อยากรู้ว่าการตกปลาน้ำจืดมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันที่
- การปรับเบรกในการตกปลาน้ำจืด
- เทคนิคการสู้กับปลาเวลาตกปลาน้ำจืด
- การอัดปลาเวลาตกปลาน้ำจืด
- การบังคับทิศทางของปลาเวลาตกปลาน้ำจืด
- ข้อควรระวังในการตกปลาน้ำจืด
- เทคนิคการตักปลา
- การตักปลาคนเดียวเวลาตกปลาน้ำจืด
- การตักปลาโดยมีผู้ช่วย
ก่อนที่จะไปตกปลาน้ำจืด ไปเรียนรู้กันก่อนว่า ปลาน้ำจืดแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เรียนรู้นิสัยปลาน้ำจืดก่อนออกไปตกปลา ยังไงก็ไม่แห้ว
การปรับเบรกในการตกปลาน้ำจืด
รอกสปินนิ่งมีทั้งเบรกหน้าและเบรกท้าย ถ้าเป็นเบรกหน้าเราจะไม่มีเครื่องหมายอะไรที่จะบอกตำแหน่งของการปรับเบรกเลย แต่ถ้าเป็นเบรกท้ายรุ่นดีๆ ที่หมุนปรับได้ไม่เกิน 2 รอบ ยังพออาศัยตัวเลขจากปุ่มปรับเพื่อการจดจำได้
โดยปกติในการ ตกปลา จะสามารถปรับตั้งเบรกจะมีอยู่ 2 วิธีคือ
1.ใช้เครื่องชั่ง เช่น ตาชั่งสปริงโดยการผูกตาชั่งสปริงติดกับวัสดุที่อยู่กับที่ แล้วนำสายเบ็ดไปผูกกับตะขอของตาชั่งสปริง โดยมีผู้ช่วยคอยอ่านค่าให้ฟัง ปรับเบรกของรอกให้แน่นสุดแล้วอัดคันขึ้นให้ตาชั่งสปริงทำงานตามน้ำหนักที่ต้องการ
เช่น 1 กก. หรือ 2 กก. ค้างคันเบ็ดไว้ที่ตำแหน่งเดิมในขณะที่น้ำหนักบนตาชั่งตรงกับที่เราต้องการ ค่อยๆ คลายเบรกออกช้าๆ จนสายเริ่มออกจากรอกได้นั่นแหละคือตำแหน่งของการตั้งเบรคที่ต้องการ หลักโดยทั่วๆ ไป เราจะตั้งเบรกประมาณ 1 ใน 3 ของแรงดึงสาย เช่น ใช้สาย 6 lb ก็จะตั้งประมาณ 2 lb (ประมาณ 1 กก.) เป็นต้น
“เอาจริงๆ ผมเองไม่รู้ว่าจะยังมีใครใช้วิธีนี้อยู่หรือเปล่า แต่บอกเลยผมใช้ตามความรู้สึก”
2. ตั้งตามความรู้สึก เป็นวิธีการที่ต้องอาศัยความชำนาญของตัวเอง กล่าวคือต้องคลายเบรกออกจนสุด แล้วค่อยๆ ปรับเบรกให้แน่นขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อย โดยการปรับครั้งหนึ่งแล้วใช้มือดึงสายออกจากรอกดูว่าง่ายหรือออกยาก จนถึงจุดๆ หนึ่งที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด คือไม่หนักเกินไปและเบาเกินไป แต่อย่าลืมอย่างหนึ่งว่า การดึงสายตรงหน้ารอก กับการดึงสายที่ปลายคันจะมีความรู้สึกต่างกันมาก
บางครั้งเราดึงสายทดสอบตรงหน้ารอกคิดว่าพอดีแล้ว แต่ถ้าไปลองดึงที่ปลายคันในจังหวะคันกำลังอัด จะรู้สึกหนักแรงมากทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามการปรับเบรกให้อ่อนเล็กน้อย จะลดอัตราสายขาดได้ดีกว่า แม้จะสู้กับปลานานขึ้นก็ตาม
เทคนิคการสู้กับปลาเวลาตกปลาน้ำจืด
เมื่อปลาติดเบ็ดแล้วนั้น ย่อมหมายถึง เกมของการต่อสู้ได้เริ่มขึ้นแล้ว ถ้าเป็นปลาเล็กๆ นั้น คงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรเวลาตกปลาน้ำจืด
แต่ถ้าเป็นปลาใหญ่โดยใช้สายเบ็ดเล็กบางครั้งหัวใจของคนตกแทบจะลงไปกองอยู่ที่ตาตุ่มเช่นกัน และแน่นอนว่าถ้าคนตกไม่รู้เทคนิคหรือไม่ชำนาญพอโอกาสที่จะได้ตัวมีน้อยมาก
การอัดปลาเวลาตกปลาน้ำจืด
มือขวาที่จับก้านยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม มือซ้ายจับด้ามมือหมุนของรอก เบรกปรับไว้เรียบร้อยแล้ว ด้ามคันเบ็ดแนบกับลำแขน เป็นจังหวะที่พร้อมจะสู้กับปลาแล้ว
โยกคันขึ้นด้านบนโดยโยกตัวตามด้วย จนลำแขนและด้ามคันเบ็ดทำมุมเกือบ 90 องศา ในจังหวะนี้ปลาอาจจะแข็งแรง ลากสายออกไปได้บ้างไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าปลาไม่ลากสายพออัดคันขึ้นรอกก็ร้อง นั่นแสดงว่าเบรกอ่อนไปให้ตั้งเบรกแข็งขึ้นอีกเล็กน้อย
ค่อยๆ ลดคันลงช้าๆ โดยโน้มตัวลงตาม พร้อมกับมือซ้ายหมุนรอกเก็บสายตามไปด้วย ในช่วงนี้ถ้ารอกร้องหมายถึงปลาลากสายอยู่ ห้ามหมุนรอกกรอสายเด็ดขาด การหมุนรอกกรอสายได้ก็ต่อเมื่อสายไม่เอนออกจากรอกเพราะเราต้องการเก็บสายเข้ารอก
แต่ถ้าสายออกจากรอกแล้วหมุนรอก นอกจากจะไม่สามารถเก็บสายได้แล้วยังเป็นการสร้างเกลียวให้กับสายอีกด้วย การอัดปลาลักษณะนี้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแต่อย่างไร การรีบร้อนบางครั้งปลาจะสะบัดตัวจนสายขาดก็มีมาก
การบังคับทิศทางของปลาเวลาตกปลาน้ำจืด
ทุกครั้งที่ปลากินเบ็ดถ้าเป็นปลาขนาดใหญ่หน่อย เราจะพบว่าปลาจะไม่ว่ายหนีไปเป็นเส้นตรงออกไป แต่จะว่ายออกทางซ้ายบ้างขวาบ้าง หรือบางครั้งอาจจะว่ายสวนเข้ามาหาที่เรายืนตกอยู่
เราจำเป็นต้องบีบบังคับทิศทางการหนีของปลาหรือเรียกว่า “คอนโทรล” คู่ต่อสู้ของเราให้ได้ วิธีการบังคับทิศทางของปลาเป็นวิธีการที่ง่ายมาก
คือเพียงแค่โยกคันเบ็ดไปในทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางที่ปลาว่ายหนี ปลาก็จะว่ายเบนกลับตามทิศทางที่เราต้องการ เช่น ปลาว่ายออกไปทางซ้าย เราก็อัดคันกลับมาทางขวาปลาก็จะว่ายกลับมาตามต้องการ
ข้อควรระวังในการตกปลาน้ำจืด
การตกปลาร่วมกันมากๆ ในบ่อตกปลา เมื่อปลาติดเบ็ดเรามันอาจจะว่ายไปพาดสายของคันเบ็ดคันอื่น ถ้าเจ้าของคันเบ็ดไม่รู้ว่าเป็นปลาติดเบ็ดว่ายพาดสาย อาจเข้าใจว่าปลากำลังกินเบ็ดในคันของเขา ก็อาจจะตวัดคันเบ็ดทำให้สายเบ็ดของเราขาดได้
ดังนั้นเมื่อปลาติดเบ็ดควรระวังกรณีนี้ด้วย ถ้าเห็นท่าไม่ดีตะโกนบอกกล่าวกันบ้างก็จะเป็นการช่วยได้มาก
เทคนิคการตักปลา
เคยเห็นไหมว่า ทำไมบางคนจึงตักปลาหรือช้อนปลาได้ง่ายดายเหลือเกิน แต่บางคนตักแล้วช้อนอีกก็ไม่ได้แถมยังพาลจะทำเอาปลาหลุดไปเพราะสายขาดอีก เรื่องนี้มันมีเทคนิคในตัวของมันเองเล็กน้อย
การตักปลาถ้ามีผู้ช่วยตัก ทั้งคนตกและคนตักจะต้องทำงานสัมพันธ์กันและเข้าใจวิธีการดีพอ ส่วนการตักปลาด้วยตัวคนเดียวก็ทำความเข้าใจเสียคนเดียว จัดการคนเดียวไปเลย
โดยปกติปลาที่ถูกอัดเข้ามาจนเทียบชายตลิ่งจะเป็นปลาที่อ่อนแรงเต็มที่ การช้อนตักจะไม่ยากเย็นนัก แต่ก็มีเป็นจำนวนมากที่กินเบ็ดใกล้ๆ การอัดเข้ามาใกล้ฝั่งไม่ทำให้ปลาเหน็ดเหนื่อยอ่อนแรง บางครั้งตื่นตูมไม่ยอมลงสวิงง่ายๆ อย่างที่คิด
การตักปลาคนเดียวเวลาตกปลาน้ำจืด
ควรสู้กับปลาให้อ่อนแรงจริงๆ เสียก่อน จนแทบจะเรียกได้ว่าปลาหงายท้องก่อน จึงค่อยช้อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นย่อมหมายถึงว่า ในบริเวณที่ตกนั้นไม่มีสิ่งกีดขวางอื่นๆ เช่น มีตอไม้ใต้น้ำ ที่อาจทำให้สายเบ็ดขาดได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นรีบอัดเข้ามาใกล้ตัวย่อมเป็นการดี
เปลี่ยนมือที่ถือคันมาเป็นมือซ้าย มือขวามือสวิงจุ่มน้ำเตรียมรอท่าโยกคันบังคับให้ปลาว่ายไปทางซ้ายทีขวาที จนกระทั่งได้จังหวะจึงโยกคันอย่าเร็วให้ปลาพุ่งเข้าหาสวิงที่รอยู่
เมื่อปลาพุ่งเข้าหาสวิงรีบลดคันลงให้สายหย่อนพร้อมกับมือขวาที่ถือสวิงให้จังหวะโอกาสเดียวกันพุ่งเข้าหาปลาเล็กน้อยพร้อมกับยกขึ้นทันที
การตักปลาโดยมีผู้ช่วย
คงต้องแยกกันทำงาน โดยเข้าใจขั้นตอนและวิธีการคล้ายกับการตักปลาคนเดียว ผู้ช่วยถือสวิงจุ่มน้ำรออยู่ ผู้ตกก็บังคับทิศทางให้ว่ายไปซ้ายทีขวาทีกลับไปกลับมาในเชิงหลอกล่อปลาจนได้จังหวะ
จึงโยกคันอย่างเร็วให้ปลาพุ่งเข้าหาสวิง พร้อมกับลดคันเบ็ดลงให้สายหย่อน ในจังหวะนี้ผู้ช่วยที่รู้แกวอยู่แล้วก็จะรีบพุ่งสวิงเข้าหาพร้อมกับยกปลาขึ้น
สรุป: ข้อควรระวังในการตักปลา
1. อย่าให้ผู้ที่ตักปลาไม่เป็นมาช่วยตักปลาให้ เพราะอาจทำให้สายขาดได้ในกรณีตักปลาพลาด หรือสวิงเกี่ยวสายเบ็ดขาด
2. สวิงไม่แข็งแรงนัก อย่ายกปลาขึ้นแบบแบกของ ให้ยกปลาขึ้นในแนวดิ่ง (ลักษณะคล้ายสาวด้ามขึ้นมา
3. การหย่อนสายเบ็ดเป็นสิ่งสำคัญเพราะถ้าสายตึงปลาจะติดอยู่ตรงปากสวิง ไม่เข้าสวิงสักทีเคล็ดส่วนใหญ่จะอยู่ตรงนี้นี้เอง
สำหรับใครที่ชอบการใช้รอกสปินนิ่ง ลองไปดูการใช้ตั้งแต่พื้นฐานเพื่อการใช้ที่ถูกต้องกันดีกว่า เรียนรู้เรื่องรอกสปินนิ่งแบบง่ายๆ เพิ่มความเข้าใจก่อนออกไปตกปลา
มือใหม่หัดตี กับเรื่องของคันเบ็ด
ปลาดูดกระจกธรรมดา กลายเป็นสายพันธุ์รุกรานที่น่ากลัวได้ยังไง