เบื้องหลังชิมแปนซีกลายพันธุ์ ที่ดุร้ายซะจนมีฉายาผู้สังหารสิงโต

ในส่วนลึกของป่าดงดิบคองโก ว่ากันว่ามีประชากรลิงที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหน มันเป็นฝูงลิงป่าขนาดใหญ่ที่ดุร้าย พวกมันอยู่ในระดับสูงสุดของป่าแห่งนั้น คนที่นั้นเรียกพวกมันว่าลิงบอนโด (Bondo ape) หรือลิงบิลี (Bili ape) มันเป็นลิงที่เดินสองขา มีขนาดเท่ากับผู้ใหญ่และทำรังบนพื้นดินเหมือนกอริลล่า พวกมันดุร้ายจนได้รับฉายาว่า 'ผู้ฆ่าสิงโต' โดยนักวิจัยบางคนบอกว่ามันคือลิงสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่บางคนแย้งว่ามันคือลูกผสมของกอริลล่ากับชิมแปนซี

สำหรับรายงานที่น่าตกใจเกี่ยวกับลิงบิลี ได้แพร่สะพัดมานานหลายสิบปี และแม้จะชัดเจนว่าลิงชนิดนี้น่าสนใจมาก แต่ดูเหมือนรายงานหลายฉบับจะกล่าวเกินจริงไปค่อนข้างมาก จนทำให้นักวิจัยคิดว่าลิงชนิดนี้เป็นการผสมผสานระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง

โดยหนึ่งในความพยายามครั้งแรกของมนุษย์ ที่พยายามตามหาลิงลึกลับชนิดนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 โดย คาร์ล อัมมันน์ ช่างภาพและนักอนุรักษ์ชาวสวิส ซึ่งเขาตัดสินใจที่จะค้นหาเรื่องนี้ เพราะเขาพบเข้ากับกระโหลกแปลกๆ จำนวนมาก ที่ถูกเก็บเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ในเบลเยียม

โดยกระโหลกเหล่านั้น มีสันกระโหลกที่โดดเด่นเหมือนกอริลล่า ด้วยเหตุนี้ในตอนแรกจึงถูกจัดให้อยู่ในประเภทกอริลล่า แต่เมื่อตรวจสอบรูปร่างและขนาดของกระโหลก นักวิจัยก็คิดว่ามันเหมือนกับชิมแปนซีมากกว่า แถมในบริเวณนั้นก็ไม่มีประชากรกอริลลาอาศัยอยู่ …การที่ตัวอย่างกระโหลกจะเป็นของกอริลล่าจึงมีน้ำหนักน้อย

และด้วยความคิดที่ว่า เขาอาจกำลังค้นพบสิ่งใหม่ อัมมันน์จึงเสี่ยงเดินทางไปตอนเหนือของคองโก ที่นี่เขาได้พูดคุยกับนายพรานท้องถิ่น ที่เล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับเรื่องที่พบเห็นลิงยักษ์ที่ฆ่าสิงโต

ว่ากันว่าสัตว์ประหลาดเหล่านี้ จะร้องโหยหวนในยามพระจันทร์เต็มดวงอีกด้วย จากนั้นอัมมันน์ยังซื้อภาพถ่ายจากคนในท้องถิ่น ซึ่งแสดงให้เห็นคนกำลังโพสท่ากับลิงขนาดใหญ่ที่พวกเขาล่ามาได้ และแม้ว่าภารกิจของเขา จะสามารถเก็บอุจจาระลิงชิมแปนซีขนาดใหญ่ พร้อมรอยเท้าที่ใหญ่กว่าของกอริลลาได้ แต่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัดว่าเป็นลิงบิลี

หลังจากนั้นในช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2545-2546 ก็มีภารกิจที่นำโดย ดร.เชลลี วิลเลียมส์ ซึ่งอ้างว่าเพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปคองโก โดยเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อเกี่ยวกับลิงบิลี จนทำให้สื่อหลักจำนวนมากอย่าง CNN หรือแม้แต่ National Geographic ก็รายงานเรื่องนี้ โดยมีข้อความประมาณว่า

“มันเป็นสัตว์ตัวใหญ่ที่มีคิ้วเหมือนกอริลล่า มีสองหรือสามตัวที่ทำรังบนพื้นดิน และมีตัวอื่นๆ ที่อยู่บริเวณกิ่งไม้ต่ำๆ ที่ไม่ไกลกันนัก พวกมันส่งเสียงร้องเหมือนเสียงหอน และจะดังขึ้นเมื่อพระจันทร์เต็มดวง ลิงที่ว่านี้อาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่วิทยาศาสตร์ไม่รู้จัก อาจเป็นสายพันธุ์ย่อยของลิงชิมแปนซีหรือลูกผสมระหว่างกอริลลากับชิมแปนซีก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ในปีต่อๆ มา มีข้อกังขาในคำกล่าวอ้างเหล่านี้ และไม่กี่ปีต่อมา ดร. เคลฟ ฮิกส์ นักวานรวิทยาและทีมของเขา ได้พบเขากับสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นลิงบิลี และได้ใช้เวลาอย่างน้อย 20 ชั่วโมงในป่าเพื่อสังเกตพวกมัน

ตามที่รายงานของ New Scientist (ไซ’เอินทิสทฺ) ในปี พ.ศ. 2549 ฮิกส์แย้งว่าพวกมันไม่ใช่ลิงสายพันธุ์ใหม่ หรือแม้แต่สายพันธุ์ย่อยใหม่ แต่เป็นเพียงประชากรลิงชิมแปนซีที่น่าสนใจ โดยดีเอ็นเอที่ได้จากตัวอย่างอุจจาระยืนยันสิ่งนี้ และแสดงให้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้เป็นลิงชิมแปนซีตะวันออก (Pan troglodytes schweinfurthii)

แต่ถึงอย่างงั้นพวกมันก็ผิดปกติ เพราะลิงพวกนี้มีสันบนกะโหลกเหมือนกอริลลา และทำรังบนพื้นดิน นอกจากนี้พวกมันยังทุบจอมปลวกและใช้หินเป็นทั่งตีกระดองเต่าให้แตก ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมปกติของชิมแปนซี

และสำหรับคำกล่าวอ้างเรื่องฆ่าสิงโตและเดินสองขา เป็นคำกล่าวอ้างที่ยังไม่เคยได้รับการยืนยัน แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยากมากที่จะเข้าไปทำความเข้าใจลิงเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเป็นป่าดงดิบที่ยากจะเข้าถึง ยังเป็นพื้นที่ๆ เกิดสงครามอยู่บ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้ขัดขวางงานวิจัยและความพยายามในการอนุรักษ์สัตว์ในพื้นที่นี้อย่างมาก …สรุปคือ จนถึงทุกวันนี้ เรื่องของลิงบิลีก็ยังไม่แน่ชัด

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements