ปลา 4 ชนิด ‘วงศ์ปลากราย’ ที่คุณพบได้ในธรรมชาติประเทศไทย

ในธรรมชาติประเทศไทย มีปลาที่อยู่ในวงศ์ปลากรายอยู่ 4 ชนิด และที่มีในถิ่นกำเนิดอื่นอีก 6 ชนิด ซึ่งในส่วนนี้ขอเน้นไปที่ของไทยก่อน ชนิดที่เหลือขอเอาไว้พูดถึงที่หลัง ..ว่าแล้วก็เริ่มกันเลย

ปลากรายในไทย

วงศ์ปลากรายคืออะไร?

Advertisements

วงศ์ปลากราย (Featherback fish, Knife fish) จัดอยู่ในอันดับของปลาที่มีกระดูกแข็งบริเวณส่วนหัวและลิ้น มันจึงอยู่ในอันดับเดียวกับวงศ์ปลาตะพัดและวงศ์ปลาอะราไพม่า ซึ่งวงศ์ปลากรายจะใช้ชื่อว่า “โนโตเพเทอริแด (Notopteridae)”

ปลาในวงศ์นี้จะเป็นปลาน้ำจืด ที่มีรูปร่างแบนด้านข้างมาก และเรียวไปทางด้านท้าย มันจะมีครีบหลังเล็กมาก มีครีบก้นและครีบหางยาวติดกัน เป็นปลาที่สามารถขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อฮุบเอาอากาศได้โดยตรง พบได้ตั้งแต่ทวีปแอฟริกา, เอเชียใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยวงศ์ปลากรายจะมีทั้งหมด 4 สกุล 10 ชนิด ซึ่งจะพบได้ในไทย 4 ชนิด โดยแบ่งเป็นสกุลปลาตอง ไคตาลา (Chitala) 3 ชนิด และสกุลปลาสลาด โนทอปเทอรัส (Notopterus) อีก 1 ชนิด

ชนิดที่ 1 – ปลากราย (Chitala ornata)

ปลากราย (Clown Featherback) เป็นปลาชนิดแรกที่คนไทยจะต้องนึกถึง เมื่อพูดถึงปลาในวงศ์นี้ อาจเพราะพบได้มากที่สุด หรืออาจเพราะถึงทอดมันและลูกชิ้นปลากรายก็เป็นได้ และแม้ว่าปลากรายชนิดนี้จะพบได้น้อยลงในธรรมชาติบ้านเรา แต่รู้หรือไม่ว่าพวกมันมีอยู่มากมายในฟลอริดาจนในตอนนี้พวกได้ถูกประกาศให้เป็นปลารุกรานไปแล้ว

ปลากราย (Clown Featherback) / Chitala ornata

ปลากรายเป็นปลาที่ยาวได้ถึง 1 เมตร แต่โดยทั่วไปยาวครึ่งเมตรก็ตัวใหญ่แล้ว ปลาชนิดนี้มีปากกว้างมาก มุมปากจะอยู่เลยขอบหลังลูกตา ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังโก่งสูง ในปลาวัยอ่อนจะมีสีเป็นลายเสือคล้ายปลาสลาด แต่เมื่อโตขึ้นลายจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินและมีจุดกลมใหญ่สีดำขอบขาวที่ฐานครีบก้น โดยจุดจะมีตั้งแต่ 3-20 ดวง ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัว

ลูกปลากราย

ปลากรายมักจะอาศัยอยู่บริเวณที่มีกิ่งไม้ใต้น้ำหรือพืชน้ำที่ค่อนข้างหนาแน่น มันอยู่ได้ทั้งในแหล่งน้ำนิ่งและแม่น้ำทั่วประเทศไทย เป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ และมักจะอยู่ประจำที่ หากพบมันขึ้นมาฮุบเอาอากาศ มันก็มักจะอยู่บริเวณนั้นเป็นเวลานาน

เป็นหนึ่งในปลาที่คนไทยนิยมกินอย่างมาก แม้จะมีก้างเยอะก็ตาม โดยปกติจะใช้เป็นวัตถุดิบทำทอดมันหรือลูกชิ้น จึงเป็นปลาที่มีราคาค่อนข้างแพง จัดเป็นปลาเศรษฐกิจและยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม หากมีจุดเยอะหรือสีแปลกๆ หรือลำตัวสั้นกว่าปกติก็จะได้ราคาดี

ชนิดที่ 2 – ปลาตองลาย – (Chitala blanci)

ปลาตองลาย (Royal knifefish) เป็นปลาที่สวยงามที่สุดในวงศ์ปลากราย และก็หาได้ยากเช่นเดียวกัน ตองลายจะมีขนาดพอๆ กับปลากราย ซึ่งทั่วไปจะยาวประมาณ 60 เซนติเมตร และจะยาวได้ถึง 1 เมตร แต่หาได้ยาก

ปลาตองลาย มีลักษณะหลักๆ เหมือนกับปลาในวงศ์นี้ แต่ส่วนหลังและหน้าผากจะลาดชันน้อยกว่าปลากรายอย่างเห็นได้ชัด มีสีลำตัวเงินวาว เป็นปลาที่มีจุดและขีดสีดำขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งจำนวนไม่แน่นอน และบางทีอาจได้เจอกับตัวที่มีจุดเกือบทั้งตัวเลยก็ได้

ปลาตองลาย (Royal knifefish) / Chitala blanci
Advertisements

เป็นปลาที่พบได้เฉพาะแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาที่ไหลสู่แม่น้ำโขง และเคยมีรายงานการพบในแม่น้ำน่านเช่นกัน นั้นหมายความว่าเราสามารถพบกับตองลายในธรรมชาติได้เพียง 2 แห่งในโลกเท่านั้น ที่เหลือก็คงเป็นในตู้หรือไม่ก็บ่อปลา

ทั้งนี้ปลาตองลายถือเป็นปลาหายาก แต่ตอนนี้สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว และเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แน่นอนว่าด้วยความหายากและราคาแพงจึงไม่นิยมเอามาทำทอดมันหรือลูกชิ้น

ชนิดที่ 3 – ปลาสะตือ (Chitala lopis)

Advertisements

ปลาสะตือ (Giant featherback) เป็นปลาที่หายาก และเป็นปลาที่อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ แต่ก็ยังโชคดีที่ตอนนี้สามารถขยายพันธุ์ได้แล้ว โดยปลาสะตือสามารถยาวได้ถึง 1.5 เมตร มันเป็นปลาขนาดใหญ่อันดับสองรองจากปลากรายอินเดีย (Chitala chitala)

ปลาสะตือจะมีรูปร่างคล้ายกับปลาในวงศ์เดียวกัน แต่มีท้ายทอยเว้าลึกและลำตัวมีเกล็ดละเอียดกว่า โคนครีบอกมีแต้มคล้ำ และข้างลำตัวมีจุดประสีคล้ำเล็กๆ โดยในเรื่องความสวยงามอาจจะน้อย แต่เด่นที่ขนาดตัวที่ดูบึกบึนกว่า

ปลาสะตือ (Giant featherback) / Chitala lopis

เป็นปลาที่หายากชนิดหนึ่งในประเทศไทย พบอาศัยในแหล่งน้ำเพียงไม่กี่แห่งเช่น แม่น้ำสาละวิน, แม่น้ำโขง และพบน้อยที่แม่น้ำเจ้าพระยาและสาขา แม่น้ำตาปี ในต่างประเทศพบที่พม่า, มาเลเซีย และบนเกาะบอร์เนียว ปัจจุบันมีการเลี้ยงในบ่อตกปลา และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

ชนิดที่ 4 – ปลาสลาด (Notopterus notopterus)

ปลาสลาด (Bronze Featherback) เป็นปลาที่อยู่ในสกุลโนทอปเทอรัส (Notopterus) เป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก โดยปกติจะยาว 20 เซนติเมตร หรืออาจใหญ่กว่าเล็กน้อย มันมีรูปร่างใกล้เคียงกับปลาตองลาย แต่จะเล็กกว่ามาก และยังมีสีที่เรียบ แต่หากเป็นวัยอ่อนจะมีลายบั้งเหมือนปลากราย

พบในแม่น้ำและแหล่งน้ำนิ่งทั่วประเทศไทย ในต่างประเทศพบได้ที่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ไปจนถึงเกาะสุมาตราและชวาหรือบอร์เนียว ในอดีตเป็นปลาที่หาง่ายมากๆ หากนั่งตกปลาหมอในคลองก็อาจได้เจอกับปลาชนิดนี้ แต่สมัยนี้ถือว่าเจอได้ยากขึ้น

ปลาสลาด (Notopterus notopterus) / Notopterus notopterus
Advertisements

เป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ไล่กินลูกกุ้งลูกปลา และยังเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง และนิยมนำเนื้อไปทำทอดมัน ซึ่งในสมัยที่มีเยอะจะใช้แทนปลากรายแต่ตอนนี้ใช้ปลากรายแทนปลาสลาดแล้ว นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย

สรุปกันเล็กน้อย …ก็อย่างที่บอกปลาในวงศ์ปลากรายมีทั้งหมด 4 สกุล 10 ชนิด และที่พบในธรรมชาติประเทศไทยก็มี 4 ชนิด นั้นคือ ปลากราย ปลาตองลาย ปลาสะตือ และปลาสลาด และสำหรับตอนนี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าชนิดไหนหายากที่สุด แต่ก็คงเป็นปลาสะตือ เพราะยังไงซะมันก็อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ แต่ผมว่าปลาสลาดก็หายากขึ้นมากเช่นกัน เอาเป็นว่าทั้ง 4 ชนิด ในธรรมชาติถือว่าลดลงไปมาก …ยังไงก็ช่วยกันดูแลกันหน่อย

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements