ตกปลา ใช้สายใหม่ทำไมถึงไม่ค่อยจมน้ำ

ตามปกติธรรมดาทั่วไปของนักกีฬาตกปลาผู้มีความรอบคอบพิถีพิถัน เมื่อเห็นว่าสายเอ็นที่จะนำออกไปใช้งานนั้น เป็นสายเก่าที่ถูกใช้งานมานานแรมเดือนแล้ว ก็มักจะเปลี่ยนสายใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจในการเย่ออัดกับปลาที่จะออกไปเจอะเจอ

แต่น้าๆ เคยสังเกตกันบ้างหรือไม่ว่า สายใหม่เอี่ยมอ่องที่เพิ่งแกะกล่องกรอใส่เข้าสปูนมาอย่างสดๆ ร้อน ๆ โดยยังไม่เคยสัมผัสกับพื้นน้ำหรือการยึดตัวอันเนื่องมาจากแรงดึงของปลาสักครั้งเลยนั้น เมื่อนำมาใช้งานตีเหยื่อออกไปในครั้งแรกๆ สายอาจลอยอยู่บนผิวน้ำอยู่ส่วนหนึ่ง

เพราะว่าคุณสมบัติของสารเคมีที่บริษัทผู้ผลิตนำมาใช้เคลือบผิวของสายเอ็นทุกรุ่นทุกยี่ห้อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในความเหนียวแน่น หรือทนต่อการขีดข่วนเสียดสี หรือทนต่อปฏิกิริยาจากแสงแดดที่จะมีผลกระทบต่อสายเอ็น ซึ่งก็มีอยู่หลายรุ่นหลายยี่ห้อที่ผ่านการใช้งานหรือเปียกน้ำเพียงไม่กี่ครั้ง สายใหม่เส้นนั้นก็จะจมอยู่ใต้ผิวน้ำแค่เพียงสะบัดสายไม่กี่ที แต่ก็มีอยู่หลายรุ่นหลายยี่ห้อเช่นกันที่แม้จะผ่านการใช้งานมาหลายสิบครั้งแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะสะบัดสายเท่าไรมันก็ไม่ยอมจมสักทีซึ่งก็เป็นเพราะคุณสมบัติของสารที่เคลือบผิวนั้นเป็นคนละตัวคนละสูตรกัน

ข้อเสีย :

Advertisements

ของการใช้สายใหม่ที่ลอยน้ำนั้นเป็นต้นเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการ “วัดว่าว” ในการตกปลาด้วยเหยื่อลอย ทั้งแบบปล่อยให้เหยื่อลอยบนผิวน้ำโดยไม่ใช้ทุ่นและแบบวางเหยื่อกลางน้ำโดยใช้ทุ่นลอยช่วยพยุงเหยื่อเพราะส่วนของสายที่ลอยอยู่บนผิวน้ำนั้นจะลอยโค้งตีวงไปตามแรงลม ทำให้สายตีโค้งมากเกินควร

เมื่อปลาฉวยเหยื่อแม้เราจะเห็นสายวิ่งจนรอกร้องก็ตาม แต่ร้อยทั้งร้อยมักจะวัดปลากันไม่ค่อยคิด เหตุก็เป็นเพราะสายที่วิ่งนั้นยังลอยอยู่บนผิวน้ำ ไม่ตึงเปี๊ยะเป็นแนวเส้นตรงวิ่งดิ่งลงสู่พื้นน้ำ นอกจากจะปล่อยให้ปลาลากสายออกไปจนรอกร้องแบบสุดๆ เท่านั้น จึงจะวัดปลาติด ถ้าเป็นพวกปลาเก๋าเกมมีเขี้ยวโง้งลากดินตามพิชชิ่งปาร์คทั่วๆ ไปแล้วละก็ หากปล่อยให้มันลากยาวแบบนั้น กินมันยากครับ

และแม้จะเป็นการตกแบบหน้าดินโดยมีตะกั่วเป็นตัวถ่วง ต่อให้ใครที่คิดว่าตัวเองตีเหยื่อแม่นยำแค่ไหน ถ้าลองใช้สายใหม่ที่ยังลอยน้ำอยู่ อย่าหวังเลยว่าเหยื่อจะตกลงกลางฝูงปลาตามที่ตั้งใจไว้ เพราะส่วนของสายที่ลอยน้ำอยู่จะรั้งเหยื่อให้จมลงห่างจากฝูงใกล้เข้ามา ทำให้แทนที่จะยืนถือคันรอกลับต้องมานั่งทำสมาธิรอปลากินเหยื่อจนหลับไปหลายตื่นเลย

ที่ว่ามานี้ก็อยากจะชี้แจงน้าๆ นักตกมือใหม่ให้เข้าใจกันให้ถูกต้องก่อนว่า ไม่ใช่เป็นการแนะให้เลือกใช้สายเอ็นชนิดจมน้ำนะ แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงผลเสียบางประการในการใช้สายเอ็นเส้นใหม่ซิงๆ ที่ยังลอยน้ำอยู่

วิธีที่จะทำให้สายเอ็นเส้นใหม่จมน้ำได้ง่าย :

จากประสบการณ์ทั้งของผมเองและเซียนตกปลา เมื่อเปลี่ยนสายด้วยตนเอง ถ้าเป็นที่บ้านก็จะม้วนสายเอ็นลงไปในตุ่มน้ำก่อน แต่ถ้าทำการเปลี่ยนสายเอ็นด้วยเครื่องตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์ทั่วไป เมื่อไปถึงแหล่งตกปลาก็อย่าเพิ่งทำตัวเป็นวัยรุ่นใจร้อนคว้าเหยื่อเกี่ยวฉับตีควั่บออกไปเลย ควรจะร้อยตะกั่วลูกใหญ่หน่อยอยู่เหนือลูกหมุนโดยยังไม่ต้องผูกต่อเข้ากับสายลีดที่ผูกตัวเบ็ดเตรียมเอาไว้ แล้วตีสายเปล่าออกไปกลางบ่อให้เต็มกำลัง แต่ต้องยั้งดูอย่าให้ขึ้นบนฝั่งโน้น กรอสายเอ็นให้ตึงโดยกดปลายคันให้สายจมน้ำขณะหมุนเก็บสายเข้ามา ทำอย่างนี้เพียงไม่กี่ครั้งก็จะช่วยทำให้สายใหม่เส้นนั้นจมน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ยิ่งใช้สายเอ็นเส้นเล็กเท่าไรสายก็ยิ่งจะจมน้ำได้เร็วขึ้นนะ อีกทั้งยังเป็นการไม่เอาเปรียบปลาอีกด้วยนะ

วิธีประกอบเท็กซัสริก กับวิธีใช้ที่อ่านจบตกเป็นเลย

Advertisements