ประวัติที่น่าเศร้าของ ‘ปลาหางไหม้ไทย’ ที่หายไปจากโลกแบบไม่เหลือแม้แต่ในตู้ปลา

หลายคนที่เลี้ยงปลาสวยงาม น่าจะเคยเห็น เคยได้ยินชื่อหรืออาจเลี้ยง "ปลาฉลามหางไหม้" หรือ "ปลาหางไหม้" กันมาบ้างแล้ว และจะต้องคิดว่าปลาหางไหม้ จะสูญพันธุ์ได้ไง ก็ในเมื่อมีเต็มตลาด แต่! ต้องบอกว่าปลาฉลามหางไหม้ทั้งหมดที่เลี้ยงในตอนนี้ไม่ใช่หางไหม้ไทย นั้นเพราะหางไหม้ไทยคาดว่าจะสูญพันธุ์ไปมากกว่า 40 ปีแล้ว และสำหรับข้อมูลนี้มีหลายส่วนที่อ้างอิงจากงานเขียนของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เจ้าของเพจ หนังสือปลาน้ำจืดไทย

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน?

Advertisements

ผมว่าปลาหางไหม้ น่าจะเป็นปลาที่นักเลี้ยงรุ่นอายุประมาณ 30 หรือ 40 ปี รู้จักกันดี ปลาหางไหม้ในสมัยนั้นก็จะเหมือนกับตอนนี้ มันเป็นปลาหางไหม้ที่มีลำตัวออกสีเงิน ครีบทั้งหมดจะเป็นครีบใสและมีขอบสีดำ โดยปลาพวกนี้เราจะเห็นได้ตามร้านขายปลาสวยงาม พวกมันเลี้ยงง่ายและราคาถูก แต่ทั้งหมดไม่ใช่ปลาหางไหม้ไทย

ปลาหางไหม้ (อินโดนีเซีย) / Bala shark, Silver shark / Balantiocheilos melanopterus

แต่หากมองย้อนกลับไปไกลหน่อย เอาสักประมาณ 50 ปีก่อน มันน่าจะเป็นช่วงปี พ.ศ. 2510 ที่ประเทศไทยเริ่มส่งออกปลาสวยไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งปลาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนั้นคือ ปลาทรงเครื่อง ปลากาแดง และ ปลาหางไหม้ ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้ส่งออกปลาในสมัยนั้น

เล่าว่าปลาทรงเครื่องและปลากาแดง จะจับได้มากในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ไล่ตั้งแต่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี ลงมาทางอำเภอท่าม่วง และมาสิ้นสุดเอาแถวๆ อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ส่วนปลาหางไหม้นั้น จะจับกันมากในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสัก

โดยหางไหม้ในสมัยนั้น จะขายกันที่ขนาด 4 นิ้วขึ้นไป หางไหม้ในยุคนั้นจะไม่มีโคนครีบใสเหมือนหางไหม้ในยุคนี้ แต่จะมีโคนครีบสีเหลือง และมีขอบสีดำที่แคบกว่า มีเกล็ดบนลำตัวสีเหลืองอ่อนๆ ปากมนทู่กว่าหางไหม้ในยุคปัจจุบัน และก็ไม่ได้มีขายกันตลอดทั้งปี แต่จะมีเฉพาะช่วงกลางและปลายฤดูฝนเท่านั้น และพวกมันก็เลี้ยงได้ยากแถมแพงด้วย

ภาพถ่ายที่เชื่อว่าเป็นปลาหางไหม้ไทย / Burnt-tailed barb, Siamese bala-shark / Balantiocheilos ambusticauda / ภาพจากนิตยสารปลาสวยงามของนอร์เวย์ ไม่ทราบปี

สาเหตุที่ปลาหางไหม้ทั้ง 2 ยุคนี้ไม่เหมือนกัน ก็เพราะหางไหม้ในปัจจุบันเป็นปลาที่ได้จากการการผสมเทียมในที่เลี้ยง และเนื่องจากเกิดในที่เลี้ยง จึงเลี้ยงง่ายกินง่ายและปรับตัวได้ดี และเชื่อว่าพ่อแม่พันธุ์ปลาหางไหม้พวกนี้มาจากประเทศอินโดนีเซีย

