แพงระยับ ‘บาร์กา’ ปลาช่อนหายากและสวยที่สุดในโลก

ปลาช่อนบาร์กา (Barca Snakehead) หนึ่งในปลาช่อนที่หายากที่สุดในโลก และมันก็ถูกจัดเป็นปลาช่อนที่แพงที่สุดในโลกอีกด้วย มีรายงานการซื้อขายเป็นคู่หากสวยหน่อยจะอยู่ราวๆ 6 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ คู่ละ 2 แสนบาท มันเป็นปลาที่แพงระยับ และสาเหตุที่มันแพงขนาดนี้ นอกจากจะสวยหายากแล้ว มันเกือบจะไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในที่เลี้ยงอีกด้วย ...เอาล่ะเรามาดูเรื่องราวของปลาชนิดนี้กัน

ปลาช่อนแพงที่สุดในโลก

ปลาช่อนบาร์กา (Barca snakehead) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “ชานนา บาร์กา Channa barca” เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) มีความยาวประมาณ 80 – 90 เซนติเมตร แต่ก็เคยมีรายงานการพบตัวที่ยาวถึง 1 เมตร มีอายุขัยประมาณ 10 – 15 ปี เป็นปลาที่มีสีสันสวยงามมาก ปกติจะมีสีเขียวและเหลืองประกอบกับจุดสีดำและแดงกระจายทั่วบริเวณส่วนหัว, ลำตัว และครีบ มีหัวที่หัวโตและปากกว้างจนดูแปลกประหลาด จนได้ชื่อว่าเป็นปลาช่อนที่มีความสวยงามที่สุดในโลก

ปลาช่อนบาร์กาเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำคงคา ในรัฐอัสสัมและรัฐเบงกอลตะวันตกในประเทศอินเดีย และอาจพบในบางส่วนของบังกลาเทศ แต่ปัจจุบันถือว่าพบได้ยากมาก จนเป็นปลาที่อยู่ในสถานะขาดข้อมูล แต่ในบังกลาเทศถือว่าอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

โดยปลาช่อนชนิดนี้เป็นปลาที่ทำรังด้วยการขุดรูบริเวณริมฝั่ง ซึ่งจะขุดให้ลึกประมาณ 1 เมตร และภายในจะมีพื้นที่เหนือน้ำเพื่อที่มันจะได้ขึ้นมาหายใจได้ และมันจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในนั้น จะโผล่ออกมาเมื่อมันต้องหาอาหาร แถมบางทีออกมาแค่ส่วนหัวด้วย

ในเรื่องสีสันของปลาชนิดนี้ จะไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเป็นเพศอะไร แต่เราสามารถดูได้จากรูปร่างของครีบที่ลำตัวปลา โดยตัวผู้จะมีครีบหลัง ครีบอก ครีบก้นที่ใหญ่กว่าตัวเมียและลำตัวก็ผอมยาวกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ตัวเมียจะมีครีบที่เล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด และในตัวเมียจะมีลำตัวมีลักษณะค่อนข้างป้อมสั้นกว่าตัวผู้ ส่วนเรื่องสีของปลาชนิดนี้ก็จะขึ้นอยู่กับค่าน้ำสภาพแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆ

ทั้งนี้ปลาช่อนบาร์กา ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในปลาช่อนที่หายากที่สุดในโลก ทำให้เป็นปลาสวยงามที่มีราคาแพงมากชนิดหนึ่ง และสำหรับในประเทศไทยมันเป็นปลาที่มีประวัติการนำเข้ามาจำหน่ายเพียงแค่ไม่กี่ตัว

แน่นอนว่าเคยมีการหลอกเอาปลาช่อนชนิดอื่นมาขายแล้วบอกว่าเป็นบาร์กา เนื่องจากยังมีปลาช่อนบางชนิดที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน อย่างเช่น ปลาช่อนออแรนติ หรือ ปลาช่อนเจ็ดสียักษ์ (Channa Ayrantimaculata) ที่มีความสวยงามและลักษณะใกล้เคียงกับปลาช่อนบาร์กามาก โดยเฉพาะเมื่อพวกมันยังเล็ก

สำหรับนิสัยของปลาช่อนชนิดนี้ คงต้องบอกว่าบาร์กาเป็นปลาที่ดุร้ายและก้าวร้าวมาก มันเกือบจะไม่สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาตัวอื่นได้ โดยเฉพาะกับปลาช่อนบาร์กาตัวผู้ด้วยกัน เพราะมีโอกาสสูงมากที่พวกมันจะกัดกันเละ มันดุจนถึงขนาดที่ว่าอาจจะกัดกันทันทีเมื่อออกจากถุงลงตู้กระจกเลยด้วยซ้ำ แต่การเลี้ยงรวมกับตัวเมียสามารถทำได้ง่ายกว่า

