ตกปลา มือใหม่ รู้จักพื้นฐานรอกสปินนิ่งให้มากขึ้น ตอนที่ 1

อุปกรณ์ตกปลาที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะหน้าดิน หรือตีเหยื่อปลอม จะมี คันเบ็ด, รอกตกปลา และสาย ในการตกปลาสมัยใหม่หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งจะเริ่มตกปลาไม่ได้ แต่เรื่องนี้จะขอพูดถึงเฉพาะรอกตกปลา และเน้นไปที่รอกสปินนิ่ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นรอกอเนกประสงค์ ใช้ได้ง่าย และได้รับความนิยมในไทยค่อนข้างมาก เอาละมาเริ่มกันเลย

มีนักตกปลาจำนวนมากที่ยังใช้รอกตกปลาไม่ตรงกับประเภทของ รอกตกปลา ที่ถูกออกแบบมาเช่น ใช้ รอกทรอลลิ่ง (Trolling Reel) กับงานเหยื่อเป็น หรือใช้งานโดยไม่เข้าใจว่ากลไกของรอกตรงจุดๆ นั้นทำงานแบบใด จึงทำให้รอดตกปลาเกิดความเสียหายได้ เช่น ปรับปุ่มที่เป็นจุดรองรับแกนเพลาของหลอดเก็บสาย (รอกทรอลลิ่ง) เพื่อเพิ่มแรงเบรกหรือใช้รอกตกปลาเกินขีดความสามารถที่ถูกออกแบบมา

เช่น ใช้รอกสปินนิ่ง ( Spinning Reel) กับงานลากเหยื่อ หรือประกอบรอกตกปลากับคันเบ็ดที่ไม่ได้ออกแบบมาให้เข้ากัน เช่น ประกอบรอกสปินนิ่งกับคันเบ็ดเบทคาสติ้ง เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนั้น นักตกปลาส่วนหนึ่งได้ปฏิบัติมาแล้วโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดังนั้นบทความตอนนี้ จะเป็นการแนะนำวิธีใช้รอกตกปลาแต่ละแบบอย่างถูกต้องตามที่ผู้ผลิตออกแบบมา และตามหลักสากลที่เขาใช้กัน และก่อนที่เราจะพูดถึงการใช้รอกตกปลาแบบใดก็ขอแยกแยะรูปแบบของตัวรอกและการใช้งานให้เห็นข้อแตกต่างกันเสียก่อน ถ้าเราจะแบ่งกลุ่มของรอกตกปลาตามรูปแบบของการใช้งานก็คงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ

รอกสปิน

1. กลุ่มที่ใช้กับงานเหวี่ยงเหยื่อ ( Casting )

Advertisements

รอกตกปลากลุ่มนี้ ถูกออกแบบมาให้ใช้กับงานเหวี่ยงเหยื่อออกไปได้ไกลๆ ทั้งเหยื่อสด (Bait) และเหยื่อปลอม (Lure) รอกตกปลากลุ่มนี้ก็มีรอกสปินนิ่ง (Spinning) เบทคาสติ้ง (Baitcasting Reel) รอกฟลาย (Fly Reel) รอกไซค์ รอกสปิน (Side Casting Reel) รอกสปินคาสติ้ง (Side casting Reel) เป็นต้น

รอกใน กลุ่มนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับงานที่ไม่หนักจนเกินไป ทั้งนี้ก็เพราะกลไก ระบบทำงานของรอกรองรับกับงานหนักได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ผลิตรอกกล่มนี้จึงผลิตในขนาดเล็กถึงปานกลางเท่านั้น เป็นการชี้นำไม่ให้ผู้ใช้นำไปใช้กับงานหนักจนเกินไป

2. กลุ่มที่ใช้กับงานลากเหยื่อ และตกปลาหน้าดิน

Trolling and Bottom Fishing รอกตกปลากลุ่มนี้ (ความจริงมีอยู่ชนิดเดียว) ถูกออกแบบมาให้ใช้กับงานหนัก ด้วยรูปแบบ และกลไกที่ต่างไปจากรอกกลุ่มแรกมันจึงนำไปใช้กับงานเหวี่ยงเหยื่อได้ไม่ดีเท่าที่ควร รอกประเภทนี้ ถูกออกแบบมาให้มีขนาดตั้งแต่ขนาดปานกลาง (ความจริงรุ่นเล็ก ๆ ก็มีแต่ได้รับความนิยมไม่มากนัก) ไปจนถึงขนาดใหญ่ยักษ์ใช้ตกปลาขนาดหลายร้อยกิโลกรัม

จะเห็นว่ารอกตกปลาทั้ง 2 กลุ่มนี้มีรูปแบบหรือประเภทของตัวรอกมีชื่อเรียกต่างกันไปหลายแบบด้วยกัน แต่จะใช้กับงานตกปลาต่างกันไป 2 วิธีคือใช้กับงานเหวี่ยงเหยื่อ และไม่ได้ใช้กับงานเหวี่ยงเหยื่อจากความนิยมในการใช้งานรอกแต่ละแบบ

ก็คงจะเริ่มแนะนำวิธีใช้รอกตกปลากับ รอกสปินนิ่ง (Spinning Reel) กันก่อน เพราะมีนักตกปลาใช้รอกแบบนี้มากกว่ารอกตกปลาทุกแบบถือว่าเป็นรอกตกปลาฝึกหัดของนักตกปลามือใหม่ก็ว่าได้การใช้งานของรอกตกปลาโดยรวม (ทุกประเภท) แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ

ก. กลไกและระบบการทำงาน
ข. การบรรจุสายเบ็ดและประกอบกับคันเบ็ด
ค. วิธีการใช้งาน และบำรุงรักษา

ทั้ง 3 ส่วนนั้นจะใช้กับรอกตกปลาทุกรูปแบบเหมือน ๆ กัน ดังนั้นรอกสปินนิ่งจึงมีขั้นตอนของการใช้งานตามลำดับดังนี้

ก. กลไกและระบบการทำงาน

ของรอกสปินนิ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า รอก ประเภทนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับงานเหวี่ยงเหยื่อ ( Casting) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้ตกปลาหน้าดิน ปล่อยสายลอย หรือกับการลากเหยื่อ (ไม่หนักจนเกินไป) นั้น รอกสปินนิ่งก็ใช้งานได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ามันถูกออกแบบมาให้ใช้กับงานเหวี่ยงเหยื่อได้ดีเท่านั้นเองกลไกของตัวรอกเป็นส่วนที่ประกอบอยู่ในโครงสร้าง ของตัวรอก ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ

1. ตัวเรือนของรอกที่ประกอบกลไก

เริ่มต้นการขับเคลื่อนให้รอกทำงานจะเริ่มจาก มือหมุน (Handle) จุดเด่นของมือหมุนที่ใช้กับรอกสปินนิ่งในทุกวันนี้ก็คือ ถอดเปลี่ยนกลับข้างการใช้งานได้ (รอกสปินนิ่งรุ่นแรก ๆ มือหมุนจะอยู่ด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียวถอดเปลี่ยนไปอยู่อีกด้านหนึ่งไม่ได้) จึงทำให้ผู้ใช้งานที่มีความถนัดในการใช้ ไม่ว่าจะเป็นซ้ายหรือขวาปรับเปลี่ยนมือหมุนให้ใช้งานได้ตามที่ต้องการ

นอกจากนี้มือหมุนของรอกสปินนิ่งส่วนมากจะพับเก็บให้แนบไปกับตัวเรือของรอก หรือถอดออกได้เพื่อความสะดวกต่อการเก็บเมื่อไม่ใช้งานระบบเปลี่ยนข้างมือหมุนมักใช้ระบบขันเกลียวคือปลายแกนเพลา ด้านตรงกันข้ามกับมือหมุนถูกทำเป็นเกลียวเอาไว้โดยมีปุ่มขันเกลียวล็อคมือหมุนให้คงที่ ตรงจุดนี้ผู้ใช้รอกสปินนิ่งควรระมัดระวังพอสมควรต่อการปรับหรือขันเกลียวให้แน่น เมื่อเวลาใช้มือหมุน หรือช่วงคลายเกลียวเพื่อพับแขนมือหมุนอาจหมุนคลายมากไปจนปุ่มปรับหลุดหายได้

2. ตัวโรเตอร์ ( Rotor)

กลไกตัวนี้ นักตกปลาทางบ้านราอาจเรียกเป็น เรือนหมุน หรือ ถ้วยหมุน ส่วนมากนิยมเรียกทับศัพท์เดิมว่า ตัวโรเตอร์ กลไกตัวนี้ประกอบอยู่ทางด้านหน้าตัวเรือนของรอก เชื่อมติดกันด้วยเฟืองตัวหนอน ( Pinion Gear) ที่มีน็อตล็อคกับตัวโรเตอร์ ซึ่งสามารถหมุนได้รอบตัวทิศทางตามเข็มนาฬิกา (มองจากทางด้านหลังของตัวโรเตอร์)

