ประวัติ ‘กุ้งก้ามแดง’ ตั้งแต่วันที่เข้าไทย จุดพีคสุด จนตลาดวาย และตอนนี้เป็นเช่นไร

เชื่อว่าคนที่กำลังฟังเรื่องนี้หลายคนน่าจะเคยเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชกันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะช่วงที่มันฮอตฮิตในช่วง ปี พ.ศ. 2558 - 2559 ซึ่งถือเป็นยุคทองของกุ้งเครย์ฟิชเลยก็ว่าได้ เอาล่ะมาดูเรื่องราวของพวกมันกัน

กุ้งก้ามแดง

ถ้าจำไม่ผิดกุ้งธรรมดาๆ อย่าง “กุ้งก้ามแดง” พ่อแม่พันธุ์ยังถีบราคาไปคู่ละ 1 – 2 พันบาทเลย ส่วนชนิดที่แพงระยับแบบจะปั่นกันให้ตายไปเลยก็คือ “กุ้งโกส” ที่เคยมีประวัติซื้อขายหรือปั่นไปเป็นตัวละเป็นล้านบาท! แน่นอนว่าในช่วงเวลานั้นก็ต้องมีคนจำนวนมากที่เห็นโอกาสทำเงิน ก็เลยลงเงินไปกับกุ้งพวกนี้ บางคนก็ได้กำไร บางคนก็น่าจะขาดทุนยับ

ส่วนตัวผมเองบอกเลยว่าเคยลงเงินไปกับเรื่องนี้เช่น แม้จะเข้ามาช้าชาวบ้านส่วนใหญ่ แต่ผมยังดีที่ปล่อยกุ้งออกไปเกือบหมดก่อนที่ตลาดวาย ก็ถือว่ายังดีที่ได้กำไรมานิดหน่อย ส่วนใครที่ขาดทุนยับก็ขอแสดงความเสียใจด้วย …เอาล่ะต่อไปเป็นเรื่องราวของ “กุ้งก้ามแดง” ในประเทศไทย

การมาถึงไทยของกุ้งเครย์ฟิช

Advertisements

เริ่มแรกในปี พ.ศ. 2530 กุ้งเครย์ฟิชถูกนำเข้ามาโดยภาคเอกชน ซึ่งเป็นกุ้งเครย์ฟิชสายพันธุ์ Procambarus clarkii (โพรแคมบารัส คลาร์กี้) หรือก็คือกุ้งแดง (Red swamp crawfish) มันเป็นกุ้งเครย์ฟิชสีแดงที่มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโกและทางตอนใต้ของอเมริกา โดยในตอนนั้นถูกเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์น้ำสวยงามและเป็นอาหารแต่ก็ไม่ได้นิยมกินกันเท่าไร

กุ้งแดง Procambarus clarkii

ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 มีการตรวจพบกุ้งเครย์ฟิชในสกุล Cherax (เชอแร็กซ์) ในประเทศไทยมากถึง 37 ชนิด โดยทั้งหมดถูกนำเข้ามาโดยภาคเอกชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 โครงการหลวงก็ได้นำเข้ากุ้งก้ามแดงสายพันธุ์ Cherax quadricarinatus (เชอแร็กซ์ ควอดริคารินาทัส) ซึ่งเป็นกุ้งในวงศ์เครย์ฟิชออสเตรเลีย (Parastacidae) โดยกุ้งในวงศ์นี้มี กุ้งน้ำจืดยักษ์แทสเมเนีย (Tasmanian giant freshwater crayfish) ซึ่งเป็นกุ้งเครย์ฟิชขนาดใหญ่ที่สุดในโลกรวมอยู่ด้วย

กุ้งก้ามแดงสายพันธุ์ Cherax quadricarinatus

หลังจากกุ้งก้ามแดงเข้ามาในประเทศไทย มันก็ถูกนำไปทดลองเลี้ยงและขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงจนมีขนาด 2 นิ้ว จากนั้นจึงถูกย้ายไปเลี้ยงในนาข้าวที่โครงการหลวง บ้านแม่กลางหลวง ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็พบว่าเป็นกุ้งที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพอากาศเมืองไทยและยังโตได้ดีอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากคนไทยไม่นิยมกินกุ้งชนิดนี้ ตลาดหลักจึงส่งให้ภัตตาคารต่างๆ แน่นอนว่าไม่สามารถหาซื้อได้ในตลาดแถวบ้าน

ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2559 ความนิยมมาถึงขีดสุด!

