7 ปลาจิ้มฟันจระเข้ ที่พบได้ในประเทศไทย

หากพูดถึงปลาจิ้มฟันจระเข้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะคิดว่า ปลาชนิดนี้คงมีหนึ่งหรือสองชนิด หรือบางคนอาจไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ แต่จริงๆ แล้ว ปลาที่ใช้ชื่อว่า "ปลาจิ้มฟันจระเข้" ที่พบในประเทศไทย มีมากถึง 7 ชนิด และส่วนใหญ่ก็เป็นปลาน้ำจืด โดยลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นวงศ์หรือสกุลไหน ก็จะมีลักษณะคล้ายกับม้าน้ำ เพียงแต่ปลาจิ้มฟันจระเข้จะมีลำตัวที่ยาวตรง และต่อไปนี้จะเป็นเรื่องราวย่อๆ ของปลาจิ้มฟันจระเข้ทั้ง 7 ชนิดที่พบได้ในไทย

ปลาจิ้มฟันจระเข้

ชนิดที่ 1 – ปลาจิ้มฟันจระเข้น้ำกร่อย

Advertisements

ปลาจิ้มฟันจระเข้น้ำกร่อย เป็นปลาที่อยู่ในสกุล Ichthyocampus (อิคไทโอแคมปัส) ซึ่งปลาในสกุลนี้มีอยู่ 2 ชนิด และในประเทศไทยก็พบได้ 1 ชนิด ซึ่งก็คือ ปลาจิ้มฟันจระเข้น้ำกร่อย ที่ยาวได้ประมาณ 15 เซนติเมตร หากเทียบกับปลาจิ้มฟันจระเข้ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด ปลาจิ้มฟันจระเข้น้ำกร่อยจะมีลำตัวค่อนข้างอ่อนกว่า ปากก็สั้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด และยังมีจุดสีฟ้าประมาณ 15 จุด ซึ่งจะเรียงตัวไปตามยาวตรงส่วนท้อง ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้ท้องจะเป็นสีแดงสด

ปลาจิ้มฟันจระเข้น้ำกร่อย  / Ichthyocampus carce (Hamilton, 1822)

ในประเทศไทยมักจะพบปลาชนิดนี้บริเวณน้ำกร่อยและปากแม่น้ำฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดตราดจนถึงจังหวัดนราธิวาส เป็นปลาที่บางครั้งก็พบได้ในตลาดปลาสวยงาม

ชนิดที่ 2 – ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์

ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ อยู่ในสกุล Doryichthys (โดริอิทธิส) ปลาในสกุลนี้มีอยู่ 5 ชนิด และพบได้ในไทย 4 ชนิด โดยปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ จะยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีรูปร่างเรียวยาวคล้ายกิ่งไม้ มีปากที่ยาว ลำตัวดูเป็นเหลี่ยม เกล็ดมีลักษณะเป็นแผ่นกระดูกแข็ง ที่ส่วนลำตัวจะมีวงแหวนสีฟ้าอมเทาสลับน้ำตาล ประมาณ 22 – 24 ปล้อง ส่วนหางจะมี 32 – 38 ปล้อง

ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ / Doryichthys boaja (Bleeker, 1850)

เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำสายใหญ่ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง หรือทะเลสาบสงขลาก็พบได้เช่นกัน ปลาชนิดนี้มักถูกจับส่งขายเป็นปลาสวยงาม และยังถูกนำไปตากแห้งเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบยาจีนอีกด้วย

ชนิดที่ 3 – ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธารปากสั้น

ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ หรือ ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธารปากสั้น เป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกับปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ มันมีขนาดประมาณ 14 เซนติเมตร ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีลำตัวที่ยาว มีสีค่อนข้างซีด ปากก็สั้น โดยเฉพาะเมื่อต้องเทียบกับปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ และยังหาได้ยากกว่าด้วย

ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธารปากสั้น / Doryichthys martensii (Peters, 1868)
Advertisements

ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธารปากสั้นจะอาศัยอยู่ในลำธารบริเวณที่ราบ แถวๆ จังหวัดทางภาคตะวันออกและทางภาคใต้ เป็นปลาที่ถูกจับส่งขายเป็นปลาสวยงาม

ชนิดที่ 4 – ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธารปากยาว

Advertisements

ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธารปากยาว อยู่ในสกุล Doryichthys (โดริอิทธิส) เมื่อเทียบกับปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธารปากสั้น ปลาชนิดนี้จะมีลำตัวที่อวบหนากว่า ปากก็ยาวกว่า โดยปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธารปากยาว มีความยาวประมาณ 18 เซนติเมตร ลำตัวมี 17-20 ปล้อง ส่วนหางจะมี 28 – 34 ปล้อง

ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธารปากยาว / Doryichthys deokhatoides (Bleeker, 1854)

พบในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย ชอบอาศัยอยู่ในลำธารบริเวณที่ราบ โดยเฉพาะท้ามกลางต้นหญ้า รากไม้หรือพืชริมฝั่งในแม่น้ำที่ไหลเอื่อยๆ อาจพบได้ในตลาดปลาสวยงาม แต่ก็เป็นปลาที่หาได้ค่อนข้างยาก

ชนิดที่ 5 – ปลาจิ้มฟันจระเข้แม่โขง

ปลาจิ้มฟันจระเข้แม่โขง ซึ่งอยู่ในสกุล Doryichthys (โดริอิทธิส) และถือเป็นปลาจิ้มฟันจระเข้ชนิดใหม่ล่าสุดของสกุลนี้ เป็นปลาจิ้มฟันจระเข้ที่ยาวเพียง 11 เซนติเมตร พบในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนและตอนล่างของประเทศไทย ชอบอาศัยในแม่น้ำและคลองขนาดเล็ก อยู่ตามหญ้า รากไม้หรือพืชริมฝั่งโดยเฉพาะที่รกๆ เป็นปลาที่หาได้ยากที่สุดในกลุ่มปลาจิ้มฟันจระเข้ที่พบในไทย

ปลาจิ้มฟันจระเข้แม่โขง / Doryichthys contiguus (Kottelat, 2000)
Advertisements

ชนิดที่ 6 – ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระแม่โขง

ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระแม่โขง หรือ ปลาเหล็กในแม่โขง เป็นปลาที่อยู่ในสกุล Indostomus (อินโดสโตมัส) ซึ่งจะมีอยู่ทั้งหมด 3 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด โดยปลาจิ้มฟันจระเข้แคระแม่โขง เป็นปลาที่มีขนาดเล็กมาก โดยปกติจะยาวได้เพียง 3 เซนติเมตร ลำตัวดูยาว มีหนามตามลำตัว ท้องมีสีเข้มและมีจุดสีน้ำตาลขนาดเล็กบริเวณลำคอ

ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระแม่โขง / Indostomus spinosus (Britz & Kottelat, 1999)

มักพบในหนอง กุด หรือ ป่าบุ่งป่าทาม ที่มีพืชน้ำหนาแน่น เช่นใน กุดทิง หรือในโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ และยังพบได้ในลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานการพบในบึงบอระเพ็ด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด จัดเป็นปลาที่พบได้ยาก และไม่พบที่ภาคกลางมานานมากแล้ว

ชนิดที่ 7 – ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระใต้

Advertisements

ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระใต้ หรือ ปลาเหล็กในพรุ เป็นปลาที่อยู่ในสกุล Indostomus (อินโดสโตมัส) มีความยาว 3 เซนติเมตร ซึ่งเท่ากับปลาจิ้มฟันจระเข้แคระแม่โขง และยังมีรูปร่างที่คล้ายกันด้วย แต่ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระใต้จะมีหนามตามตัวที่สั้นกว่า ตัวผู้จะมีรอยตะเข็บกว้างตามหลัง ท้อง และครีบก้น เป็นปลาที่เคลื่อนไหวช้าๆ พบในป่าพรุทางภาคใต้ ชอบอาศัยตามกอหญ้าริมน้ำและดงไม้น้ำ เป็นปลาที่ถูกจับส่งขายเป็นปลาสวยงาม แต่ก็พบได้ไม่ค่อยบ่อย

ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระใต้ / Indostomus crocodilus (Britz & Kottelat, 1999)

ก็อย่างที่เห็น “ปลาจิ้มฟันจระเข้” 7 ชนิดนี้แบ่งออกเป็น 3 สกุล และดูเหมือนชนิดที่น่าเป็นห่วงจะเป็นปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ เนื่องจากเป็นชนิดที่ถูกจับมาทำยาจีนมากที่สุด แต่ดูเหมือนจะเริ่มมีการส่งเสริมให้เลี้ยงปลาชนิดนี้เพื่อส่งขายในตลาดจีนโดยเฉพาะ จึงทำให้สถานการณ์ของปลาพวกนี้ดีขึ้นมาอีกหน่อย ส่วนชนิดอื่นๆ ก็ถือว่าหายากขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพแวดล้อมที่แย่ลงๆ และการจับปลาที่มากเกินไปก็เป็นอีกสาเหตุเช่นกัน

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements