นี่คือสาเหตุที่ ‘ทะเลสาบกริฟฟิน’ เปลี่ยนแอลลิเกเตอร์ให้เป็นซอมบี้จริงๆ

จากภาพเปิดน่าจะได้เห็น "แอลลิเกเตอร์" ที่เหมือนโดนชุบด้วยผงชาเขียว และคงคิดว่าแค่นี้จะมาบอกว่าเป็น "ซอมบี้" จริงๆ ได้ยังไง? ทีแรกแอคแมวก็คิดแบบนั้น แต่ทะเลสาบแห่งนี้ไม่แค่เปลี่ยนแอลลิเกเตอร์ให้กลายเป็นสีเขียวได้เท่านั้น มันยังเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลายเป็นแอลลิเกเตอร์ที่แปลกประหลาดอีกด้วย

เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจากสารคดีของ National Geographic มันเรื่องเกี่ยวกับนักวิจัยที่ได้สำรวจพฤติกรรมของแอลลิเกเตอร์ ที่อาศัยอยู่ใน ทะเลสาบกริฟฟิน (Griffin Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบในฟลอริดา

โดยพฤติกรรมประหลาดที่พวกเขาพบคือ แอลลิเกเตอร์พวกนี้มีอาการเซื่องซึม เคลื่อนไหวช้าๆ ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองเท่าที่ควร ไม่กินอาหาร ว่ายน้ำไม่ได้ หรืออาจขึ้นขั้นลอยหงายท้องเหมือนตายไปแล้ว แต่มันยังไม่ตาย จึงทำให้นักวิจัยเรียกแอลลิเกเตอร์ที่มีพฤติกรรมนี้ว่า “แอลลิเกเตอร์ซอมบี้” (Zombie Alligators)

ไม่เพียงแค่พฤติกรรมเปลี่ยนไปจนประหลาด ทะเลสาบแห่งนี้ยังมีอัตราการตายของแอลลิเกเตอร์ที่สูงผิดปกติ ซึ่งอาจมีมากถึงปีละ 100 – 200 ตัว ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงต้องเริ่มตรวจสอบทะเลสาบกริฟฟินอย่างจริงจัง

โดยพวกเขาเริ่มเก็บตัวอย่างจากแอลลิเกเตอร์ที่ตายแล้วมาชันสูตร แต่กลับไม่พบสาเหตุอะไรเลย แถมยังพบว่าทุกตัวที่ตายยังมีสุขภาพแข็งแรง แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกมันกลายเป็นซอมบี้..? นี่คือสิ่งที่นักวิจัยพยายามไขปริศนามานานหลายปี

สาเหตุเกิดจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน?

Advertisements

จนในปี พ.ศ. 2549 เพอร์แรน โรสส์ (Perran Ross) นักชีววิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติฟลอริดา (Florida Museum of Natural History) ที่พยายามศึกษาเรื่องนี้มานานกว่า 6 ปี เขาได้ค้นพบสาเหตุการตายที่แท้จริงของแอลลิเกเตอร์คือ “สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน” (Blue-Green Algae) ที่เติบโตและแพร่กระจายจนมากเกินไปในทะเลสาบกริฟฟิน

Advertisements

โดยสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินนี้ เมื่อตายจะปล่อยสารพิษที่ชื่อ “ไซลินโดรสเปอร์โมซิส” (Cylindrospermopsis) ซึ่งเป็นสารพิษที่เข้าไปทำลายเซลล์ประสาทในสมองของแอลลิเกเตอร์ จนทำให้พวกมันควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง เชื่องช้า จนดูเหมือนซอมบี้นั่นเอง

ความจริงสาหร่ายชนิดนี้ ไม่ได้ส่งผลเฉพาะแอลลิเกเตอร์เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อปลาในทะเลสาบ และหากนกกินปลาในทะเลสาบก็จะได้รับผลจากสาหร่ายเช่นกัน ยิ่งในทะเลสาบมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์หรือแม้แต่มนุษย์มากเท่านั้น

แต่ดูเหมือนว่า โรสส์ (Perran Ross) เองจะพบทางแก้ปัญหาอยู่เหมือนกัน เขาพบว่าหากเติม “ไทอามีน” (Thiamine) หรือวิตามินบี 1 ลงไปในทะเลสาบก็อาจช่วยได้ เนื่องจากผลชันสูตรศพแอลลิเกเตอร์ พบว่าทุกตัวขาดวิตามินบี 1 ..แต่ในความเป็นจริงอาจทำได้ยาก เพราะนี่เป็นทะเลสาบที่กว้างถึง 36 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล เพื่อเติมวิตามินบี 1 ลงไปในน้ำ …สุดท้ายจึงต้องหาวิธีควบคุมสาหร่ายก่อน

ความแตกต่าง 8 ประการ ระหว่าง จระเข้ และ แอลลิเกเตอร์

  1. รูปร่างของปาก : ช่วงปากของ “จระเข้” จะแหลมและดูเป็นรูปตัว V ส่วนของ “เกเตอร์” จะกว้างและดูเป็นรูปตัว U
  2. แหล่งอาศัย : เกเตอร์จะพบได้ที่สหรัฐอเมริกาและจีนเท่านั้น ส่วน จระเข้สามารถพบได้ทั่วโลก
  3. แหล่งน้ำที่พบ : สามารถพบจระเข้ได้ทั้งน้ำจืด-เค็ม ส่วน เกเตอร์จะชอบอยู่น้ำจืด
  4. ฟัน : เกเตอร์ และ จระเข้ มีฟันที่ต่างกัน โดยจระเข้แม้จะปิดปากอยู่ก็ยังเห็นทั้งฟันบน-ล่าง ส่วนเกเตอร์จะเห็นน้อยกว่ามาก จนแทบไม่เห็น
  5. ขนาด : จระเข้เมื่อโตเต็มวัย จะมีขนาดใหญ่กว่าเกเตอร์
  6. สี : โดยทั่วไปจระเข้จะมีสีอ่อนกว่า ส่วนเกเตอร์จะสีเข้มไปทางดำ
  7. ความเร็ว : ทั้งบนบก และในน้ำ จระเข้จะเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าเกเตอร์
  8. พฤติกรรม : จระเข้มีความก้าวร้าวกว่า ส่วนเกเตอร์ดูจะเชื่องกว่า

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements