ชนิดที่ 1 – ปลาช่อน
หากพูดถึงปลาที่ทนทานที่สุด ที่แม้จะอยู่บนบกก็ไม่ตายง่ายๆ ส่วนใหญ่น่าจะบอกว่า “ปลาช่อน” ซึ่งเป็นปลาในสกุล Channa (/ชาน-นา/) และปลาในสกุลนี้ก็มีมากกว่า 35 ชนิด แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกชนิดที่ทนได้เท่ากับปลาช่อนนาที่พวกเราเอามาย่างกินกัน
หากคุณได้ดูเรื่อง “35 ปลาช่อนสกุลชานนาจากทั่วทุกมุมโลก” ที่ผมทำไป อาจจะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างกันแล้ว หากมองดีๆ ปลาช่อนทั้ง 35 ชนิด มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่มีลวดลายและสีสันสุดแสนจะธรรมดา นั้นก็คือ “ปลาช่อนนา” นั้นเอง ปลาที่แปลกแตกแยกจากกลุ่มจริงๆ ก็คือปลาช่อนนานั้นละ
และแม้ว่าปลาช่อนส่วนใหญ่จะไม่สามารถขึ้นมาแห้งบนบกโดยไม่ตายง่ายๆ เหมือนปลาช่อนนาได้ แต่พวกมันในสกุลชานนาทั้งหมดสามารถเลี้ยงได้โดยไม่ต้องเติมออกซิเจน และชนิดที่แพงที่สุดก็คือ ปลาช่อนบาร์กา (Channa Barca) ที่ได้ชื่อว่า “จักรพรรดิปลาช่อน” ที่มีราคาหลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาท และหากถามว่าชนิดไหนหาง่าย ราคาถูกและสวย น่าจะเป็นปลากั้งหรือปลาก้าง พวกมันจัดเป็นปลาช่อนแคระที่มีสีสดใส ส่วนปลาช่อนชนิดอื่นๆ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์ 35 ปลาช่อน
ชนิดที่ 2 – ปลาแรด
ปลาแรดที่ยังไม่สูญพันธุ์และมีอยู่ในธรรมชาติมีอยู่ 4 ชนิด หนึ่งคือ ปลาแรดธรรมดา ซึ่งรวมถึงปลาแรดเผือก สองคือ ปลาแรดแม่น้ำโขง หรือ ปลาแรดเขี้ยว สามคือ ปลาแรดแดง ซึ่งจัดเป็นปลาแรดที่หายากที่สุด และสี่คือ ปลาแรดหกขีด …ปลาแรดในรายชื่อนี้ ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็สามารถเลี้ยงได้โดยขาดออกซิเจน
ทั้งนี้ ปลาแรดที่หาง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ปลาแรดธรรมดา ซึ่งเป็นปลาแรดที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำของไทย ในตลาดปลาสวยงาม ปลาแรดเผือกจะมาจากปลาแรดชนิดนี้ …หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาแรด สามารถกดดูได้ที่ลิงค์ท้ายเรื่อง “ปลาแรด 4 ชนิด ที่ยังหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติ”
ชนิดที่ 3 – ปลากราย
จริงๆ ปลาในวงศ์ของปลากรายจะมีอยู่หลายชนิด แต่ที่ผมอยากจะแนะนำให้รู้จักจะเป็นปลากรายชนิดที่พบได้ในธรรมชาติประเทศไทย ซึ่งจะมีอยู่ 4 ชนิด หนึ่งคือ ปลากราย (Chitala ornata) ที่เป็นปลากรายชนิดแรกที่จะต้องนึกถึง สองคือ ปลาตองลาย (Chitala blanci) สามคือ ปลาสะตือ (Chitala lopis) และสี่คือ ปลาสลาด (Notopterus notopterus)
จากรายชื่อทั้ง 4 ชนิด ถือว่าเป็นปลาที่ดูโดดเด่น สามารถนำมาเลี้ยงสวยงามได้ แต่! คุณต้องจำไว้ว่า ยกเว้นปลาสลาด ปลากรายอีก 3 ชนิด ถือเป็นปลาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสะตือที่อาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร การเลี้ยงในตู้อาจต้องใช้ตู้ขนาดใหญ่ หรือให้ดีคือลงบ่อไปเลย และหากถามว่าผมชอบชนิดไหนที่สุด ก็คงเป็นตองลาย เพราะลายมันสวยดี แต่ก็หายากหน่อยนึง และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลากราย สามารถกดดูได้ที่ลิงค์ ปลา 4 ชนิดใน ‘วงศ์ปลากราย’ ที่คุณพบได้ในธรรมชาติประเทศไทย
ชนิดที่ 4 – ปลาดุก
จริงๆ ปลาในวงศ์ของปลาดุกมีหลายชนิดมาก แต่ที่ผมจะมาพูดถึงจะเป็นปลาที่ได้ชื่อ “ปลาดุกน้ำจืด” ที่เป็นปลาพื้นเมืองของไทย ซึ่งเท่าที่ผมรู้จักมีอยู่ 5 ชนิด หนึ่งคือ ปลาดุกอุย (Broadhead catfish) เป็นชนิดที่เนื้ออร่อยและหาได้ยากในธรรมชาติ เนื่องจากโดนปลาดุกรุกรานชนิดอื่นแย่งพื้นที่
ชนิดที่สองคือ ปลาดุกด้าน (Walking catfish) ชนิดนี้ไม่ค่อยเหมาะเอามาเลี้ยงในตู้ เพราะไม่ค่อยสวย เนื้ออร่อยสู้ปลาดุกอุยไม่ได้ ชนิดที่สามคือ ปลาดัก (Blackskin catfish) เป็นปลาที่มีผิวเนื้อสีดำ จึงมีอีกชื่อว่าปลาดุกเนื้อเลน ชนิดที่สีคือ ปลาดุกลำพัน (Slender walking catfish) และชนิดที่ห้าคือ ปลาดุกลำพันภูเขา (Hillstram walking catfish)
ปลาดุกทั้ง 5 ชนิดสามารถเลี้ยงตู้ได้ แต่ชนิดที่สวยผมว่าคงมีแค่ ปลาดุกลำพันทั้งสองชนิด แต่มันก็เป็นปลาที่เลี้ยงยากหน่อย เพราะแม้จะไม่ได้ต้องการออกซิเจนอะไร แต่เพราะมันเป็นปลาเฉพาะถิ่น มันจึงมีความต้องการค่าน้ำเฉพาะนิดหน่อย โดยเฉพาะปลาดุกลำพัน ซึ่งเป็นปลาในป่าพรุ และลำธารในป่าดิบชื้น มันจะชอบน้ำที่นิ่งและเป็นกรด การเลี้ยงพวกมันให้รอดจึงต้องศึกษาซะหน่อย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาดุก สามารถกดดูได้ที่ลิงค์ 5 ปลาดุกน้ำจืดไทยแท้ ที่พบในธรรมชาติ
ชนิดที่ 5 – ปลาไหลนา
จริงๆ ปลาไหลที่อยู่ในสกุลเดียวกับปลาไหนนา จะมีอยู่อย่างน้อย 15 ชนิด แต่ผมขอพูดถึงเฉพาะปลาไหลนาที่สายมูเอามาปล่อยลงน้ำก็น่าจะพอ โดยปกติปลาไหลนาในไทย ถือเป็นปลาอเนกประสงค์ซะยิ่งกว่าปลาช่อน มันกินได้ เลี้ยงสวย สะเดาะเคราะห์ใบ้หวยก็ยังได้
และหากมองในมุมปลาตู้ ปลาไหลนาเองก็มีหลายสีหลายลาย ขึ้นอยู่กับโชคชะตาที่คุณจะเดินไปเจอ มีทั้งเผือก เหลือง ชมพู ด่างวัวอะไรประมาณนี้ หากเป็นพวกลายแปลกๆ ก็เหมาะเอามาเลี้ยงสวยงาม แต่จะเลี้ยงต้องดูดีๆ ปลาไหลเป็นของโปรดปลาช่อน ปลากราย วันดีคืนดีอาจหายไปได้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาไหลนา สามารถกดดูได้ที่ลิงค์ ปลาไหลนา ปลาอเนกประสงค์
ชนิดที่ 6 – ปลากัด
ปลากัดถือเป็นหนึ่งในปลาที่โด่งดังที่สุดในตลาดปลาไทยและต่างประเทศ โดยปลากัดที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของไทย จะมีอยู่อย่างน้อย 10 ชนิด และยังมีพวกที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์อีกมากมาย หากนับรูปแบบสีและลายผมว่ามีเป็นพันเป็นหมื่น
แรกเริ่มปลากัดในไทยถูกเลี้ยงโดยมีเป้าหมายเอามากัดเดิมพัน ต่อมาปลาเริ่มมีขนาดใหญ่และสวยขึ้น ก็เริ่มเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่เพราะปลากัดส่วนใหญ่เหมาะที่จะเลี้ยงเดี่ยวๆ วิธีเลี้ยงจึงเป็นการใส่ไว้ในขวดเล็กๆ เรียงเป็นแถวๆ ซึ่งก็สวยดี หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลากัด สามารถกดดูได้ที่ลิงค์ 10 ปลากัด ‘สายพันธุ์ดั้งเดิม’ ที่กำเนิดในธรรมชาติประเทศไทย
ชนิดที่ 7 – ปลาข้าวสาร
แม้ในตลาดปลาสวยงามจะนิยมปลาข้าวสารญี่ปุ่น หรือ เมดากะ (Medaka) ซึ่งมีอยู่หลากหลายสีสัน แต่ในไทยเองก็มีปลาข้าวสารในธรรมชาติถึง 5 ชนิด ทุกชนิดสามารถเลี้ยงได้โดยไม่ต้องเติมออกซิเจน
โดยชนิดที่แนะนำก็คงเป็น ปลาข้าวสารแคระ (Oryzias minutillus) ตัวเล็กจิ้ว เลี้ยงแล้วในอารมณ์เหมือนปลาก้างพระร้วงเพราะตัวจะใส อีกสองชนิดคือ ปลาข้าวสารชวา (Oryzias javanicus) ก็สวยไม่น้อย และ ปลาข้าวสารแม่โขง (Oryzias mekongensis) ชนิดนี้ถือว่าหายากเลยทีเดียว หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาข้าวสาร สามารถกดดูได้ที่ลิงค์ ปลาข้าวสาร 5 ชนิด ที่พบได้ในไทย
ชนิดที่ 8 – ปลากระดี่ – ปลาสลิด
ปลากระดี่และปลาสลิดเป็นปลาในสกุลเดียวกัน ทั่วโลกมีทั้งหมด 6 ชนิด แต่ในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด และหนึ่งในนั้นก็คือ “ปลาสลิด” ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของคนไทย ทั้งนี้ ปลากระดี่และปลาสลิด เป็นปลาที่สามารถหายในเอาอากาศจากผิวน้ำได้โดยตรง จึงไม่จำเป็นต้องเติมออกซิเจนในน้ำ แต่ถึงอย่างงั้นก็ควรรักษาคุณภาพน้ำให้ดี
ความจริงปลาในกลุ่มนี้ ถือเป็นปลาที่สวยงามทุกชนิด โดยเฉพาะ ปลากระดี่มุก (Trichopodus leerii) จะสวยเป็นพิเศษ เนื่องจากลำตัวมีลายสีขาวคล้ายมุกขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วตัว ส่วนคางและท้องจะมีสีส้ม จึงเป็นปลาที่ดูสดใสและแปลกตา …หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลากระดี่ สามารถกดดูได้ที่ลิงค์ ปลากระดี่-ปลาสลิด 5 ชนิดที่พบในไทย
ชนิดที่ 9 – ปลาหัวตะกั่ว
ปลาหัวตะกั่วก็คล้ายปลากัด ตรงที่ในสมัยก่อนนิยมเลี้ยงเพื่อเอามากัดเดิมพัน แน่นอนว่ามีการพัฒนาสายพันธุ์ด้วย แต่ก็ยังไม่เท่ากับปลากัด สำหรับปลาในสกุลของปลาหัวกั่วถือเป็นปลาที่มีถิ่นอาศัยกว้างใหญ่ที่สุดในโลก โดยพวกมันถูกรู้จักกันในชื่อ คิลลิฟิช (killifish)
สำหรับปลาหัวตะกั่วที่พบในไทย บางทีก็เรียก หัวกั่ว หัวงอน หัวเงิน เป็นปลาที่ทนทาน อยู่ได้ทั้งน้ำไหล น้ำนิ่ง ชอบลอยอยู่ตามผิวน้ำ และแม้จะไม่ได้ต้องการออกซิเจน แต่ก็ยังต้องการน้ำคุณภาพที่ดี หากต้องการเลี้ยงต้องศึกษานิดหน่อย …หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาหัวตะกั่ว สามารถกดดูได้ที่ลิงค์ ‘ปลาหัวตะกั่ว’ ปลาธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
ชนิดที่ 10 – ปลาหางนกยูง
จริงๆ แล้วปลาหางนกยูงไม่ใช่ปลาพื้นเมืองของไทยตั้งแต่แรก มันถือว่าเป็นปลารุกรานชนิดแรกๆ ที่เข้าไทยเลยก็ว่าได้ และในตอนนี้ก็สามารถพบมันได้ในแหล่งน้ำจืดทั่วไปของไทย และยังพบได้ตามอ่างเลี้ยงบัวหน้าบ้านด้วย จึงขอนับว่าเป็นปลาไทยไปเลยละกัน
ปลาหางนกยูงในตอนนี้มีความแปลกจะสวยงามกว่าสมัยก่อนมากๆ เนื่องจากได้รับการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งสีและรูปร่างก็มีให้เลือกซื้อมากมาย แน่นนอนว่าทั้งหมดสามารถเลี้ยงได้โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนเลย ความจริงมันอาจทนและเลี้ยงง่ายที่สุดในปลาในเรื่องนี้เลย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาหางนกยูง สามารถกดดูได้ที่ลิงค์ รู้หรือไม่ปลาหางนกยูง ไม่เคยมีในประเทศไทย