10 อันดับ! ปลาน้ำจืดไทยระดับตำนาน ชาตินี้อาจไม่ได้พบเห็นอีก

ประเทศไทยเป็นบ้านของปลาน้ำจืดหลายพันชนิด ทั้งที่ใหญ่ที่สุดไปจนถึงเล็กที่สุด ชนิดที่สวยงามจนกลายเป็นหนึ่งในปลาราคาแพงที่สุดตลอดกาล แน่นอนว่ามีปลาบ้างชนิดก็หายากซะจนเกือบจะคิดว่าไม่มีอยู่จริง บางชนิดก็เหลือเพียงภาพถ่ายไม่กี่ภาพ บางชนิดถูกพบเพียงครั้งสองครั้ง และนี่คือ ปลาที่หายากสุดๆ จนกลายเป็นปลาระดับตำนาน ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ...ถ้าดูแล้วชอบก็อย่าลืมกดติดตาม กดกระดิ่ง หรือหากต้องการสมัครสมาชิกก็ทำได้เช่นกัน

อันดับที่ 10. ปลาสะนากยักษ์ (Aaptosyax grypus)

Advertisements

ในประเทศไทยจะมีปลาสะนากอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือ ปลาสะนาก ที่อยู่ในสกุลปลาน้ำหมึกยักษ์ หรือไรอามาส (Raiamas) เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำไหลของภาคกลาง ภาคเหนือและอีสาน แต่ดูเหมือนสะนากชนิดนี้จะมีเยอะตามคลองแถวๆ ภาคกลางค่อนไปทางเหนือมากกว่า

ส่วนอีกชนิดคือ ปลาสะนากยักษ์ หรือ แซลมอนยักษ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong giant salmon carp) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แอปโทไซแอ็กซ์ กริปัส (Aaptosyax grypus) เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล แอปโทไซแอ็กซ์ (Aaptosyax)

ปลาสะนากยักษ์ (Aaptosyax grypus)

ปลาสะนากยักษ์ถือเป็นปลานักล่าขนาดใหญ่ มียาวได้ถึง 130 เซนติเมตร ลักษณะโดยรวมของปลาสะนากยักษ์คือ คล้ายกับปลาแซลมอน รูปร่างเรียวยาวทรงกระบอก ปากกว้าง ขากรรไกรโค้งคล้ายตะขอที่จะสบเข้ากับช่องที่อยู่ปากด้านบน มีเกล็ดเล็กมาก ลำตัวสีเงินวาวเหลือบเหลืองทอง ครีบสีส้มเรือๆ

เป็นปลาที่หากินอยู่ในระดับกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ เหยื่อของมันจึงเป็นปลาขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น พบอาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงตอนกลาง แถบประเทศกัมพูชา ลาวและไทย

มีรายงานว่าลูกปลาสะนากยักษ์จะอพยพเข้าไปหากินในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เคยมีรายงานการพบในเขตจังหวัดอุบลราชธานี บริเวณปากมูล ปัจจุบันจัดเป็นปลาที่หาได้ยากมากจนถึงขั้นอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ..ยังไม่มีความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยง นอกจากนี้! เมื่อเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ.2565 มีรายงานการจับปลาสะนากยักษ์ได้หนึ่งตัว ซึ่งถือเป็นปลาสะนากยักษ์ตัวแรกในรอบ 20 ปี น่าเสียดายที่ตายไปแล้ว

อันดับที่ 9. ปลาสายยูหนวดกระดิก (Ceratoglanis pachynema)

ปลาสายยู (Club-barbel sheatfish) เป็นปลาน้ำจืดที่หน้าตาประหลาด มันมีตาที่เล็ก มีหนวดเล็กที่ดูเป็นติ่งใกล้จมูก แถมยังมีพฤติกรรมกระดิกหนวดอย่างรวดเร็วขณะว่ายน้ำ โดยภายในเวลา 1 นาที จะสามารถกระดิกหนวดได้นับร้อยครั้ง นอกจากหนวดแปลกๆ ของมันแล้ว ปลาชนิดนี้ยังเป็นปลาที่มีลำตัวแบนข้าง มีสีชมพู่หรือสีนวล และยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร

ปลาสายยูหนวดกระดิก (Ceratoglanis pachynema) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

เป็นปลาที่พบได้ในธรรมชาติเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นั้นก็คือบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกง มีรายงานการพบเพียงไม่กี่ครั้ง ปัจจุบันมีสถานะคือเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

อันดับที่ 8. ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher)

ปลาเสือตอลายใหญ่ เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีเหลืองอมส้ม หรือเหลืองอมน้ำตาล มีลายสีดำขนาดใหญ่พาดในแนวขวางบริเวณลำตัว โดยลายเส้นแรกจะพาดผ่านตา และเส้นสุดท้ายจะไปจบที่โคนหาง โดยนักเลี้ยงจะแบ่งปลาเสือตอชนิดนี้ ออกเป็นสองลักษณะ หนึ่งคือตัวที่มีลายกลางตัวขนาดใหญ่หนึ่งเส้น จะเรียกว่าปลาเสือตอลายใหญ่ และสองคือที่มีลายกลางตัวสองเส้น จะเรียกว่าเสือตอลายคู่ ซึ่งราคาจะถูกกว่าเสือตอลายใหญ่

ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher)
Advertisements

ในอดีตสามารถพบปลาเสือตอลายใหญ่ ได้มากมายในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน และ บึงบอระเพ็ด จัดเป็นปลาที่มีรสชาติดีและยังเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดนครสวรรค์ และเพราะเป็นปลาที่ตลาดปลาสวยงามต้องการตัวเป็นอย่างมาก ปลาเสือตอลายใหญ่จึงถูกจับไปขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อรวมเข้ากับแหล่งน้ำที่เสื่อมโทรมลง จึงทำให้ปลาเสือตอลายใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ ส่วนในลุ่มแม่น้ำโขงก็ไม่มีรายงานการพบเห็นในเขตไทยมานานมากแล้ว แต่ยังพอมีเหลือน้อยมากในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และ อินโดนีเซีย

อันดับที่ 7. ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง (Incisilabeo sp.Maeklong)

Advertisements

ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง ยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร จุดเด่นของปลาชนิดนี้คือ บริเวณส่วนหัวจะปูดออกมาคล้ายกับโหนก และยังมีขนาดใหญ่กว่าปลาหว้าหน้านอที่พบในแม่น้ำโขง หางและขอบครีบหลังจะตัดเป็นเส้นเกือบตรง กึ่งกลางไม่เว้าลึก

8. ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง (Incisilabeo sp.Maeklong) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง จัดเป็นปลาในตำนานของไทยอีกตัว เนื่องจากยังไม่ได้รับการอธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธานอย่างถูกต้อง มันเป็นปลาที่เคยปรากฎอยู่บนนิตยสารตกปลาเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ในตอนนั้นทราบเพียงแค่ถ่ายมาจากจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ และมีเพียงภาพเดียว จนกระทั่งพบภาพอีกชุดซึ่งถ่ายโดยคุณ ประทุมทอง จากอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก บริเวณต้นน้ำแม่กลอง เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน และจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาชนิดนี้อีกเลย

อันดับที่ 6. ปลาหางไหม้ (Balantiocheilos ambusticauda)

ปลาหางไหม้ หรือ ปลาฉลามหางไหม้ (Siamese bala-shark) เป็นปลาที่อยู่ในสถานะอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แน่นอนนักเลี้ยงปลาบางคนอาจคิดว่าปลาหางไหม้จะสูญพันธุ์ได้ไง ก็ในเมื่อมีเต็มตลาด แต่! ต้องบอกว่าปลาฉลามหางไหม้ทั้งหมดที่เลี้ยงในตอนนี้ไม่ใช่หางไหม้ไทย นั้นเพราะหางไหม้ไทยอาจจะสูญพันธุ์ไปมากกว่า 40 ปีแล้ว

ปลาหางไหม้ มีรูปร่างเพรียวยาว ตาโต ปากเล็ก ใต้คางมีแผ่นหนังเป็นถุงเปิดออกด้านท้าย ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็กสัดส่วนของครีบทุกครีบเหมาะสมกับลำตัว โดยเฉพาะครีบหางซึ่งเว้าเป็นแฉกลึก สีของลำตัวเป็นสีเงินแวววาว ด้านหลังสีเขียวปนเทา ครีบหลัง ครีบท้อง ครีบก้นและครีบหาง จะมีสีส้มแดงและขอบเป็นแถบดำ

ปลาหางไหม้ (Balantiocheilos ambusticauda)
Advertisements

ปัญหาของปลาหางไหม้ไทยคือ พวกมันเป็นปลาที่เปราะบาง เกล็ดหลุดง่าย ครีบแตกและตกใจง่าย นอกจากนั้นยังเป็นปลาที่กระโดดได้เก่งมาก อาจกระโดดได้สูงถึง 2 เมตร สรุปคือเป็นปลาที่มีอัตรารอดที่ต่ำกว่าปลาส่วนใหญ่ หากถูกจับส่วนใหญ่จะตาย ส่วนสาเหตุหลักที่ผลักดันให้ปลาพวกนี้ต้องสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว นอกจากการจับที่มากเกินไป การสร้างเขื่อนจำนวนมากก็เป็นเหตุผลหลักเช่นกัน

อันดับที่ 5. ปลาบู่เสือ (Brachygobius sua)

ปลาบู่เสือ มีความยาวประมาณ 2.7 เซนติเมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า บราชี่โกบิอัส ซวล (Brachygobius sua) เป็นปลาบู่ขนาดเล็กในสกุลของปลาบู่หมาจู่ แต่เส้นทางการอธิบายของปลาชนิดนี้ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะปลาชนิดนี้ถูกย้ายไปอยู่สกุลอื่นอยู่หลายครั้ง จนทำให้ข้อมูลเกิดความสับสนอยู่ไม่น้อย

ปลาบู่เสือ ถูกพบครั้งแรกโดย ดร. สมิธ (Dr.Hugh M.Smith) ซึ่งเป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ คนแรกของประเทศไทย โดยในครั้งแรกปลาบู่เสือ ถูกจัดให้อยู่ในสกุล ไทยโกเบียลา (Thaigobiella) ซึ่งเป็นสกุลที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ.2474

ปลาบู่ที่เป็นตัวอย่าง ซึ่งใช้ในการศึกษามีอยู่เพียงหนึ่งตัวเท่านั้น ซึ่งถูกจับได้จากคูน้ำในเขตกรุงเทพ โดยในเอกสารระบุว่า ปลาบู่ชนิดนี้ในชื่อ ไทยโกเบียลา ซวล (Thaigobiella sua) และอธิบายว่าเป็นปลาบู่ขนาดเล็ก มีพื้นลำตัวสีเหลืองอ่อน มีลายสีดำพาดอยู่ 4 ชุด ลายเด่นที่สุดคือชุดที่อยู่ใต้ครีบหลังที่สอง ซึ่งจะแยกออกเป็นสองเส้นอย่างชัดเจน และยังไม่พบปลาบู่ชนิดอื่นจากสกุลเดียวกัน

ปลาบู่เสือ (Brachygobius sua) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

และเพราะมีเพียงตัวอย่างเดียว จึงมีภาพประกอบเพียงภาพเดียว ก่อนจะส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ต่อมาในปี พ.ศ.2488 ดร.สมิธ (Dr.Hugh M.Smith) ก็ได้เขียนหนังสือ The fresh-water fishes of Siam or Thailand เขาได้ระบุว่า ตัวอย่างปลาบู่เสือตัวแรกและตัวเดียวที่มีอยู่ ได้สูญหายไปหลังจากนั้นไม่นาน และได้ย้ายปลาบู่เสือให้มาอยู่ในสกุลปลาบู่หมาจู่ หรือ สกุลบราชี่โกบิอัส (Brachygobius)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ดร.เฮเลน ลาร์สัน นักมีนวิทยา ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ปลาบู่ ได้ย้ายปลาบู่เสือ ไปเป็นชื่อพ้องของปลาบู่หมาจู ชนิด บราชี่โกบิอัส แซนโทโซนัส (Brachygobius xanthozonus) หรือ ปลาบู่บัมเบิลบี (Bumblebee fish) ด้วยเหตุนี้หากค้นหาชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาบู่เสือ ก็จะได้ข้อมูลของปลาบู่บัมเบิลบี

ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 ดร.เฮเลน ได้ส่งภาพและข้อความมาบอกผู้เขียนหนังสือปลาน้ำจืดไทย ซึ่งก็คือ ดร.นณณ์ ว่ามีตัวอย่างปลาบู่ตัวหนึ่งจากแม่น้่ำคาบิลี (Kabili River) ซึ่งอยู่ในซานดากัน (Sandakan) รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย โดยปลาตัวดังกล่าวมีรูปร่างและลวดลาย เหมือนกับคำอธิบายและภาพวาดของปลาบู่เสือ มากจนคิดว่าน่าจะมีอยู่จริง และเป็นที่น่าสงสัยว่าปลาบู่เสือในประเทศไทยนั้นหายไปไหนหมด? …สถานภาพในตอนนี้ ปลาบู่เสือ ยังไม่ถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ อาจเพราะการมีอยู่ของปลาชนิดนี้ยังไม่ชัดเจน

อันดับที่ 4. ปลาแปบเซี้ยะ (Longiculter siahi)

Advertisements

ปลาแปบเซี้ยะ ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร ถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2480 เป็นปลาที่ถูกจับได้ทางตอนเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีรายงานการพบเห็นอีกเลย ปัจจุบันมีตัวอย่างเพียง 2 ตัวเท่านั้น ทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ที่ สถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดเป็นปลาในตำนานอีกตัว

ปลาแปบเซี้ยะ (Longiculter siahi) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

อันดับที่ 3. ปลาค้อหัวหิน (Schistura myrmekia)

ปลาค้อหัวหิน ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร จัดเป็นปลาในตำนานของไทยอีกชนิด เนื่องจากที่ผ่านมามีตัวอย่างเพียงตัวเดียว และยังไม่เคยพบเจอปลาชนิดนี้อีกเลย จากคำอธิบายระบุว่า ปลาชนิดนี้มีลายปล้องสีเข้มจำนวน 8 ปล้อง โดยครึ่งหนึ่งอยู่ตรงทอนหางในส่วนที่เลยครีบหลังไปแล้ว ตัวอย่างเพียงตัวเดียวของปลาชนิดนี้ถูกเก็บได้ที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหัวหิน สถานะปัจจุบันไม่สามารถระบุได้

ปลาค้อหัวหิน (Schistura myrmekia) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong
Advertisements

อันดับที่ 2. ปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis)

ปลาหวีเกศ หรือ สายยู ยาวได้ประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นปลาที่อยู่ในสกุล พลาตีโทรปิอุส (Platytropius) ซึ่งมีอยู่เพียงชนิดเดียว และพบได้เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นปลาน้ำจืดเพียงชนิดเดียวของไทยที่ถูกประกาศการสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งประกาศเมื่อ ปี พ.ศ. 2554 โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN เนื่องจากมีการสำรวจอยู่หลายครั้ง แต่ไม่เคยพบปลาชนิดนี้เลย

ปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

ปลาหวีเกศมีส่วนหัวแบนยาว หนวดมีลักษณะแบน เป็นปลาไม่มีเกล็ด มีลักษณะของปลาสังกะวาดและปลาเนื้ออ่อนผสมกัน โดย ด.ร.ฮาร์มันด์ (Dr.Harmand) เก็บตัวอย่างได้จากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ. 2426 แล้วก็ไม่มีรายงานการพบอีกเลย

40 ปีต่อมา ดร.สมิธ (Dr.Hugh M.Smith) ซึ่งเป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรกของประเทศไทย ได้เขียนไว้ในหนังสือว่า พบปลาชนิดนี้ค่อนข้างมาก ทางตอนบนของแม่น้ำสายเดียวกันรวมถึงแม่น้ำนครนายก มีประวัติการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมได้จากบริเวณปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นปลาที่มักจะเข้ามาติดกับอุปกรณ์จับปลาขนาดใหญ่ เช่น ลี่ ซึ่งชาวบ้านมักจะสร้างกั้นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในตอนนี้ไม่ได้พบเห็นมาหลายสิบปีแล้ว

อันดับที่ 1. ปลาปีกไก่หนวดยาวแม่กลอง (Kryptopterus hesperius)

ปลาปีกไก่หนวดยาวแม่กลอง มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวยาว หัวแคบ หลังยกสูงขึ้นเป็นสัน มีหนวดสองคู่ ครีบหลังมีก้านครีบขนาดเล็กเพียงก้านเดียว หางจะเว้าลึก

ปลาปีกไก่หนวดยาวแม่กลอง (Kryptopterus hesperius) / หนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong

ตัวอย่างของปลาชนิดนี้ได้มาจากแม่น้ำแควน้อย อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2505 แต่เพิ่งได้รับการอธิบายลักษณะและแยกออกมาเป็นชนิดใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2545 จัดเป็นปลาระดับตำนานที่มีการอธิบายเพียงน้อยนิด และยังไม่เคยพบอีกเลยหลังพบตัวอย่างแรก สถานะปัจจุบันไม่สามารถระบุได้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements