นักวิจัยสร้าง ‘ไซบอร์กแมลงสาบ’ หวังใช้ในภารกิจค้นหาและกู้ภัย

ไซบอร์กแมลงสาบที่สามารถควบคุมระยะไกล เป็นแนวคิดที่มีการพัฒนามาหลายปี แต่ดูเหมือนในตอนนี้จะสามารถทำได้จริงแล้ว ถึงแม้จะต้องใช้เวลาพัฒนาอีกก็ตาม

ตอนนี้ทีมนักวิจัยได้เข้าสู่ขั้นสำคัญ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนแมลงสาบให้เป็นไซบอร์กเป็นความจริง หลังจากวิศวกรรมระบบสำหรับการสร้างไซบอร์กบั๊ก มีความก้าวหน้ามากกว่าการทดลองครั้งก่อนมาก

จากที่เห็นในภาพ มีกระเป๋าเป้สะพายหลังแบบพิเศษ ซึ่งทำหน้าที่เป็นโมดูลควบคุมแบบไร้สาย สิ่งนี้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ ซึ่งต่อเข้ากับเซลล์แสงอาทิตย์ ด้วยวัสดุที่บางเฉียบและน้ำหนักเบา แมลงสาบจะเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระบนภูมิประเทศประเภทต่างๆ

แมลงสาบหุ่นยนต์ ที่ชาร์จพลังงานได้

Advertisements

นักวิจัยจาก RIKEN Cluster for Pioneering Research (CPR) ในประเทศญี่ปุ่นได้สร้าง Critter Cyborgs ที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีซุปเปอร์ชาร์จ อย่างน้อยก็เมื่อเปรียบเทียบกับไซบอร์กตัวก่อน

Kenjiro Fukuda กล่าวว่า “โมดูลโซลาร์เซลล์อินทรีย์แบบบางพิเศษ ที่ติดตั้งบนร่างกายของแมลงสาบจะให้กำลังไฟฟ้า 17.2 mW ซึ่งมากกว่าพลังงานที่ส่งออกของอุปกรณ์เก็บเกี่ยวพลังงานที่ล้ำสมัยในปัจจุบันถึง 50 เท่า”

แมลงสาบที่ถูกเลือกใช้คือ แมลงสาบมาดากัสการ์ (Madagascar cockroaches) เป็นแมลงสาบที่ยาวได้ถึง 7-10 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัว 20-25 กรัม เป็นแมลงสาบที่เคลื่อนไหวได้ช้า มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย และไม่ทำร้ายมนุษย์ จึงมีผู้นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเพราะความแปลก

นักวิจัยได้ติดกระเป๋าเป้แบบพิเศษไว้บนตัวแมลงสาบ ซึ่งได้รับการออกแบบมาให้พอดีและปล่อยให้สิ่งมีชีวิตเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ กระเป๋าเป้นี้ประกอบด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมโพลิเมอร์และโมดูลควบคุมแบบไร้สาย

โมดูลนี้ช่วยให้นักวิจัยสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของแมลงได้จากระยะไกล ซึ่งทำได้โดยใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้ากับส่วนหนึ่งของช่องท้อง ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวและทำให้แมลงไปในทิศทางที่ต้องการ

นักวิจัยได้พยายามพัฒนาแมลงไซบอร์กมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ผ่านมาพวกเขาประสบปัญหากับพลังที่ใช้ แต่ในตอนนี้ทีมงานได้พบค้นพบความก้าวหน้าใหม่ ..เมื่อติดตั้งแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ ซึ่งเชื่อมต่อกับโซลาร์เซลล์ แมลงสาบสามารถชาร์จพลังงานภายใต้แสงแดดจำลอง ก่อนกลับออกไปปฏิบัติภารกิจที่ควบคุมจากระยะไกล

ทั้งนี้ทีมนักวิจัยได้ศึกษาการเคลื่อนไหวของแมลงสาบ พวกเขาพบว่าหน้าท้องของมันเปลี่ยนรูปร่างในขณะที่เคลื่อนไหว โดยบางส่วนของโครงกระดูกภายนอกของมันจะทับซ้อนกัน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องออกแบบกระเป๋าเป้ให้มีส่วนที่เป็นแบบมีกาวและไม่มีกาว เพื่อให้เคลื่อนย้ายและเปลี่ยนรูปร่างตามการเคลื่อนไหวของแมลงสาบได้ ..และเมื่อทดสอบแล้ว พวกเขาพบว่าแมลงสาบวิ่งได้เร็วเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับตอนที่ใส่กระเป๋าที่หนักกว่าหรือปรับตัวได้น้อยกว่า

“ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากความผิดปกติของช่องท้องนั้นไม่ได้มีลักษณะเฉพาะของแมลงสาบ กลยุทธ์ของเราจึงสามารถปรับให้เข้ากับแมลงอื่นๆ เช่น แมลงปีกแข็ง หรือแม้แต่แมลงบินอย่างจักจั่นได้ในอนาคต”

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements