แท้จริงแล้ว ‘ปลาช่อนแม่ลา’ คืออะไร ต่างจากปลาช่อนนาหรือไม่?

ปลาที่อยู่ในสกุลปลาช่อนของประเทศไทย ที่ได้รับการอธิบายไว้ในอนุกรมวิธานมีทั้งหมด 8 ชนิด ซึ่งจะมี ปลาช่อน ปลาชะโด ปลากะสง ปลากั้ง ปลาช่อนงูเห่า ปลาช่อนงูเห่าแม่น้ำโขง ปลาช่อนดำ และปลาช่อนข้าหลวง แต่ไม่มีปลาช่อนแม่ลา? แล้วปลาช่อนแม่ลาคืออะไร ต่างจากปลาช่อนทั่วไปหรือไม่? บางคนเข้าใจว่าต่างชนิดกับปลาช่อนนา บางคนก็ว่าชนิดเดียวกันนั้นล่ะ ...เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมมาสรุปเรื่องนี้ให้ฟัง

ปลาช่อนแม่ลา

อะไรคือปลาช่อนแม่ลา?

Advertisements

คำนิยามของปลาช่อนแม่ลา (Pla Chon Mae La) หมายถึงปลาช่อนที่ได้จากลำน้ำแม่ลา หรือบริเวณที่กำหนด เป็นปลาช่อนที่มีลักษณะหัวหลิมหรือหัวเล็กกว่าลำตัว ลำตัวอ้วนกลม เกล็ดนิ่ม มีสีขาวปนเทา ไม่มีลายพาดเฉียง ท้องป่องมีสีขาวมันวาว ครีบมีสีส้ม ชมพูหรือแดง หางมนคล้ายรูปใบโพธิ์หรือตาลปัตร

สำหรับเนื้อปลาช่อนแม่ลาจะมีไขมันแทรกมากกว่าปลาช่อนทั่วไป และเป็นปลาที่นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นปลาช่อนสด ปลาช่อนตัดแต่ง และปลาช่อนแดดเดียว ที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี … ซึ่งโดยปกติผู้เพาะเลี้ยงในท้องถิ่นก็จะบอกกันประมาณนี้

แต่แท้จริงแล้วปลาช่อนแม่ลาคือ “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” มันไม่ใช่ปลาช่อนชนิดใหม่ อย่างน้อยก็ในตอนนี้ ความจริงหากมองในมุมมองทางวิทยาศาสตร์และทางอนุกรมวิธาน “ปลาช่อนแม่ลา” ยังคงใช้ชื่อเดียวกับ “ปลาช่อนธรรมดา” ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ Channa striata (ชานนา สไตรอาตา) ชื่อสามัญอังกฤษว่า Striped snakehead (สไทรพฺ สเนคเฮด) เพียงแต่ทั้งสองถูกอธิบายไว้ต่างกัน ซึ่งก็คล้ายๆ กับกรณีที่ปลาสวาย กับ ปลาสวายเนื้อขาว ที่คุยว่าต่างกัน แต่ถึงอย่างงั้นมันก็เป็นชนิดเดียวกันอยู่ดี

สำหรับคำนิยามและลักษณะที่พูดไปก่อนหน้านี้แสดงอยู่ใน ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปลาช่อนแม่ลา ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

แหล่งเพาะพันธุ์ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของปลาช่อนแม่ลา

ตามบันทึกระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ปลาช่อนแม่ลา ต้อง!! มีการเพาะเลี้ยงและเติบโตในลำน้ำแม่ลา ลำการ้อง และพื้นที่โดยรอบจากลำน้ำแม่ลาระยะห่างไม่เกิน 4 กิโลเมตร ดังนี้

  1. อำเภออินทร์บุรี ได้แก่ ตำบลทับยา ตำบลน้ำตาล ตำบลประศุก ตำบลห้วยชัน ตำบลอินทร์บุรี
  2. อำเภอบางระจัน ได้แก่ ตำบลสระแจง ตำบลแม่ลา ตำบลสิงห์ ตำบลโพชนไก่ ตำบลไม้ดัด
  3. อำเภอเมือง ได้แก่ ตำบลจักรสีห์ ตำบลต้นโพธิ์ ตำบลบางกระบือ ตำบลบางพุทธา ตำบลบางมัญ ตำบลโพกรวม
  4. อำเภคค่ายบางระจัน ได้แก่ ตำบลท่าข้าม ตำบลโพสังโฆ

Advertisements

แต่! ในตอนนี้ ปลาช่อนแม่ลาส่วนใหญ่จะได้จากการเพาะเลี้ยง รวมทั้งการขยายพันธุ์ด้วยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ให้ได้ลักษณะตรงตามที่ระบุ แน่นอนว่ามีการเลี้ยงไว้ในบ่อดิน และปกติจะจับขายเมื่ออายุได้ 5 เดือน หรือเมื่อมีน้ำหนักประมาณ 700 กรัมต่อตัว

แล้วสรุปว่าเป็นปลาคนละชนิดหรือไม่?

สำหรับคำตอบเรื่องนี้ ถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ หากใครไม่เห็นด้วยก็สามารถคอมเมนท์แสดงความคิดเห็นกันได้ แต่ห้ามดุด่ากันนะครับ ขอแบบมีเหตุผล….เรื่องที่ว่าปลาช่อนแม่ลากับปลาช่อนนาต่างชนิดกันหรือไม่?

จากมุมมองของผมในฐานะที่ไม่ใช่คนเลี้ยงปลาช่อน แต่ก็ค่อนข้างจะเห็นหน้ามันบ่อย เพราะเป็นปลาที่ผมตกได้บ่อยที่สุด ผมว่าเรื่องที่ปลาช่อนแม่ลา มีครีบมีสีส้ม ชมพูหรือแดง ปลาช่อนที่อื่นผมก็เคยเจอบ่อยอยู่ แต่ผมคิดว่าแหล่งน้ำอาหารมีผลทำให้ลักษณะหรือเนื้อปลาต่างออกไป และหากถามว่าปลาช่อนแม่ลามีครีบสีส้มชมพูทุกตัวหรือไม่? คำตอบคือ ไม่ทุกตัว

และผมเองเคยดูอยู่คลิปนึง พอจะสรุปได้ว่า ถ้าคุณเลี้ยงปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นจังหวัดสิงห์บุรี แต่เมื่อถามกลับไปว่าถ้าเอาปลาช่อนในบ่อนี้ไปเลี้ยงจังหวัดอื่น มันจะเป็นปลาช่อนแม่ลาหรือไม่? …คำตอบคือ มันก็ไม่ใช่ปลาช่อนแม่ลา เพราะปลาช่อนแม่ลาแท้ต้องเลี้ยงในพื้นที่ๆ กำหนดไว้เท่านั้น

ซึ่งตรงนี้ก็สมเหตุสมผล เพราะจากประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ชี้ชัดแล้วว่าต้องเลี้ยงในตำบลอะไรจึงจะใช้ชื่อปลาช่อนแม่ลาได้ หากเลี้ยงที่อื่นแล้วใช้ชื่อนี้ ก็คือว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

Advertisements

ถ้าให้พูดถึงตามวิทยาศาสตร์และทางอนุกรมวิธาน ยังไงมันก็เป็นชนิดเดียวกันอยู่ดี เพราะยังไม่มีการอธิบายใหม่เกี่ยวกับปลาช่อนแม่ลา แม้จะมีการอธิบายลักษณะที่ต่างกันเล็กน้อยก็ตาม เพราะสิ่งนี้อาจเกิดจากวิธีเลี้ยงและแหล่งอาศัย …แต่อนาคตอาจมีการอธิบายใหม่ เหมือนสัตว์ชนิดอื่นที่เคยมีมาก็เป็นได้

ตำนานความอร่อยของปลาช่อนแม่ลา

Advertisements

ตำนานของปลาช่อนแม่ลา เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในคราวเสด็จประพาสต้นและประทับแรมที่เมืองอินทร์ ตามบันทึกการเสด็จฯ พระองค์ทรงประทับแรมที่วัดประศุก ปลาช่อนแม่ลาก็เป็นหนึ่งในพระยาหาร เมื่อพระองค์เสวยแล้วทรงตรัสว่า “ปลาของลำน้ำแม่ลามีรสชาติดีกว่าที่อื่น”

ว่ากันว่าสาเหตุของความอร่อยที่แตกต่างจากที่อื่นนั้นเพราะลำน้ำแม่ลา อยู่ตรงกลางระหว่างแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา และชาวบ้านแทบทุกบ้าน เลี้ยงเป็ด ไก่ วัว ควาย ช่วงฤดูน้ำหลาก ก็ชะล้างมูลสัตว์ และน้ำจากทั้งสองแม่น้ำ ไหลแม่ยังลำแม่ลาก่อให้เกิดแร่ธาตุ และความอุดมสมบูรณ์ที่หลากหลาย

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements