5 ปลาเสือพ่นน้ำ ที่พบในประเทศไทย

ปลาเสือพ่นน้ำ จัดอยู่ในสกุลทอกโซเตส (Toxotes) ซึ่งในภาษากรีกแปลว่า “นักธนู” โดยลักษณะประจำตัวของปลาชนิดนี้ก็สมชื่อดี เพราะพวกมันมักจะลอยตัวอยู่แถวๆ ผิวน้ำ ตรงที่ๆ พืชชายน้ำขึ้นรก แพ เสาบ้าน หรือ วัสดุอะไรประมาณนี้ มันจะรอคอยจับแมลงที่มักจะมาเกาะวัสดุต่างๆ เมื่อมันสบโอกาส มันจะพ่นน้ำออกมาจากปากคล้ายกับการยิงธนู เพื่อส่งให้เหยื่อที่มันหมายตาตกลงมาในน้ำ และนี่คือเรื่องราวของปลาเสือพ่นน้ำที่พบได้ในประเทศไทย

สำหรับปลาเสือพ่นน้ำ ได้รับการอธิบายแล้ว 10 ชนิด พบกระจายพันธุ์อยู่ตามแนวชายฝั่งและแม่น้ำขนาดใหญ่ในเขตอินโด-แปซิฟิก ในอดีตประเทศไทยมีรายงานการพบ 3 ชนิด แต่หลังจากที่มีการศึกษาลึกมากขึ้น ก็พบชนิดใหม่อีก 2 ชนิด จึงทำให้ในไทยมีปลาเสือพ่นน้ำรวม 5 ชนิด และมีถึง 2 ชนิด ที่พบเฉพาะที่ไทยเท่านั้น หนึ่งคือปลาเสือพ่นน้ำสยามซึ่งพบที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และ ปลาเสือพ่นน้ำเกล็ดเล็ก ที่ถูกพบเมื่อ 160 ปีก่อน …ต่อไปมาทำความรู้จักเสือพ่นน้ำทีละชนิดกัน

ชนิดที่ 1. เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย (Toxotes chatareus)

Advertisements

เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย มักถูกอธิบายในชื่อเสือพ่นน้ำธรรมดา มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และก็สมชื่อ เพราะเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยแต่ก็มีประชากรที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดสนิทเช่นกัน ทั้งนี้ปลาเสือพ่นน้ำชนิดนี้จะมีเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัว 29 – 36 เกล็ด

ปลาเสือพ่นน้ำน้ำกร่อย (Toxotes chatareus)

เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย มีลักษณะค่อนข้างหลากหลาย เพราะมีลวดลายไม่เป็นระเบียบ แถมยังหลากหลายด้วย โดยในกลุ่มประชากรที่อยู่ในน้ำจืดสนิทจะมีลายแต้มที่ใหญ่กว่ากลุ่มที่อยู่ในน้ำกร่อย เป็นปลาที่มีก้านครีบแข็งบริเวณหลังยื่นยาวออกมาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีสีเหลืองอ่อนบริเวณครีบและหาง

พบปลาชนิดนี้ได้แถวๆ ปากแม่น้ำจนถึงตอนกลางของแม่น้ำขนาดใหญ่ สามารถหากินลึกเข้ามาจนถึงบริเวณน้ำจืดสนิทได้ แต่ไม่มีรายงานการพบในเขตน้ำทะเล เป็นปลาเสือพ่นน้ำถูกพบในตลาดปลาสวยงามมากที่สุด

ชนิดที่ 2. ปลาเสือพ่นน้ำน้ำเค็ม (Toxotes jaculatrix)

ปลาเสือพ่นน้ำน้ำเค็ม บางข้อมูลระบุเอาไว้ในชื่อ เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ถูกอธิบายไว้ว่าเป็นปลาเสือพ่นน้ำที่มีเกล็ดขนาดใหญ่ที่สุด มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัว 26 – 30 เกล็ด มีลายแต้มที่เป็นระเบียบขนาดใหญ่ 5 จุด ครีบหลังมีก้านแข็ง 4 ก้าน ครีบและหางมีสีเหลืองอ่อน ปลาเสือพ่นน้ำน้ำเค็ม พบอาศัยบริเวณชายฝั่ง หรือปากแม่น้ำที่มีความเค็มสูง

ปลาเสือพ่นน้ำน้ำเค็ม (Toxotes jaculatrix)

ชนิดที่ 3. ปลาเสือพ่นน้ำแม่โขง (Toxotes mekongensis)

แต่เดิมปลาเสือพ่นน้ำชนิดนี้ถูกอธิบายในชื่อ เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย (Toxotes chatareus) จนในปี พ.ศ. 2561 ก็ได้รับการแก้ไขใหม่ในชื่อปลาเสือพ่นน้ำแม่โขง เสือพ่นน้ำชนิดนี้จัดเป็นปลาขนาดค่อนข้างเล็ก มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัว 36 – 39 เกล็ด ลายกลางลำตัวมักจะเป็นเส้นยาวจากสันหลังจนถึงท้อง เป็นปลาเสือพ่นน้ำเพียงชนิดเดียวที่พบในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาที่ไหลผ่านประเทศไทย

