ถิ่นกำเนิดของปลาหมอสีคางดำ
ปลาชนิดนี้แต่เดิมจะอยู่ในทวีปแอฟริกา พบแพร่กระจายอยู่ตลอดแนวชายฝั่งจนถึงแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น ไนจีเรีย คาเมรูน เซเนกัล ไอวอรี่โครส์ และอีกหลายๆ ประเทศ เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลย จนถึงทะเลชายฝั่ง
เป็นปลาที่ทนต่อความเค็มสูง และยังทนต่อความเปลี่ยนแปลงของค่าความเค็มในช่วงที่กว้างมาก (ความเค็ม 0-40 ppt, น้ำทะเลทั่วไป 35 ppt) และยังอาศัยในน้ำจืด แม่น้ำ ทะเลสาบน้ำจืด ได้อย่างไม่มีปัญหา
การมาของปลาหมอคางดำ
ปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon melanotheron) มีลักษณะภายนอกคล้ายๆ ปลาหมอเทศ เมื่อไม่กี่ปีก่อนมันเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่เจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้งวิดบ่อหวังเอากุ้งไปขาย แต่แล้วได้เพียงกุ้งจำนวนน้อย กับปลาหมอสีคางดำเป็นตันๆ .. และจากเรื่องนี้ก็มีการพูดถึงการรุกรานของปลาหมอสีชนิดนี้อีกครั้ง
มีรายงานว่า โครงการนำปลาหมอสีคางดำเริ่มเมื่อปี 2549 จากที่กรมประมงอนุญาตให้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข
จนในปี 2553 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเอาปลาหมอคางสีคางดำเข้ามา 2,000 ตัว เพื่อเพาะเลี้ยง แต่ตามรายงานระบุว่า พวกเขาเลี้ยงได้ไม่นาน บริษัทเเจ้งว่า “ปลาเริ่มตายเเละทำลายซากหมดเเล้ว” .. ข้อมูลเพิ่มเติมเบื่องลึกยังไม่สามารถพิสูจน์ได้
หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็มีข่าวเกี่ยวกับปลาหมอสีคางดำระบาด ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2555 ถือเป็นการระบาดครั้งแรกที่เป็นข่าวจนหน่วยงานรัฐต้องลงมาดู มันเป็นการระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรสงคราม
การระบาดของปลาหมอสีคางดำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าหน่วยงานจะทุ่มงบนับสิบล้าน เพื่อรับซื้อปลาหมอสีคางดำ หรือจะเป็นการใช้สารพิษเพื่อลดจำนวนปลาชนิดนี้ แต่ทุกอย่างไม่เป็นผล เพราะปลาชนิดนี้ขยายพันธุ์ได้ดีกว่าปลานิลซะอีก .. และที่สำคัญคนไทยไม่นิยมกินมันอีกด้วย
“ปลาหมอสีคางดำ โดยทั่วไปจะยาวประมาณ 8 นิ้ว พวกมันวางผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดปี แต่จะลดลงในช่วงที่มีฝนตกเยอะๆ หรือช่วงน้ำแรง ไข่และลูกปลาชนิดนี้มีโอกาสรอดค่อนข้างสูง เพราะหลังจากที่แม่ปลาวางไข่ราวๆ 300 ฟอง พ่อปลาจะดูแลลูกด้วยการอมไว้ในปาก โดยลูกจะใช้เวลาฟัก 4 – 6 วัน พ่อจะอมไว้ในปาก 2 – 3 สัปดาห์”
ปัจจุบันปลาหมอสีคางดำเป็นปลาห้ามเลี้ยงเด็ดขาด โดยมีบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสองต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