ต้องยอมรับว่าเป็นที่ถกเถียงกันมานาน เรื่องสีของเหยื่อปลอม เกี่ยวข้องกับการตกปลาหรือไม่ หลายคนอาจจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปลามองเห็นแค่ 2 สี คือ ขาว กับ ดำ แต่ก็มีคนอีกบางกลุ่มที่บอกว่ามันสามารถจำแนกสีสันของเหยื่อได้ เพราะ ปลาหลายพันธ์ไม่ได้ใช้สายตาในการจำแนกเหยื่อเพียงอย่างเดียว แต่ใช้มันในการหาคู่ผสมพันธ์ และ หลบซ่อนอำพรางตัวอีกด้วย หลังจากนั้น ผมไปเจอข้อมูลชุดนึงที่น่าสนใจจาก หนังสือ มีนวิทยา และ ได้หยิบ Paragraph นึงที่น่าสนใจมาให้ลองอ่านกันครับ
ในหนังสือ มีนวิทยา กล่าวว่า..
การรับภาพสีของปลา
ปลากระดูกแข็งบางชนิดสามารถรับภาพสีได้ หน้าที่ในการรับภาพก็เข้าใจว่าจะเป็นเซลล์รูปกรวย นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาเครื่องมือพิเศษ ที่เรียกว่า Microspectrophotometer เพื่อทำการศึกษาเรื่องการรับภาพสีของปลา โดยจำแนกลักษณะการแยกสีของเซลล์รูปกรวยแต่ละแบบในปลาต่างๆ เซลล์รูปกรวยมีอยู่ 4 แบบ คือ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และ อุลตราไวโอเล็ต
• เซลล์กรวยสีแดง : เซลล์นี้จะดูดแสงสีแดงที่มีช่วงความยาวคลื่นแสงประมาณ 600 นาโนเมตร
• เซลล์กรวยสีเขียว : ทำหน้าที่ดูดแสงสีเขียวที่มีช่วงความยาวคลื่นแสงประมาณ 530 นาโนเมตร
• เซลล์กรวยสีน้ำเงิน : ทำหน้าที่ดูดแสงสีน้ำเงินที่มีช่วงความยาวคลื่นแสงประมาณ 460 นาโนเมตร
• เซลล์กรวยอุลตราไวโอเล็ต : ทำหน้าที่ดูดแสงยูวี ที่มีช่วงความยาวคลื่นแสงประมาณ 350 นาโนเมตร ปลาจึงสามารถมองเห็นแสงยูวีได้
เซลล์รูปกรวยในปลาแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน
เซลล์กรวยในปลาบางชนิดมีอยู่ 3 แบบ บางชนิดก็มีอยู่ 4 แบบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระดับความลึก และ ปริมาณแสงที่มันอาศัยอยู่ อาจมีเซลล์รูปกรวยอยู่เพียง 2 แบบเท่านั้นในปลาทะเลที่อยู่ในระดับกลางน้ำ และ ปลาน้ำลึกในน้ำจืด คือ แบบที่สามารถผ่านลงไปในน้ำได้ดีที่สุดจะเป็น สีน้ำเงิน และ สีเขียว นอกจากปลาจะมีสายตาดี สามารถรับภาพได้กว้างไกลแล้ว ปลาหลายชนิดก็ยังสามารถตรวจสอบแสงไฟฟ้าที่มีประจุได้ เช่น พวกวงศ์ปลาแมว วงศ์ตะเพียน วงศ์แซลมอน วงศ์ปลานิล จึงทำให้การจำแนกวัตถุใต้น้ำของปลาเหล่านี้ได้เปรียบกว่าปลาพวกอื่นๆ โดยรู้ว่าภาพข้างหน้านั้นเป็นเหยื่อ ศัตรู หรือ เนื้อคู่ และ ใช้ในการอพยพก็สามารถควบคุมทิศทางได้ดีด้วย
พอจะสันนิษฐานได้ว่า ปลาที่มีสีสันสวยงามอยู่ในดงปะการัง น่าจะมีการรับภาพได้ดี เพื่อดึงดูดเหยื่อ คู่ หรือ ล่อพรางตาให้เหยื่อเกิดความสับสน ในปลาหลายชนิดจะมีเซลล์รูปกรวยขนาดเล็กแยกอยู่เป็นเซลล์เดี่ยว และสามารถรับแสงยูวีได้ แต่ยังไม่ทราบถึงประโยชน์ของการมองเห็นแสงยูวีของมัน เช่นในปลาวงศ์ตะเพียน วงศ์ปลาเทราต์
หลังจากที่ผมได้ลองอ่านข้อมูลชุดนี้ ก็ยังไม่อาจฟังธงได้ว่า สีของเหยื่อมีผลต่อการมองเห็นของปลาหรือไม่.. จากประสบการณ์ส่วนตัว สำหรับผมแล้วสีของเหยื่อ “มีผล” ต่อการมองเห็นของปลา เพราะ เคยเจอวันที่กินแต่สีๆเดียว ไม่แตะสีอื่นเลย ทั้งนี้องค์ประกอบก็ไปด้วยหลายปัจจัย เช่น สีของน้ำ ระดับความลึกของน้ำ ชนิดของปลาล่าเหยื่อ และ สภาพอากาศของวันนั้นๆครับ
ทิ้งท้ายไว้สำหรับเรื่องนี้ครับ ผมอยากได้ความคิดเห็นของน้าๆนักตกปลาทุกท่านที่มีประสบการณ์ ช่วยแชร์ประสบการณ์ที่ท่านเคยเจอลงใน Comment นี้จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆเลยครับ
เรียบเรียง : Soros R. Rattanachai
อ้างอิง : หนังสือ มีนวิทยา และ คุณ สุภาพร สุกสีเหลือง
อ่านเพิ่มเติม > ทฤษฎีแสงและเหยื่อปลอม