ลักษณะของตัวโรเตอร์เป็นถ้วยทรงกระบอกสั้นๆ มีกลไกสำคัญชิ้นหนึ่ง ประกอบอยู่ด้านบนของตัวโรเตอร์ นั่นก็คือ แขนกว้านสาย (Line pick-up Bail Bail pick-up) กลไกชิ้นนี้ ทำหนาที่ม้วนเก็บสายเข้ามาเก็บในหลอดเก็บสายหรือ สปูล (Spool) แขนกว้านสาย มีลักษณะเป็นก้านลวดโค้งครึ่งวงกลมอยู่เหนือตัวโรเตอร์ ปลายทั้ง 2 ด้านยึดอยู่กับตัวโครงสร้างของโรเตอร์

ซึ่งด้านหนึ่งจะยึดอยู่กับชิ่นส่วนที่มีลูกล้อรองรับสายเบ็ด หรือไลน์โรเลอร์ (Line Roller) ประกอบอยู่ สายเบ็ดจะถูกดึงเข้าหรือผ่านตรงจุดนี้แขนกว้าน สายสามารถปรับหรือผลักให้พริกไปอยู่อีกด้านหนึ่ง (เมื่อเวลาต้องการจะปล่อยสายเบ็ดออกไป)และจะถูกผลักให้กลับตำแหน่งเดินเมื่อผู้ใช้หมุนมือหมุนของรอกเดินหน้าไปประมาณ 1 รอบ

จากนั้นระบบกลไกภายในจะทำหน้าที่ผลักกลไกปลดล็อคแขนกว้านสาย ด้วยเหตุนี้เมื่อผลักแขนกว้านสายให้เปิดออก (ผลักเข้ามา) จึงทำให้สายเบ็ดในหลอดเก็บสายเป็นอิสระที่จะถูกดึงออกไปได้ง่าย นั่นก็คือทำให้ผู้ใช้สามารถเหวี่ยงเหยื่อออกไปได้อย่างสะดวก

รอกตกปลารุ่นแรกๆ ที่มีขนาดใหญ่ ไม่มีกลไกของแขนกว้านสายคงมีแต่ชุดไลน์ โรลเลอร์ หรือลูกล้อรองรับสายเบ็ดทำหน้าที่ม้วนเก็บสายเข้ามาแทน เมื่อผู้ใช้ต้องการจะเหวี่ยงเหยื่อออกไป ก็เพียงดึงสายเบ็ดให้พ้นจากตัวไลน์โรเลอร์ ออกมาเท่านั้นเอง เวลาจะม้วนเก็บสายเบ็ดกลับไปก็คล้องสายเบ็ดกับตัวไลน์โรเลอร์ ปัจจุบันคงพบรอกสปินนิ่งได้น้อยมาก

3. ตัวหลอดเก็บสายหรือ สปูล (Spool)

เป็นชิ้นส่วนอยู่ทางด้านหน้าสุดของตัวรอก ตัวหลอดเก็บสาย ของรอกสปินนิ่งรุ่นแรกๆ เป็นแบบอินเทอร์นัส สปูล (lnternal spool) คือขอบของหลอดเก็บสายด้านในจะอยู่ภายในตัวโรเลอร์ แต่ปัจจุบันนี้หลอดเก็บสายของรอกสปินนิ่ง เป็นแบบสเกิร์ต สปูล (Skirt Spool) ไปหมดแล้ว คือตัวโรเลอร์ของรอกจะอยู่ด้านในของหลอดเก็บสาย

ด้วยการออกแบบดังกล่าวทำให้หมดปัญหาจากการที่สายเบ็ดหลุดจากหลอดเก็บสายแบบเก่า หรือ อินเทอร์นั่ลสปูลเข้าไปพันกับแกนเพลาของตัวรอก หลอดเก็บสายของรอกสปินนิ่งระบบเบรกหน้า (Front Drag) นั้น ตรงแกนกลางของหลอดเก็บสายถูกออกแบบเป็นถ้วยทรงกระบอก เพื่อบรรจุชิ้นส่วนของเบรกที่จะช่วยชะลอหรือหยุดการหมุนของหลอดเก็บสายซึ่งเราจะนำไปพูดถึงกันในส่วนของระบบเบรก

ด้านหน้าของหลอดเก็บสายก็จะมีปุ่มล็อคหลอดเก็บสาย (กับรอกสปินนิ่งระบบเบรกท้าย) และเป็นปุ่มปรับเบรกไปพร้อมกัน (กับรอกสปินนิ่งระบบเบรกหน้า) กลไกหรือชิ้นส่วนของรอกสปินนิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นการแยกให้เห็นโครงสร้างรวมของรอกสปินนิ่ง ที่เห็นได้จากภายนอกโดยแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน เราจะพูดถึงรายละเอียดของกลไกภายในตัวเรือนรอกกันในตอนต่อไป

อ่านเรื่อง > มือใหม่หัดตี กับเรื่องของคันเบ็ด

Advertisements