การเลี้ยงปลาชนิดนี้ในไทยอาจลำบากเล็กน้อย เพราะบาร์กาเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิระหว่าง 10-24 องศาเซลเซียส หากต้องการเลี้ยงให้ดีจึงต้องเลี้ยงในห้องแอร์หรือไม่ก็ต้องใช้ชิลเลอร์ช่วย ส่วนค่า pH ที่เหมาะสมคือ 6 – 8 และ TDS 37 – 355

มันเป็นปลาที่มีพฤติกรรมการกินอาหารที่เข้มงวด ในตอนเล็กๆ มันเป็นปลากินเนื้อที่ชอบแมลงกับหอยทากเป็นพิเศษ พอโตขึ้นจะเริ่มกิน ปู ปลา กบ กุ้ง และสัตว์น้ำขนาดเล็ก

ปลาช่อนบาร์กาเป็นปลาที่หายากมากและก็สวยงามเช่นกัน มีรายงานการซื้อขายขนาดอยู่ราวๆ 3,500 เหรียญต่อตัว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความสวย ส่วนการหาซื้อในไทยก็ถือว่ายากมาก และยังต้องระวังถูกหลอกเอาปลาอื่นมาย้อมแมวขายด้วย

ต่อไปมาดูปลาช่อนชนิดอื่นที่ใกล้เคียงกันกับบาร์กา … ในโลกนี้มีปลาช่อนที่อยู่ในวงศ์เดียวกับปลาช่อนบาร์กาอย่างน้อย 35 ชนิด แน่นอนว่าต้องมีหลายชนิดที่มีความสวยงามใกล้เคียงกับบาร์กา แต่จะถูกกว่าและหามาเลี้ยงได้ง่ายกว่า และตรงนี้ก็ดูกันไว้เพื่อจะได้รู้จัก แล้วจะได้ไม่โดนหลอกว่าเป็นปลาช่อนบาร์กา

ชนิดที่ 1 – ปลาช่อนเอเชียติกา (Channa Asiatica)

Advertisements

ปลาช่อนเอเชียติกา หรือ ปลาช่อนสีจีนใต้ (Small snakehead, Chinese snakehead) เป็นปลาที่มีความสวยงามมาก พบในแถบตอนกลางและตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสวิ๋นในมณฑลกวางสี และกวางตุ้ง ในประเทศจีน และยังพบในเกาะไหหลำไปจนถึงแม่น้ำแดงในประเทศเวียดนาม

ปลาช่อนเอเชียติกา (Channa Asiatica)

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 35 เซนติเมตร เป็นปลาช่อนอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในฐานะของการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาแพงมาก โดยเฉพาะในปลาที่มีจุดสีแดงขนาดใหญ่ ที่ใช้ชื่อว่า “Red Spot” ซึ่งเพาะพันธุ์ในประเทศญี่ปุ่น

ชนิดที่ 2 – ปลาช่อนพัลชรา (Channa Pulchra)

ปลาช่อนพัลชรา หรือ ปลาช่อนพม่าจุดส้ม (Burmese peacock snakehead) เป็นปลาช่อนที่มีความสวยงามมากอีกชนิด มีความยาวเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร พบ ในต้นน้ำของรัฐยะไข่ ประเทศพม่า

ปลาช่อนพัลชรา (Channa Pulchra)

ชนิดที่ 3 – ปลาช่อนออแรนติ (Channa Ayrantimaculata)

ปลาช่อนออแรนติ หรือ ปลาช่อนเจ็ดสียักษ์ (Orange-spotted snakehead) มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาช่อนบาร์กา (C. barca) แต่มีส่วนหัวที่แบนกว่า สีพื้นของลำตัวและหัวเป็นสีเหลืองทอง แต่เกล็ดทั้งส่วนหัวและลำตัวมีจุดสีน้ำตาลเข้มขนาดใหญ่ ยกเว้นบริเวณข้างลำตัวที่เป็นลายแถบแนวขวางไม่เป็นระเบียบหรือเป็นแต้มกลมขนาดใหญ่ และยังมีสีเหลืองทองเรียงกันในแนวยาว

ปลาช่อนออแรนติ (Channa Ayrantimaculata)
Advertisements

มีความยาวเต็มที่ประมาณ 45 เซนติเมตร โตเต็มที่ได้ถึง 60 เซนติเมตร พบในแม่น้ำรามบุตรา ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร ทางตอนเหนือรัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศของประเทศอินเดีย

ก็จบแล้วนะครับสำหรับเรื่องปลาช่อนบาร์กา ..จริงๆ เรื่องนี้ผมเคยทำไปแล้ว แต่มันไม่ค่อยดีเลยจับมาแก้ไข และหากต้องการรู้เรื่องของปลาช่อน ทั้ง 35 ชนิด ก็สามารถดูได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements