เปิดเรื่องลับปลาช่อน ข้าหลวงไทย-ข้าหลวงมาเลเซีย

ปลาช่อนเป็นปลาตระกูลหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายงูถ้าเรามองจากด้านท้อปวิว ต่างประเทศเรียกปลากลุ่มนี้ว่า Snakehead (หัวงู) เป็นเพราะว่าหน้าตามันเหมือนงูจริงๆ ครับลองดูจากภาพประกอบได้

ปลาช่อนข้าหลวง

ปลาช่อนข้าหลวง มีลักษณะเด่นที่สีสันและลวดลาย ในส่วนท้องเป็นสีเหลืองส้ม ส่วนครึ่งลำตัวบนมีลวดลายบั้งประมาณ 5-7 แถบ โดยบั้งจะพาดจากแนวหลังลงมาถึงเส้นกึ่งกลางลำตัว ซึ่งลักษณะลวดลายของบั้งนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละตัว สีเกล็ดในส่วนที่เป็นบั้งนั้นมีทั้งสีดำ น้ำตาลเข้ม และเทาเข้ม มีจุดประสีเหลืองสดเล็กๆกระจายอยู่ตามแนวครีบหลัง

เป็นปลาที่มีโตเต็มวัยได้ถึง 90 ซม. นับเป็นปลาที่เข้าข่ายหาเจอน้อยมาก และยังไม่มีรายงานเพาะพันธุ์สำเร็จจากหน่วยงานไหน ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับปลาช่อนงูเห่าเป็นอย่างมาก แต่ช่อนข้าหลวงจะลำตัวสั้นและอ้วนป้อมกว่า จุดสำคัญคือไม่มีวงกลมขนาดใหญ่ที่ข้อหางเช่นเดียวกับช่อนงูเห่า

ปลาชนิดนี้พบในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ของทางอินโดนีเซีย ได้รับชื่อส่วนตัวแยกออกไปเป็นชนิดพันธุ์ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ในชื่อที่ว่า Channa melanoptera พบในเกาะบอร์เนียวและสุมาตรา ลวดลายคล้ายกับทางมาเลเซียมากๆ จุดต่างสำคัญอยู่ที่สีดำสนิทบนครีบหลัง ซึ่งนักวิชาการบางส่วนยังคงยืนยันว่ามันเป็นชนิดเดียวกัน ต่างกันที่แร่ธาตุในน้ำจึงทำให้สีตามครีบต่างกันออกไป

ปลาช่อนข้าหลวงไทยและมาเลเซีย

Advertisements

หากตัดปลาช่อนอินโดนีเซียไป ก็จะเหลือปลาของไทยกับมาเลเซียที่ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน โดยนามของมันคือ Channa marulioides (อ่านว่า ชัน นา มา รู ลิโอ เดส) ถึงจะใช้ชื่อเดียวกันแต่ลักษณะของมันเพียงแค่คล้ายกัน เปรียบเทียบแล้วยังต่างกันมากกว่าของอินโดนีเซียกับมาเลเซียด้วยซ้ำไป

ปลาช่อนข้าหลวงของไทยนั้นมีสีส้มจัด ในขณะที่มาเลเซียออกไปทางสีเหลืองซีด ลายบั้งสีดำบ้านเราเป็นแนวเรียงแถวชัดเจนถึงแต่ละตัวจะลายไม่เหมือนกันแต่แนวทางก็จะเป็นบั้งเหมือนกันทุกตัว ในขณะที่ของมาเลเซียเกล็ดสีดำบนลำตัวจะไม่ได้เรียงตัวในลักษณะบั้ง และลวดลายครีบหลังก็แตกต่างกัน

Advertisements

เดิมทีปลาช่อนข้าหลวงพบได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทางภาคใต้ไล่ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงมาจนถึงนราธิวาส มีชื่อเล่นอีกหนึ่งชื่อว่า “ช่อนทอง” ในภายหลังพบว่า ปลาที่เจอส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกับปลาทางมาเลเซียมากกว่า ยกเว้นเพียงแหล่งเดียวที่ปลาช่อนข้าหลวงมีลักษณะเฉพาะที่เราเคลมกันว่านี่แหละช่อนข้าหลวงของไทย นั่นก็คือ “เขื่อนเชี่ยวหลาน”

ปลาช่อนข้าหลวงในตลาดปลาสวยงาม

เมื่อมีคนนำเสนอปลาชนิดนี้ให้ตลาดปลาสวยงามรู้จัก ปลาก็เริ่มเป็นที่กล่าวถึงด้วยความที่ลวดลายและรูปลักษณ์ของมันค่อนข้างสวยงามมีความพิเศษ

ความต้องการก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ตามที่เล่าด้านบนว่าปลามันหามาได้ยังไง จะไปซื้อเอาทีละหลายสิบตัวมันก็ไม่มีใครหาได้ไง ทีนี้พอหายากราคาก็เริ่มสูงขึ้นมันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ..อีกสิ่งที่เลี่ยงไม่ค่อยจะได้ก็คือ “งานก๊อปเกรดเอ”

ปลาช่อนข้าหลวงจากทางมาเลเซีย ถูกนำเข้ามาและขายในชื่อของปลาช่อนข้าหลวงไทย ตามที่เล่าให้ฟังข้างต้นมันคล้ายกันจริง แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว คือถ้าขายแล้วบอกว่าเป็นของมาเลเซียก็ไม่น่าโกรธนะ เค้าพูดความจริง แต่ที่หลอกขายว่าเป็นของไทยทั้งที่รู้ว่าเอาเข้าจากมาเลเซียเนี่ยก็เกินไปจริงๆ ไร้ศีลธรรม

ทางมาเลเซียเค้ามีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ เป็นปลาที่หาได้ง่ายทั่วไปในประเทศเค้า ซึ่งมีประกวดปลาช่อนข้าหลวงด้วยนะ เห็นมีสายพัฒนาสีเรียกกันว่า Red Kalimantan ดีไมดีเดี๋ยวนี้สีอาจจะแจ่มว้าวไปกว่าของไทยแล้วก็ได้ ซึ่งปลาเดี๋ยวนี้ของทางมาเลเซียลวดลายก็มาคล้ายกับทางของไทยมากขึ้น

ก็ไม่รู้เค้าเอาพันธุ์เราไปเพาะแล้วมัง ก็พันธุ์ทางนี้ได้ราคาดีทำไมจะไม่เอาไปเพาะล่ะ เทคนิคการเพาะก็มีอยู่แล้วเพาะแล้วส่งกลับมาขายที่ไทยด้วยเด้อ ..อ้อ… ลืมอีกแล้วว่ามันผิดกฎหมายห้ามนำเข้า

การเลี้ยงปลาช่อนข้าหลวงในตู้ปลา

การเลี้ยงปลาช่อนข้าหลวงในตู้ปลาสวยงามนั้น เมื่อมันเป็นปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เรื่องแรกเลยที่ผู้เลี้ยงต้องเผชิญคือ อาการตื่นคน ไม่ยอมกินอาหาร ก็ต้องพยายามต่อไปครับมันอดอาหารได้หลายสัปดาห์ไม่ต้องห่วง ..ถ้าปลาเราไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก การจะให้กุ้งฝอยก็ควรเด็ดกรีมันออกก่อนนะครับ กรีทิ่มท้องลำไส้อักเสบปลาไม่กินอาหารผอมตายได้จริง

สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือการจัดแต่งตู้ อย่างแรกเลยต้องมีฝาปิดที่ดี ปลาช่อนชอบกระโดดมาก เมื่อมันเห็นรูช่องไฟเพียงเล็กน้อยมันจะพุ่งเข้าหาช่องนั้นแหละเรียกว่าต้องปิดให้มิดชิดเลย

Advertisements

หากคาดหวังให้ครีบเครื่องปลาสมบูรณ์อยู่เสมอ ก็ควรเลี้ยงแค่ตัวเดียวต่อตู้ ถ้าเราเลี้ยงหลายตัวไม่ว่าเราจะหาที่หลบกำบังหลีกเลี่ยงการประทะ พื้นที่กว้างขวาง แต่มันก็จะมีจ่าฝูงอยู่ดี และตัวที่ไม่ใช่จ่าฝูงก็จะถูกแทะถูกเล็มเป็นประจำ ขนาดตู้ใหญ่สักเมตรนึงก็ดี แล้วก็อย่าซ่าส์ให้อาหารจากมือ เดี๋ยวปลาจะได้วิตามินเป็นเนื้อมนุษย์เสริมไปด้วย

นอกจากนั้นผู้เลี้ยงควรทำความรู้จักกับสารแทนนิน (Tannin) ..แทนนิน เป็นสารที่ให้รสฝาดพบในพืชหลายชนิด ผลไม้ดิบ เปลือกหรือเมล็ดของผลไม้ เช่น เปลือกมังคุด เปลือกมะพร้าวอ่อน แทนนินเป็นสารตั้งต้นสำคัญในปฎิกริยาเกิดสีน้ำตาล และยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์

ผู้เลี้ยงสามารถเพิ่มแทนนินในตู้ปลาได้จากใบหูกวางแห้ง ขอนไม้ประดับที่เปลี่ยนสีน้ำให้เป็นสีน้ำตาลได้ ทั้งสองอย่างนี้แช่ทิ้งไว้สักสองสามวันน้ำจะเริ่มเปลี่ยนสี จะช่วยให้สีของปลาช่อนจัดจ้านชัดเจนขึ้น และยังช่วยยับยั้งแบคทีเรียบางชนิดไม่ให้เจริญเติบโต เรียกว่า ไม่ค่อยจะเห็นปัญหาเชื้อราเวลาเลี้ยงด้วยน้ำหมักใบหูกวาง บางตำรายังบอกว่าแทนนินเสริมความเงางามให้กับเกล็ดปลาวาววับอีกด้วย

สุดท้าย.. สถานการณ์ปัจจุบันของปลาช่อนข้าหลวงไม่ได้อยู่ในจุดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่ก็ไม่ได้หาเจอได้ง่ายนัก ยังพอหาได้ในตลาดปลาสวยงาม และแน่นอนสำหรับร้านของแอดมิน “ไม่มีขายครับ” 555 คือบางทีไอ้พวกปลาตัวโตๆ ปลาโชว์ ปลากินเนื้อ ไม่ใช่ว่าไม่มีของหรือหาไม่ได้นะครับ แต่แค่นึกกระบวนการส่งสินค้าในประเทศให้มันไปถึงหน้าบ้านลูกค้าไม่ออก เมื่อวันก่อนไปเจอ ปลาสะแงะ มาสามตัวอย่างเท่ห์อะ ถ้าตัดสินใจซื้อมาเลี้ยงในฟาร์มคงได้เขียนนิทานเรื่องสะแงะให้ฟังกัน ..จบ

อ้างอิงงานเขียนจาก เพจ Thai Fish Shop

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มาThai Fish Shop