ไทยเตรียมลดระดับ ‘จระเข้น้ำจืด’ สายพันธุ์ไทย จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างข้อเสนอการปรับลดบัญชี "จระเข้น้ำจืด" พันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) ซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้สามารถส่งออกสินค้าจระเข้ไปต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับต่อธุรกิจการค้าจระเข้ของไทยที่เน้นจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ ทำให้ปริมาณจระเข้ที่มีการเพาะเลี้ยงในประเทศมีมากเกินความต้องการของตลาด

ปี 2564 มีจระเข้เพาะพันธุ์ประมาณ 1.26 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีประมาณ 0.73 ล้านตัว อีกทั้งจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย (Crocodylus Siamensis) จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในบัญชี 1 ห้ามส่งออกตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เว้นแต่เป็นฟาร์มจระเข้ที่ขึ้นทะเบียนฟาร์มสำหรับเพาะพันธุ์กับ CITES ซึ่งไทยมีฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนเพียง 29 แห่ง จากฟาร์มทั้งหมดทุกประเภท 928แห่ง

จระเข้น้ำจืด

ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้ทุกประเภททั้งฟาร์มเพาะพันธุ์ ฟาร์มการค้า และผู้ครอบครองจระเข้ มีช่องทางในการส่งออกสินค้าจระเข้ไปต่างประเทศได้มากขึ้น ครม.(14 มิ.ย.65) จึงมีมติเห็นชอบร่างข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย (Crocodylus Siamensis) ต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 22 พ.ย.2565 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ร่างข้อเสนอฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยจากบัญชี 1 เป็น บัญชี 2 ตามอนุสัญญา CITES โดยไม่มีการนำจระเข้ตามธรรมชาติมาส่งออกเพื่อการค้าในเชิงพาณิชย์ แต่จะดำเนินการเฉพาะจระเข้ที่มาจากการเพาะพันธุ์เท่านั้น ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีจระเข้ตามธรรมชาติมากกว่า 100 ตัว โดยอาศัยอยู่ตามพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 6 แห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

สำหรับอนุสัญญา CITES เป็นความตกลงที่ไทยร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2518 ปัจจุบันมีสมาชิก 184 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มากรมประชาสัมพันธ์