การพบสารพิษที่ซ่อนตัวในทะเล
ที่ความลึกประมาณ 900 เมตร ใต้มหาสมุทร หุ่นยนต์สำรวจใต้ทะเลได้เจอเข้ากับสิ่งที่ซุกซ่อนมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2483 มันคือถังสารพิษจำนวนมากซึ่งเป็น DDT ร่วงอยู่เต็มท้องทะเลระหว่างเขต Long Beach และเกาะ Catalina หุ่นยนต์สำรวจยังได้แสดงให้เห็นว่า สภาพรอบๆ เขตที่ทิ้งถังสารพิษ ได้กลายสภาพเป็นพื้นที่รกร้างไม่มีสิ่งมีชีวิต จำนวนถังทั้งหมดยังไม่สามารถระบุได้ แต่จากข้อมูลเป็นไปได้ว่ามันมีมากถึง 5 แสนถัง
หลังจากการทิ้งถังพวกนี้เมื่อประมาณ 80 ปี ก่อน การวิจัยของ Valentine ช่วยในการจำกัดบริเวณสารพิษพวกนี้เป็นอย่างมาก DDT พวกนี้สร้างหายนะทางทะเลแบบเงียบๆ มาหลายปี มันส่งผลหลายอย่าง รวมถึงเป็นต้นเหตุของมะเร็งในประชากรสิงโตทะเลด้วย
จุดเริ่มต้นหายนะ?
แรกเริ่ม DDT ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี พ.ศ.2417 แต่ต้องรอจนถึงปี พ.ศ.2482 ถึงจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ สิ่งนี้ถูกผลิตและใช้งานอย่างมากในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะกองทัพสหรัฐในแนวรบแปซิฟิค นั้นเพราะตามหมู่เกาะเขตร้อน เป็นแหล่งของยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย หลังสงคราม DDT ถูกใช้อย่างกว้างขวางทั้งในการเกษตรและเพื่อกำจัดแมลงตามบ้าน
แต่แล้วในปี พ.ศ. 2503 ได้มีการพบว่า DDT นั้นมีสารพิษที่เป็นอันตรายเกินไป จึงทำให้ในปี พ.ศ.2515 ได้มีกฏหมายห้ามการใช้ DDT ในสหรัฐ จนนำไปสู่การห้ามใช้ DDT ทั่วโลก
หลายปีที่ผ่านไป ขยะสารพิษทั้งหลายถูกกำจัดแบบชุ่ยๆ เช่นทิ้งลงในท่อระบายน้ำหรือทิ้งลงทะเล จากนั้นสารพิษที่เหลือ ก็ถูกขนขึ้นเรือและเพื่อนำไปทิ้งในทะเลที่ห่างจากฝั่งประมาณ 15-20 กิโลเมตร ..มันยากที่จะเชื่อ แต่ในตอนนั้นการทิ้งขยะพวกนี้ถูกกฏหมาย เพราะในตอนนั้นเจ้าหน้าที่คงคิดว่าทะเลมันกว้างมาก จึงไม่น่าจะมีปัญหา แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่ทำไปจะนำหายนะมาสู่คนรุ่นหลัง
ถึงแม้จะอ้างว่าทิ้งในความลึกถึง 900 เมตร แต่มันก็มีพวกที่แอบทิ้งใกล้ฝั่ง ที่สำคัญยังมีหลักฐานว่าถังพวกนี้ได้รับความเสียหายทำให้สารพิษรั่วไหลออกมา
ความจริงแล้ว มีการตรวจพบสารพิษนี้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 โดยกรมควบคุมคุณภาพน้ำแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ตรวจพบสาร DDT ในน้ำและได้รายงานแจ้งไป แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบ และถังพวกนี้ก็ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้
แหล่งทิ้งสารพิษใกล้ฝั่ง
การทิ้งสารพิษในแหล่งน้ำลึกยังสร้างความเสียหายขนาดนี้ การทิ้งในเขตน้ำตื้นยิ่งเลวร้ายกว่า จากชายฝั่ง 3 กิโลเมตร แถวๆ แรนโช ปาลอส (Rancho Palos) รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นอีกแหล่งที่มีการทิ้งสารพิษ ในปี พ.ศ.2539 เขตนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นเขตปนเปื้อนและต้องมีการทำความสะอาด ซึ่งกินพื้นที่มากถึง 88 ตารางกิโลเมตร
และยังมีการฟ้องร้องบริษัทมอนโทรส (Montrose) ซึ่งคดีก็ยืดเยื้อมาจนถึงปี พ.ศ. 2543 สุดท้ายบริษัทต้องจ่ายค่าเสียหาย 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,800 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนั้นถูกใช้ไปในโครงการฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหายจากสารพิษ
การฟ้องร้องนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของนักอนุรักษ์และหลักฐานที่ Valentine พยายามรวบรวมมานานหลายปี ในตอนแรกก็ไม่สามารถเอาชนะกลุ่มบริษัทได้ แต่เมื่อเรื่องราวได้ลงในหนังสือพิมพ์ เรื่องก็ได้รับความสนใจจนมีเสียงเรียกร้องจากประชาชน นำไปสู้การฟ้องร้องและชนะในที่สุด
หายนะที่เกิดกับสิงโตทะเล
มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ของสิงโตทะเลในเขตนั้น เพราะจากการศึกษาประชากรสิงโตทะเลนานกว่า 30 ปี นักวิจัยพบว่า พวกมันมากถึง 25% เป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าตกใจมาก
และยังมีการตรวจพบการปนเปื้อนสาร DDT และ PCBS ที่เป็นสารก่อมะเร็งในตัวสิงโตทะเลสูงมาก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ จนทำให้พวกมันเป็นโรคอื่นได้ง่ายขึ้น นักวิจัยเชื่อว่า พวกมันได้รับสารพิษจากบริเวณใกล้แหล่งผสมพันธุ์ของพวกมัน ซึ่งเป็นบริเวณเกาะ Channel
และแม้จะยังมีคำถามอีกมากที่ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่บทเรียนจากการปนเปื้อนของ DDT นั้นก็ชัดเจน เมื่อมนุษย์สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างโหดร้าย ก็จะมีผลกระทบถึงคนรุ่นหลัง ตัวอย่างในปัจจุบันคือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คำถามที่ตามมาคือ ลูกหลานเราจะต้องแบกรับภาระในอนาคตที่เกิดจากคนรุ่นเรามากน้อยแค่ไหน?
ข้อมูลเสริมเกี่ยวกับ DDT
ดีดีที (DDT) เป็นยาฆ่าแมลงประเภทสารสังเคราะห์ออร์กาโนคลอรีน นิยมใช้มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง DDT ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2417 โดย ออตมาร์ ซีดเลอร์ นักเคมีชาวออสเตรีย แต่ในตอนแรกเขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไรดี แน่นอนว่าไม่รู้ถึงคุณสมบัติในการกำจัดแมลงของ DDT จนในปี พ.ศ. 2482
นักเคมีชาวสวิส ก็รู้ว่าสิ่งนี้นำมาใช้ในการควบคุมโรคมาลาเรียและไข้รากสาดใหญ่ได้ และยังนิยมใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชและผลผลิตทางเกษตรกรรมในช่วงหลังสงคราม ประมาณการว่ามีการผลิตและใช้งาน DDT ถึง 1.8 ล้านตัน …DDT ถูกใช้มานานเกือบ 20 ปี โดยไม่มีใครพูดถึงผลกระทบในแง้ลบของมันเลย
จนในปี พ.ศ. 2505 นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ชื่อ ราเชล คาร์สัน ได้พิมพ์หนังสือชื่อ Silent Spring บรรยายถึงผลกระทบของ DDT ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม มันก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และทำให้สัตว์ป่าหลายชนิด เช่น อินทรีหัวขาว มีจำนวนลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ต่อมาจึงเกิดการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง และรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ DDT ในสหรัฐอเมริกา จนมีการประกาศกฎหมายห้ามใช้ DDT ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และเกิดอนุสัญญาสต็อกโฮล์ม ห้ามการใช้ DDT ทั่วโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544
สำหรับในประเทศไทย DDT ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก มันถูกใช้เพื่อกำจัดแมลงแทบทุกชนิด ในช่วงที่ตั๊กแตนระบาดแรกๆ DDT ก็เป็นตัวเลือกแรกเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าในประเทศไทยเองก็ถูกห้ามใช้ DDT และมีพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 กำหนดให้ DDT เป็นวัตถุอันตรายในประเภท 4 ซึ่งหมายถึงกลุ่มวัตถุมีพิษ ห้ามผลิตหรือนำเข้าและส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง ทำให้ปัจจุบันไม่น่าจะพบเห็นการใช้หรือขาย DDT ในประเทศไทยแล้ว