คงต้องบอกว่าในช่วงปี พ.ศ. 2558 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2559 ถือเป็นยุคทองของกุ้งเครย์ฟิชเลยก็ว่าได้ แต่บอกตรงๆ ว่า ผมเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่ามันไม่ใช่การเลี้ยงที่ยั่งยืน มันเป็นการเก็งกำไรต่างหาก แน่นอนว่าผมก็ลงไปเล่นกับเขาด้วย กุ้งเครย์ฟิชในตอนนั้นราคาแพงขึ้นเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะ “กุ้งก้ามแดง” และ “กุ้งโกส” ที่ไม่ว่าบ้านไหนก็เลี้ยง บางคนถึงขนาดเช่าตึกแถวเพื่อวางกะละมังสำหรับเลี้ยงกุ้งพวกนี้เลยทีเดียว

หากพูดถึงราคาแพงต่อตัวคงต้องยกให้กับสายพันธุ์ Procambarus clarkii ghost (โพรแคมบารัส คลาร์กี้ โกส) หรือที่บ้านเราเรียกกุ้งโกส เพราะในปี พ.ศ. 2558 กุ้งโกสขนาดลงเดิน มีราคาตัวละร้อยกว่าบาท และช่วงพีคราคากระโดดไปที่ตัวละหกหรือเจ็ดร้อยบาท ส่วนโตแบบสวยๆ ขี้หมูขี้หมาก็หลักพันหลักหมื่น และปั่นกันไปจนตัวเป็นล้านก็มี และแน่นอนว่าลูกๆ ของกุ้งค่าตัวแพงเหล่านี้ ก็จะแพงกว่าปกติเช่นกัน

กุ้งโกส Procambarus clarkii ghost
Advertisements

ในกรณีของกุ้งก้ามแดง ในช่วงปี พ.ศ. 2558 ถือว่ามีความต้องการที่สูงมากๆ สูงจนทะลุเพดานเลยทีเดียว มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเลี้ยงให้เป็นกุ้งเนื้อ

ในช่วงเวลานั้นมีเกษตรกรจริงและเกษตรกรสมัครเล่นหน้าใหม่มากมาย แห่กันมาซื้อพ่อแม่พันธุ์ โดยหวังจะเพาะเลี้ยงเพื่อขายลูกพันธุ์กุ้งก้ามแดง จนพ่อแม่พันธุ์ขาดตลาด ก็เปลี่ยนมาซื้อลูกพันธุ์กันอีก ต่อมาไม่นานลูกกุ้งก็ราคาทะยานขึ้นไปอีก

ถ้าจำไม่ผิดผมเคยซื้อลูกกุ้งก้ามแดงขนาดลงเดิน ตัวเกือบสิบบาท ซึ่งตอนนั้นก็คิดว่าแพงชิบ แต่ก็คิดบวกว่าเราจะมีลูกกุ้งขายแบบคนอื่นในเร็ววัน แล้วก็คิดลบว่ามันก็คงมีอีกเป็นแสนคนที่คิดแบบเรา

ถ้าจำไม่ผิดราคาพ่อแม่พันธุ์กุ้งก้ามแดงขนาด 5 – 6 นิ้ว ราคาเคยไปถึงคู่ละ 3 พันบาท จากนั้นราคาของมันก็ลงมาเรื่อยๆ ลงมาเรื่อยๆ ลงมาเรื่อยๆ ขายยากขึ้นๆ และขายยากขึ้น นั้นเพราะมันมาถึงจุดที่มีแต่คนเลี้ยง ไม่มีคนซื้อ ใครๆ กุ้งพร้อมจะปล่อย กันทั้งนั้น

จนในปี พ.ศ. 2560 ราคาพ่อแม่พันธุ์กุ้งก็ลดลงอย่างมาก จนมาเหลือไม่กี่ร้อยบาทต่อคู่ และก็ลดลงไปอีกตามเวลาที่ผ่านไป ซึ่งสุดท้ายก็ขายยากอยู่ดี จนในที่สุดตลาดก็วายโดยสมบรูณ์ และเมื่อไม่ได้เลี้ยงเพราะชอบกุ้งชนิดนี้ เมื่อขายไม่ออก มันก็ไม่มีค่าอะไร สุดท้ายก็เริ่มปล่อยกุ้งพวกนี้ทิ้งลงคลอง จนกลายเป็นหนึ่งในสายพันธุ์รุกรานที่พบได้ในไทย

แล้วตอนนี้กุ้งก้ามแดงเป็นเช่นไร?

ในตลาดกุ้งเนื้อ ถือว่ายังไม่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เราอาจจะได้เจอกับกุ้งพวกนี้ที่มีขนาดประมาณ 13 – 18 ตัวต่อกิโลกรัมในห้าง ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 500 – 700 บาท แต่อย่างเพิ่งฝันกลางวันว่ามันราคาดีแล้วจะไปเลี้ยง ต้องมาดูการส่งออกของกุ้งชนิดนี้ มูลค่าตลาดน้อยกว่าปลาซักเกอร์ซะอีก

โดยข้อมูลจากกลุ่มเศรษฐกิจการประมง กองนโยบายและยุทธศาสตร์การประมง ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยส่งออกกุ้งเครย์ฟิชไปประมาณ 145,508 ตัว ได้เงินมา 2,385,987 บาท โดยเป็นกุ้งเครย์ฟิชสายพันธุ์ Procambarus clarkii (โพรแคมบารัส คลาร์กี้) หรือก็คือกุ้งแดง 63.1% ในขณะที่เป็นกุ้งก้ามแดง 36.9%

จนในปี พ.ศ. 2560 ในช่วงเดือน มกราคม – มิถุนายน เราส่งออกกุ้งพวกนี้ไป 73,299 ตัว ได้เงินมา 1,174,819 บาท จะเห็นได้ว่าตลาดกุ้งก้ามแดงไม่ได้สดใสอย่างที่วาดฝันไว้

แม้แต่ในตอนนี้ในตลาดบ้านเราก็ยังไม่นิยมกินกุ้งชนิดนี้อยู่ดี ส่วนตลาดปลาสวยงามก็คงกลับคืนสู่ปกติ เท่าที่เดินดูในตลาดเจเจ ราคาตัวละไม่กี่บาท และคงจะขายได้เรื่อยๆ …สรุปคือควรจะเลี้ยงตอนนี้หรือไม่ก็คงต้องตัดสินใจกันดู

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกุ้งก้ามแดง

Advertisements

กุ้งก้ามแดง หรือ กุ้งเรนโบว์ (Australian red claw crayfish, Redclaw) ชื่อวิทยาศาสตร์ (Cherax quadricarinatus) เป็นกุ้งน้ำจืดที่อยู่ในวงศ์เครย์ฟิชออสเตรเลีย (Parastacidae) เป็นกุ้งที่มีสีสันค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่สีฟ้า, น้ำเงิน, น้ำเงินอมเขียว, น้ำตาลอมเขียว, สีเขียวหยก ไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะเด่น คือ มีก้ามที่เรียวยาว ไม่มีหนาม และมีแถบสีแดงที่ก้าม แต่หากยังไม่โตเต็มวัยก้ามจะเป็นสีน้ำเงิน มีความยาวเต็มที่ตั้งแต่ประมาณ 8 – 12 นิ้ว ไม่รวมก้าม

เป็นกุ้งที่มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของรัฐควีนส์แลนด์ และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ในประเทศออสเตรเลีย โดยจะหลบซ่อนอยู่ตามโขดหิน, ขอนไม้ หรือวัสดุต่างใต้น้ำ

เป็นกุ้งที่ได้รับความนิยมอย่างในการเลี้ยงเพาะขยายพันธุ์เพื่อการบริโภคเป็นอาหารทั้งในประเทศออสเตรเลียและประเทศจีน ต่อมาได้มีการเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในตู้ปลาเหมือนปลาสวยงามอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการเพาะขยายพันธุ์จนมีสีสันสวยงามกว่าสีดั้งเดิมในธรรมชาติ เช่น สีน้ำเงินเข้ม เป็นต้น และในหลายประเทศได้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีการรุกรานสิ่งแวดล้อมทางน้ำของประเทศนั้นๆ ด้วย

ต่อไปขอสรุปเรื่องนี้เล็กน้อย ..สำหรับกุ้งเครย์ฟิช ไม่ว่าจะเป็นก้ามแดงหรือชนิดอื่น หากถามว่ามันมีเยอะในธรรมชาติประเทศไทยหรือยัง? ก็คงต้องบอกว่า ตอนนี้พบเห็นหรือจับกันได้บ้างแล้ว อย่างน้อยน้องที่ผมรู้จักก็ตกได้หลายครั้ง แต่ก็คงพบได้บางพื้นที่นั้นล่ะ และอีกอย่างถ้าขึ้นชื่อว่ากุ้ง เดี๋ยวมันก็คงถูกกินอยู่ดี คงไม่ถึงกับระบาดจนน่าสะพรึงกลัวแบบปลาซักเกอร์ได้

แต่ถึงอย่างงั้นหากคุณเลี้ยงสัตว์ต่างถิ่น ก็ไม่ควรปล่อยพวกมันเข้าสู่ธรรมชาติ ถ้าไม่อยากเลี้ยงต่อก็ให้คนอื่น หรือไม่ก็ทำลายมันทิ้งไปเลย แต่จะว่าไปกรณีของกุ้งก้ามแดง ก็ทำให้นึกถึงกล้วยด่างที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งปั่นกันไปต้นละล้านหรือเอาที่ดินมาแลก…ไม่เคยจำกันจริงๆ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements