วิธีการทำไม่ยาก เพียงแต่นำปลากดมาสับเงี่ยงออกให้หมดแล้วฝ่าท้องออกให้เป็นรูปปากฉลาม เพื่อไม่ให้เสียเนื้อปลาส่วนหน้าท้องไป ควักไส้ควักพุงออกให้หมดแต่ไม่ต้องล้างน้ำ แล้วนำปลาใส่ถึงพลาสติกหนาๆ ที่เตรียมมา เมื่อใส่แล้วก็รัดปากถุงให้แน่น โดยพยายามรีดเอาอากาศในถึงออกให้หมดแล้วนำไปแพ็คน้ำแข็ง และควรเลือกเอาปลาที่มีเนื้อแข็ง
ดูว่าปลาสดหรือเปล่า..?
เทคนิควิธีการดูก็คือด้วยการใช้นิ้วกดลงไปบนเนื้อปลา ถ้าปลาเนื้อนิ่มจะสังเกตได้จากถ้าเรากดลงไปบนเนื้อปลามันจะบุ๋มลงไป นั่นแสดงว่าเนื้อปลาเริ่มฉุและจะมีกลิ่นตุๆ ออกมา เหตุก็เนื่องมาจากตอนมันตายใหม่ๆ ผู้ตกไม่ยอมนำปลาขึ้นจากน้ำปล่อยไว้จนเนื้อมันออกสีขาวปนเทาจนเมือกมันหลุดออกไปทำให้ตัวมันซีด ท้องจะป่องและจะทำให้เสียรสชาติของเนื้อปลาไป เหตุที่ไม่ให้ล้างน้ำตอนทำปลาก็ด้วยสาเหตุนี้ละ เพราะต้องการรักษาความปลาเอาไว้ และที่ใช้ถุงหนาๆ ก็เพราะกันไม่ให้น้ำเข้าไปในถุงนั่นเอง
แล้วถ้าไม่มีถุง..?
หลายคนคงสงสัยว่าถ้าเราไม่มีถุงแล้วเอาปลาแช่น้ำแข็งเลยจะได้ไหม บอกเลยว่าไม่ได้เพราะน้ำแข็งก็คือน้ำ จริงอยู่ที่น้ำแข็งมีความเย็นของมันคงไม่เย็นตลอดเวลาหรอก ต้องมีการระเหยกลายเป็นไอและมีน้ำมาแทนที่ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งน้ำจะเต็มลังโฟม ปลาก็จะลอยในน้ำแทนน้ำแข็งและปลาก็น่าจะเน่าในเวลาต่อมา หรือถ้าเจาะรูลังโฟมเพื่อให้น้ำระเหยออกแล้ว ปลาที่ได้ก็จะไม่สดและไม่อร่อย เนื้อจะอกสีขาวเป็นคาวเนื่องจากเมือกคาวมันจะหลุดออกไป และถ้าปล่อยแช่ไว้อย่างนั้นปลาก็จะนิ่มและเน่าอีกเหมือนกัน
ไม่ควรเอาปลาที่กลิ่นไม่ดีไปรวมกับตัวอื่น
เทคนิคอีกประการหนึ่งก็คือเมื่อรู้ว่าปลาตัวไหนมีกลิ่นไม่ดีก็ไม่ควรจะเอารวมกับปลาตีเพราะจะทำให้เหม็นไปหมด เวลาแช่น้ำแข็งก็ควรแยกประเภทปลาด้วยก็จะเป็นการดี เพราะปลาบางชนิดมีคาวแรงเช่นปลาสายยูที่มีเมือกคาวเยอะมาก และเป็นปลาที่เน่าง่ายถ้าไม่ผ่าท้องเอาใส้ออกหน้าท้องจะบางมาก
ปัญหาอีกอย่างในการดองปลาในลังโฟม
ก็คือถ้าเราออกตกปลาทริพนานๆ ข้ามวั้นข้ามคืนได้ปลาเยอะ ซึ่งทำให้มีการเปิดลังโฟมบ่อยครั้ง จะทำให้น้ำแข็งละลายเร็วและมีน้ำมาแทนที่ เราก็มีวิธีการง่ายๆ คือเจาะรูเล็กที่ก้นลังโฟม และน้ำแข็งที่ใช้ก็ควรจะเป็นน้ำแข็งป่น และก็ควรโรยเกลือเม็ดซะด้วยเพื่อให้น้ำแข็งละลายช้าลง
เทคนิควิธีการเหล่านี้ไม่เป็นต้องใช้กับปลากดเพียงอย่างเดียว สามารถใช้ได้กับปลาทุกประเภททุกชนิดแต่ต้องดูว่าปลาชนิดไหนที่มันเน่าเร็ว นั่นไม่สมควรจะแช่รวมกับปลาอื่น สำหรับพวกน้าๆ ที่ไม่สามารถเตรียมลังโฟมไปด้วยได้ก็ควรจะมีกระชังใหญ่ๆ ที่ดูแล้วแข็งแรงมาก ๆ เช่นถ้าเป็นกระชังเชือกก็ควรจะเป็นเส้นใหญ่ๆ ตาหนึ่งเซ็นต์ เย็บเข้าเป็นปมแน่นหนาไม่รูด
วิธีการเก็บรักษากระชัง
การดูแลรักษากระชังก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประสบปัญหาปลาหายไปจากกระชังได้ คือไม่ควรเก็บกระชังไว้ในที่มีคาบความร้อนหรือที่อับใต้หลังคาสังกะสีหรือกลางแดด เพราะจะทำให้เชือกเปื่อยและขาด และเมื่อเลิกใช้กระชังแล้วก็ควรจะล้างกระชังให้สะอาดปราศจากกลิ่นเหยื่อกลิ่นคาวปลา เพราะนั่นก็จะเป็นวิธีการหนึ่งที่กระชังของคุณจะรอดจากปากหนูปากแมลงสาบที่มาคอยแทะเล็มกระชังให้ได้รับความเสียหาย
เทคนิคการชังปลากดในกระชัง
โดยธรรมชาติของปลากดเป็นปลาที่หากินตามพื้นหน้าดินอยู่แล้ว แม้กระทั่งการสู้เบ็ดมันก็พยายามจะลงหาตอ ฉะนั้นการขังปลากดในกระขังเป็นสิ่งที่จะต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง ถ้ากระชังคุณเป็นเชือกถักธรรมดาที่ผูกเชือกห้อยไว้เหนือพื้นดินไปปากกระชังพ้นน้ำแบบทั่วๆ ไป โอกาสที่ปลากดของคุณจะหายไปจากกระชังมีความเป็นไปได้ถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะมันจะทะลุทะลวงกระชังของคุณอย่างง่ายดายให้เป็นรูโหว่ได้ ถ้าคิดจะตัดเงี่ยงแล้วขังไว้ได้โปรดอย่าทำ เพราะนั่นเท่ากับว่าชี้ทางตายให้มันแล้ว เพราะหากปล่อยต่อไปไม่นานมันก็ตายอยู่ดี
วิธีแก้ไขก็คือควรเปลี่ยนเป็นกระชังลวดชะจะหมดปัญหาไป หรือถ้างบน้อยก็มีเทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่พอจะถูๆ ไถๆ ไปได้ นั่นคือการใช้กระชังเชือกนี่แหละถ่วงหินให้ถึงพื้นดิน แต่ต้องดูน้ำหนักหินด้วยว่าหนักไปเกินที่กระชังจะรับไหวหรือเปล่า ปลาของคุณก็จะไม่พยายามดิ้นรนหาพื้นดินมากนัก นอกจากมันจะแสนรู้เท่านั้นแหละ วิธีนี้ก็ได้ผลแค่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเจอใหญ่ๆ ระดับสามโลขึ้นไปละก้อ อย่างไปใส่กระขังเชือกโดดเด็ดขาด กระโดดสามสี่ครั้งเท่านั้น รูเบ้อเริ่มเทิ่มเลยละ ผมเองเคยโดนมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดว่าจะขังปลากดตัวใหญ่ไว้ในกระชังธรรมดาละก้อ คุณกำลังจะเป็นผู้โชคร้ายในอนาคต
เรื่องเล่ามือใหม่ จินตนาการกับการ ตกปลา