ปลาเสือพ่นน้ำแม่โขง (Toxotes mekongensis)
Advertisements

ชนิดที่ 4. ปลาเสือพ่นน้ำสยาม (Toxotes siamensis)

Advertisements

ปลาเสือพ่นน้ำสยาม หรืออีกชื่อคือ เสือพ่นน้ำนครสวรรค์ เป็นหนึ่งใน 14 ปลาน้ำจืดที่มีชื่อ สยามเอ็นซิส อยู่ในชื่อ มันเป็นปลาที่ ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีเกล็ดที่เล็ก พื้นลำตัวและหางจะเป็นสีเหลืองเข้ม มีลายแต้มสีดำกระจายอยู่ทั่วตัว แต่ส่วนใหญ่ลายจะอยู่กลางลำตัว ชอบอาศัยในน้ำจืดสนิท พบมากในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ พบขายในตลาดปลาสวยงาม จัดเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยเท่านั้น!

ปลาเสือพ่นน้ำสยาม (Toxotes siamensis)

ชนิดที่ 5. ปลาเสือพ่นน้ำเกล็ดเล็ก (Toxotes microlepis)

ปลาเสือพ่นน้ำเกล็ดเล็ก เป็นปลาเสือพ่นน้ำในตำนาน จึงมีเรื่องเล่ามากหน่อย โดยเรื่องราวเริ่มต้น 160 ก่อนเป็นอย่างน้อย เมื่อปี พ.ศ. 2401 อองรี โมอู (Henri Houhot) ซึ่งเป็นนักสำรวจชาวฝรั่งเศล วัย 36 ปี เขาได้เดินทางมาสำรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ในช่วงเดือนตุลาคม อองรี่เดินทางจากกรุงเทพไปที่อยุธยาและสระบุรี จากนั้นก็กลับมากรุงเทพในเดือนธันวาคม โดยตัวอย่างของสัตว์ที่อองรีรวบรวมมาได้ และถูกส่งกลับไปที่อังกฤษ มีปลาเสือพ่นน้ำรวมอยู่ด้วย 3 ตัว จากนั้นก็ถูกอธิบายโดยนักมีนวิทยาชาวเยอรมัน ซึ่งในตอนนั้นเขาได้ทำงานให้กับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งลอนดอน และได้อธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธานว่าเป็นชนิด ทอกโซเตส ไมโครเลปิส (Toxotes microlepis) และมันคือเสือพ่นน้ำชนิดใหม่ในตอนนั้น

ต่อมาชื่อนี้ได้ถูกใช้กับปลาเสือพ่นน้ำในประชากรที่พบในน้ำจืด หลายลุ่มน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนว่าประชากรที่พบทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็ใช่ชื่อนี้เช่นกัน …ในขณะที่ปลาเสือพ่นน้ำเจ้าของชื่อไมโครเลปิส ตัวจริงมีตัวอย่างเพียงตัวเดียวเท่านั้น

สำหรับตัวอย่างเดียวของปลาเสือพ่นน้ำที่อองรี่ส่งไปที่ลอนดอน ตอนนี้ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในชื่อรหัส BMNH 1859.7.1.44 เป็นปลาที่ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร มีแต้มสีเข้มรูปไข่ บริเวณตอนบนของแผ่นปิดเหงือก เหนือครีบหู ใต้ส่วนต้นของครีบหลัง และใต้ส่วนกลางของครีบหลัง ไม่มีจุดหรือแต้มใดๆ บริเวณเหนือครีบก้น เป็นปลาที่มีเกล็ดเล็กมาก โดยเฉพาะบริเวณโคนหาง

ปลาเสือพ่นน้ำเกล็ดเล็ก มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัว 45 เกล็ด ในขณะที่เสือพ่นน้ำชนิดอื่นที่พบในไทยจะมีไม่เกิน 40 เกล็ด นอกจากนี้ปลาตัวอย่างมีตาอยู่ห่างจากแนวสันหัวค่อนข้างมาก ซึ่งจากลายและเกล็ดก็เพียงพอที่จะแยกออกมาจากปลาเสือพ่นน้ำชนิดอื่นแล้ว

มีเรื่องที่น่าสนใจอีกประการคือ จากตัวอย่างเสือพ่นน้ำสามตัวที่อองรี่ส่งไปนั้น ตัวอย่างอีกสองตัวแม้จะมีลายที่คล้ายกัน แต่กลับมีเกล็ดตามแนวเส้นข้างเพียง 37 และ 39 เกล็ดเท่านั้น และตาก็มีขนาดใหญ่ซึ่งอยู่บนสุดของแนวสันหัว ซึ่งยังไม่ได้จำแนกว่าเป็นชนิดใด ด้วยเหตุนี้ ตัวอย่างจริงๆ ของ ทอกโซเตส ไมโครเลปิส (Toxotes microlepis) จึงมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements