เรื่องนี้เขียนขึ้นโดยน้า BiXmOUTh นะครับ สปูนเป็นเหยื่อปลอมที่มีมาแต่สมัยโบราณ ตามหลักฐานเก่าแก่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการตกปลาก็พบว่า เหยื่อปลอมลักษณะคล้ายสปูนนี้มีอยู่ในหลายๆจุดทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องเล่าของพวกอะบอริจิน ภาพเขียนเรื่องการประมงในแม่น้ำไนล์ หรือแม้แต่บ้านเรา ก็ยังมีศัพท์โบราณเรียกเหยื่อแบบนี้ว่า กระจาน จนกลายเป็นที่มาของชื่อเขื่อนและแหล่งตกปลาที่โด่งดังในปัจจุบัน แก่งกระจาน
น้ำหนักและรูปทรงของสปูนนี้มีความหลากหลายมาก ตัวผมเองมีสปูนที่เบาที่สุด คือมีน้ำหนักเพียง 1 กรัม แล้วก็มีตัวที่หนักที่สุดคือหนักกว่า 1 ขีด ส่วนรูปทรงของสปูนก็มีทั้งแบบทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยม) และแบบทรงใบหลิว ซึ่งแต่ละแบบก็ยังมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปอีกในแต่ละยี่ห้อ แล้วนักตกปลาเคยรู้สึกแปลกใจไหมว่า แค่ไอ้แผ่นโลหะงอๆแบบนี้ ทำไมแต่ละแบบจึงใช้งานแตกต่างกันมากขนาดนั้น วันนี้ผมจะมาเปิดเผยศาสตร์ของสปูนกันอย่างหมดเปลือก ให้ถึงขนาดที่ว่า เพียงคุณได้สัมผัสตัวสปูน ก็สามารถเดาแอ็คชั่นของสปูนตัวนั้นได้อย่างใกล้เคียงความจริง
เพื่อให้เราได้เข้าใจศาสตร์การทำงานของสปูนได้ง่ายขึ้น ก่อนอื่นผมอยากให้เราได้รู้จักส่วนต่างๆของบอดี้ของสปูนกัน แผ่นโลหะที่เป็นบอดี้ของสปูนนั้นประกอบด้วย ลิ้น, ขอบ, ท้อง, หน้า, และสุดท้ายก็ หู ตำแหน่งต่างๆของส่วนประกอบเหล่านี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าสปูนตัวนั้นๆจะมีแอ็คชั่นแบบใด
หลังจากที่เราได้รู้จักกับส่วนประกอบของบอดี้ของสปูนแล้ว ทีนี้ผมอยากให้นักตกปลาได้เข้าใจถึงพลศาสตร์ของไหลที่เกิดขึ้นกับตัวเหยื่อสปูนเมื่ออยู่ในน้ำ ..เมื่อเหยื่อสปูนที่เราเหวี่ยงไปนั้นตกลงที่ผิวน้ำแล้ว เหยื่อสปูนจะพลิกเอาด้านหน้าเหยื่อลงโดยที่ท้องจะปะทะกับท้องด้านโค้ง ดันเหยื่อให้แกว่งน้อยๆแล้วก็ดิ่งลงไปตามแรงดึงดูดโลก ที่จังหวะนี้ หากเหยื่อสปูนตัวนั้นมีหาง แบบสปูน BFG แผ่นหางจะถูกแรงต้านน้ำที่ปะทะพาเอาตัวเบ็ด3 ทางนั้นพับแนบเก็บเข้ามาที่ท้องเหยื่อด้านเว้าด้วย ดังนั้นผู้ที่ใช้สปูนกับการตกแบบทิ้งดิ่งบ่อยๆจะเห็นได้ว่า เหยื่อสปูนโดยมากตอนขาลงนั้น เหยื่อจะหลบอุปสรรคได้ค่อนข้างดี แต่เหยื่อที่หลบอุปสรรคอย่างกับกิ่งไม้ได้ ก็มักจะเกี่ยวกับอุปสรรคนั้นในจังหวะที่เรากรอขึ้น
ต่อไป เมื่อเหยื่อถูกกรอ เริ่มจากความเร็วที่ต่ำๆก่อน น้ำส่วนหนึ่งจะผ่านด้านหลังของหูบน ผ่านลิ้นไปปะทะกับท้องเหยื่อแล้วดันให้เหยื่อสไลด์ออกไปเพราะแรงต้านจนกระทั่งตัวเหยื่อพลิกหลบแรงต้านนั้นได้ แต่ก็จะเกิดแรงต้านใหม่ที่ขอบของท้องอีกด้านหนึ่งดันให้เหยื่อสไลด์ออกไปในทิศทางตรงกันข้าม มันจะสลับกันไปอย่างนี้ตลอดในการกรอที่อัตราเร็วที่สม่ำเสมอ
แอ็คชั่นการทำงานของเหยื่อแบบนี้ภาษาฝรั่งเรียกว่า Wobbling ผมขอเรียกเป็นไทยว่า “กวัดไกว” ก็เลยกัน แต่เมื่อเรากรอในอัตราที่เร็วขึ้น แรงต้านใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อเหยื่อสไลด์หนีแรงต้านเดิม จะไม่ได้เกิดขึ้นที่ท้องเหยื่อ แต่จะปะทะกับด้านหน้าของใบสปูน ทำให้เกิดการหมุนควงเพื่อรักษาให้ตัวเองอยู่ในศูนย์กลางของแรงดึงที่มาจากการกรอ อันนี้ภาษาฝรั่งเรียก Rolling ส่วนผมขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า “หมุนควง” นะครับ ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานของสปูนเมื่ออยู่ในน้ำ
แท้จริงแล้วเป็นที่เข้าใจกันอย่างง่ายๆว่า
เหยื่อสปูนจะทำงานอยู่ 2 แบบคือ
1. แบบกวัดไกวไปมา
2. แบบหมุนควงรอบตัว
ซึ่งทั่วไปแล้วก็จะตั้งข้อสังเกตกันเป็นหลักไว้ว่า ถ้าเหยื่อสปูนตัวนั้นมีรูปทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยม) ก็จะเข้าใจเอาว่า สปูนตัวนั้นจะทำงานแบบกวัดไกวเป็นหลัก และถ้าเป็นเหยื่อสปูนทรงใบหลิว ก็จะทำงานแบบควงรอบตัว อย่างนี้เป็นต้น
แต่ในความเป็นจริง ในการออกแบบสปูน เมื่อเราปรับตำแหน่งนู้นนิดนี่หน่อย การทำงานของสปูนก็จะมีรูปแบบผสมผสานได้ ซึ่งโดยมากก็จะได้ออกมาเป็น 4 ลีลาก็คือ
1. ลีลากวัดไกว
2.ลีลาควงรอบตัว
3. ลีลากวัดไกวผสมกับควงตัว
4. ลีลาที่มาเหมือนเลข 8 (อารบิค)
ต่อไปเรามาว่ากันด้วยเรื่องของลีลาทั้ง 4 ของสปูนกันเสียหน่อย อย่างที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่า สปูนที่ถูกดีไซน์ออกมา โดยมากก็จะให้ลีลาอยู่ 4 แบบ คือ 1. ลีลากวัดไกว 2. ลีลาควงรอบตัว 3. ลีลาผสมผสานกวัดไกว+ควงรอบตัว และ 4. ลีลาลบิดตัวเป็นเลข 8 (อารบิค) ทีนี้เราจะดูอย่างไรว่าสปูนทรงไหนจะให้ลีลาอะไร
1. ลีลากวัดไกว
2. ลีลาควงรอบตัว
3. ลีลาผสมผสานกวัดไกว+ควงรอบตัว
4. ลีลาบิดตัวเป็นเลข 8 (อารบิค)
ครั้งต่อไปที่ซื้อสปูน ลองสังเกตดูกายภาพของสปูน แล้วจินตนาการดูว่าสปูนจะทำงานในลักษณะใด แล้วทดสอบดูว่าเป็นเหมือนที่คิดไว้หรือไม่ ..ขอให้สนุกกับการใช้สปูน
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ทำยังไง.! หาช่อนเขี้ยวในหลอด ด้วยเท็กซัสกระดึกๆ