นับถอยหลังสู่การสูญพันธุ์ของปลาหางไหม้ไทย

ในยุคที่แม่น้ำประเทศไทยยังไม่มีเขื่อน เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ พืชบกอย่างพวกหญ้า กก หรือแม้แต่ตอซังข้าว ก็จะเริ่มเน่าเปื่อย จนกลายเป็นอาหารของสัตว์เล็กๆ ซึ่งจะกลายมาเป็นอาหารของพวกลูกปลาอีกต่อหนึ่ง พ่อแม่ปลาก็จะตามมาวางไข่และผสมพันธุ์กันในพื้นที่น้ำท่วมเหล่านี้

และก็เป็นช่วงนี้เองที่เหมาะในการรวบรวมพันธุ์ปลา ซึ่งคุณวิฑูรย์ เทียนรุ่งศรี ผู้ที่ทำกิจการค้าส่งปลาสวยงามในนามของบริษัท ไวท์เครนอควาเรียม เล่าย้อนไปว่า ในช่วงต้นฤดูฝน หรือประมาณกลางเดือน พฤษภาคม เป็นช่วงที่โรงเรียนเพิ่งเปิด

ตัวอย่างปลาหางไหม้ไทยจากพิพิธภัณฑ์ ม.เกษตรศาสตร์ / nonn panitvong
Advertisements

พอกลับมาจากโรงเรียน คุณวิฑูรย์ก็จะไปหาซื้อปลาพวกนี้กับคุณแม่ วิธีการจับในสมัยนั้น จะใช้ฟางข้าวมัดเป็นกำใหญ่ๆ แล้วลอยไว้ตามทุ่งน้ำท่วม โดยโยงเชือกผูกหลักไว้ไม่ให้ไหลหนี ทิ้งไว้ไม่นานลูกปลาก็จะเข้าไปหลบอยู่ในนั้น จากนั้นก็ใช้สวิงขนาดใหญ่ช้อนรวบขึ้นมาทั้งกอ ปลาที่ได้จะเป็นลูกปลาขนาดเล็กมาก คือตัวประมาณเมล็ดข้าวสาร ปะปนกันมาหลายชนิด แต่ปลาที่รับซื้อเป็นหลักจริงๆ จะมีแค่ 3 ชนิดคือ ปลากาแดง ปลาทรงเครื่องและปลาลูกผึ้ง

สำหรับ ปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง ถือว่าแพงในสมัยนั้น แม้จะมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารก็มีราคาตัวละประมาณ 10 สตางค์ และบางช่วงจะแพงถึง 25 สตางค์ แต่ถ้าขนาด 2 นิ้ว อาจขายได้ถึง 10 บาท ซึ่งถือว่าแพงมาก เพราะมันเป็นราคาในสมัย 40 – 50 กว่าปีก่อน

และในยุคที่ปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง มีราคาแพงนั้น ปลาอีกชนิดที่หายากและแพงกว่าก็คือ “ปลาหางไหม้”ปลาชนิดนี้คุณวิฑูรย์เล่าว่ามีราคาเฉลี่ยประมาณ 50 สตางค์ หรืออาจถึง 1 บาท มันเป็นปลาที่จับได้ในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำเริ่มลดลงหลังจากที่น้ำหลากท่วมทุ่ง

จนในปี พ.ศ. 2515 ปลาหางไหม้ที่เคยจับขายได้หลายพันตัวต่อปี ก็เหลือไม่ถึงร้อยตัว และในปีต่อๆ มาปลาชนิดนี้ก็หายากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปลาที่จับได้เพียงไม่กี่ตัว จนในที่สุดก็หายไปจากตลาด

ภาพปลาหางไหม้ ตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ในปีพ.ศ.2516

ปัญหาของปลาหางไหม้ในยุคนั้นคือ พวกมันเป็นปลาที่เปราะบาง เกล็ดหลุดง่าย ครีบแตกและตกใจง่าย นอกจากนั้นยังเป็นปลาที่กระโดดได้เก่งมาก พวกมันอาจกระโดดได้สูงถึง 2 เมตร สรุปคือพวกมันเป็นปลาที่มีอัตรารอดที่ต่ำกว่าปลาส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ปลาที่จับมาได้นับหมื่นตัว จะมีตายไปนับพันตัวก่อนที่จะถึงมือผู้รับซื้อซะอีก

ให้ลองคิดดูถึงความหายากขึ้นเรื่อยๆ ของปลาหางไหม้เมื่อสมัย 40 – 50 ปีก่อน พวกมันเริ่มจากราคา 25 สตางค์ เป็น 50 สตางค์ เป็น 1 บาท 5 บาท 10 บาท 100 บาท จนถูกประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ มันก็มีราคาไปถึง 2,000 บาท เลยทีเดียว

และในตอนนี้ปลาหางไหม้ไทยก็อยู่ในสถานะอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว และไม่มีเหลือแม้แต่ในตู้ปลา และสิ่งที่หลักดันให้พวกมันต้องสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว นอกจากการจับที่มากเกินไป สร้างเขื่อนจำนวนมากก็เป็นเหตุผลหลักเช่นกัน และเขื่อนแรกๆ ที่สร้างในไทยคือ

  • เขื่อนพระราม 6 ขวางแม่น้ำป่าสัก สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2467
  • เขื่อนเจ้าพระยา ขวางแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2499
  • เขื่อนภูมิพล ขวางแม่ปิง สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2507
  • เขื่อนแม่กลอง ขวางแม่กลอง สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2514
  • เขื่อนสิริกิติ์ ขวางแม่น้ำน่าน สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2515
  • เขื่อนศรีนครินทร์ ขวางแควใหญ่ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2523
  • เขื่อนวชิราลงกรณ์ ขวางแควน้อย สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2528

ในช่วงนั้นน้ำที่เคยท่วมทุ่งกลับถูกกักไว้ในเขื่อน เมื่อขาดทุ่งน้ำท่วมปลาก็ขาดแหล่งทำรัง วางไข่ และ ขาดแหล่งอนุบาลของลูกปลาไปด้วย ปลาน้ำจืดของประเทศไทยจึงมีจำนวนลดลงอย่างมากในช่วงนั้น ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มปลาที่หายากในธรรมชาติอย่างเช่น ปลากาแดง ทรงเครื่อง หมูอารี ซิวสมพงษ์ และ หางไหม้

และเมื่อปลาขนาดเล็กหายไป ปลาล่าเหยื่อก็หายไปเช่นกัน อย่างในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปลาเทพา และ ปลาฝักพร้า ซึ่งเป็นปลาล่าเหยื่อ ได้หายไปจากลุ่มน้ำอย่างถาวร ซึ่งสมมุติฐานนี้ก็ไปตรงกับข้อมูลในหนังสือ “ปลาไทย” ซึ่งเขียนโดย คุณวันเพ็ญ มีนกาญจน์ และตีพิมพ์โดยกรมประมงในปี พ.ศ.2528

ซึ่งเขียนไว้เกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของปลาหางไหม้ว่า “หลังจากการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ในปี พ.ศ.2499 ปรากฏว่าจำนวนปลาหางไหม้ในแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลงมาก จนถึงปัจจุบันไม่เคยพบปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติอีกเลย …เข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว”

ภาพ ปลาหางไหม้ไทยจากหนังสือ “ปลาไทย” ตีพิมพ์โดยกรมประมงในปี พ.ศ. 2528
Advertisements

อย่างไรก็ตาม ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาไทยอีกท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า หากนำจำนวนตัวอย่างของปลาหางไหม้ในพิพิธภัณฑ์ของไทย เปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่นที่เก็บตัวอย่างในยุคเดียวกัน จะเห็นว่าตัวอย่างปลาหางไหม้มีอยู่น้อยมาก

ซึ่งทำให้คาดเดาได้ว่าปลาหางไหม้นั้น แต่เดิมแม้แต่ในธรรมชาติเมื่อเปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่น ก็เป็นปลาที่มีจำนวนไม่มากอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่ปลาหางไหม้ อาจจะต้องการปัจจัยเฉพาะอะไรสักอย่าง ซึ่งมีอยู่น้อยในธรรมชาติเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ และเมื่อมนุษย์ได้ทำลายตรงนั้นไปแล้ว ปลาหางไหม้จึงไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป

มาถึงท้ายเรื่องก็ขอสรุปสักเล็กน้อย ..จริงๆ ก็ควรจะพูดถึงหางไหม้อินโดด้วย แต่กลัวจะยาวเกินไปแล้วจะเบื่อกัน เลยขอเอาไว้พูดถึงที่คลิปอื่นๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เทคโนโลยีการผสมเทียมนั้นคาดกับช่วงที่ปลาหางไหม้ไทยยังมีอยู่ในบ้านเรา พวกมันจึงไม่มีโอกาศที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป ในตอนนี้ก็คงทำได้แค่เพียงเลี้ยงหางไหม้อินโดกันไปก่อน

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements