่างมาก ซึ่งไม่แตกต่างไปจากทะเลสาบสงขลาเท่าไหร่

Advertisements

สาเหตุหลักเกิดจากจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ของเสียถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้แหล่งน้ำธรรมชาติเกิดเน่าเสีย ประกอบกับปลาชนิดนี้มีพฤติกรรมอพยพย้ายถิ่น

เมื่อถึงฤดูน้ำหลากปลาพวกนี้ก็จะเข้าไปในทุ่งออกไข่จำนวนมากมาย เมื่อไข่ฟักเป็นตัวลูกปลาก็จะกินพืชเล็กๆ และเศษอาหาร แต่สภาพพื้นที่น้ำหลากดังกล่าวหายากขึ้น ทำให้ปลาชนิดนี้มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะที่ทะเลสาบสงขลาและอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งในทะเลสาบสงขลา ปลาพรมหัวเหม็นถือเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ของทะเลสาบสงขลาและลุ่มน้ำชี เป็นปลาไทยที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์

การสืบพันธุ์ของปลาชนิดนี้จะจะวางไข่ในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ไข่เป็นแบบครึ่งจมครึ่งลอย สามารถเพาะโดยวิธีการช่วยธรรมชาติโดยใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง

ปลาพรมหัวเหม็น มีรสชาติดี? ถึงชื่อมันจะมีคำว่าหัวเหม็นอยู่ แต่จริงๆ แล้วปลาชนิดนี้มีรสชาติดี เนื้ออร่อย คนอีสานนิยมนำมา ทำเป็นลาบปลา เอาไปทอดบั่งถี่ๆ หรือนำไปต้มยำก็ได้ ..แต่ล้างดีๆ หน่อย

ปลาพรมหัวเหม็น นอกจากนำปลาชนิดนี้มาเป็นอาหารแล้วยังสามารถมาเป็นปลาสวยงามได้ด้วย เพราะเป็นที่มีเกล็ดสดใสและสวยงาม

ถึงแม้ปลาพรมหัวเหม็น จะไม่นิยมนำมาทำอาหารกันเท่าไร แต่มันกลับเป็นปลาที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำ – อากาศ จนลดจำนวนลงไปมาก แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาทางกรมประมงเองก็ปล่อยปลาชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง จนชาวประมงในอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์และในทะเลสาบสงขลา สามารถจับปลาพรมหัวเหม็นขนาด 1.0 กก.ได้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสัญญาณที่ดีของปลาชนิดนี้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
แหล่งที่มากรมประมง (สงขลา)