ปลาแรด 4 ชนิด ที่ยังหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติ

ปลาแรดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่คนไทยรู้จักมากที่สุด เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและเลี้ยงเพื่อบริโภค เมื่อเทียบกับปลานิลแล้วมันตัวใหญ่กว่าและอร่อยด้วยแต่ก็แพงกว่าเช่นกัน เอาล่ะเดี๋ยวเรามาทำความรู้จักปลาแรดกันให้มากขึ้นดีกว่า

ปลาแรด 4 ชนิด

ปลาแรดคืออะไร?

Advertisements

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “ปลาแรด” มีชื่อสามัญว่า ไจแอนท์ โกลามิ (Giant gourami) หรืออาจจะเรียกว่าปลาสลิดยักษ์ก็ได้ เมื่อรู้อย่างงี้หลายคนคงจะเดาได้ว่า ปลาแรดอยู่ในวงศ์ปลาสลิดหรือปลากระดี่ ..ใช่ถูกต้องจะบอกว่าปลาแรดอยู่ในวงศ์ “วงศ์ปลากัด-ปลากระดี่ Osphronemidae (/ออฟ-โฟร-นิ-มิ-ดี้/)” ก็ได้

ปลาแรดที่เราอยู่จักจะอยู่ในวงศ์ย่อย Osphroneminae (/ออฟ-โฟร-นิ-เน/) ซึ่งเป็นวงศ์ย่อยของ วงศ์ปลากัด-ปลากระดี่ Osphronemidae (/ออฟ-โฟร-นิ-มิ-ดี้/)

แต่! ถ้าจะให้ตรงจุดกว่านั้น ต้องบอกว่าปลาแรดอยู่ในวงศ์ย่อยที่เรียกว่า “ออฟโฟรมิเน Osphroneminae (/ออฟ-โฟร-นิ-เน/) โดยลักษณะเด่นของปลาแรดพวกนี้คือ จะสามารถฮุบเอาอากาศจากผิวน้ำได้โดยตรง เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษที่อยู่ในช่องเหงือกซึ่งช่วยในการหายใจ โดยปกติพวกมันจะกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ และที่เป็นหมู่เกาะ และพวกมันก็ชอบอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งหรือน้ำไหลเอื่อยๆ มีพืชน้ำขึ้นรก … ต่อไปมาดูเรื่องราวของปลาแรดทั้ง 4 ชนิดกัน

ชนิดที่ 1 – ปลาแรด (Osphronemus goramy)

ปลาแรด (Giant gourami) ถือเป็นปลาแรดธรรมดา นับเป็นปลาแรดชนิดที่คนไทยรู้จักมากที่สุด เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ยาวประมาณ 45 เซนติเมตร จึงถือว่าใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้แล้ว โดยปลาแรดถือเป็นสัตว์กินพืชแต่ก็สามารถกินปลาขนาดเล็กได้เช่นกัน

ปลาแรดมีลักษณะ ลำตัวป้อมและแบนข้าง ที่เกล็ดสากมือเป็นรูปหยัก ก้านครีบท้องคู่แรกเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายหนวด ปลายหางมนกลม ปากแหลม ริมฝีปากหนา ภายในปากมีฟันซี่เล็กๆ ส่วนหัวเล็ก เมื่อโตขึ้นโดยเฉพาะปลาตัวผู้จะมีโหนกนูนขึ้นมาเรื่อยๆ จนดูคล้ายนอแรด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อไทย

ถิ่นกำเนิดของปลาแรดอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร บึง หนองน้ำและทะเลสาบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่แม่น้ำโขง ตอนล่างของกัมพูชาและเวียดนาม แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่กลองของไทย รวมถึงลุ่มแม่น้ำในคาบสมุทรมลายูรัฐซาราวักของมาเลเซีย และเกาะชวาไปจนถึงเกาะสุมาตรา และกาลิมันตันตะวันตกของอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตามขีดจำกัดที่แน่นอนในธรรมชาติ ของปลาแรดชนิดนี้อาจกว้างกว่าที่เข้าใจ เนื่องจากเป็นปลาที่ได้รับการแนะนำอย่างแพร่หลายฐานะอาหารมานานมาก พวกมันอาจไปถึงตอนใต้ของจีน ไปจนถึงอินเดียและศรีลังกา และในทวีปอื่นอย่างออสเตรียก็อาจพบพวกมันในธรรมชาติเช่นกัน

ปลาแรดเผือก (Osphronemus goramy albino)

นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยในปลาธรรมดาจะเรียกกันว่า “แรดดำ” และในปลาที่มีผิวเผือกจะเรียกว่า “แรดเผือก” หรือ “แรดเผือกตาแดง” นอกจากนี้แล้วยังมีปลาที่สีแตกต่างออกไป ซึ่งเกิดจากการเพาะขยายพันธุ์โดยมนุษย์

ชนิดที่ 2 – ปลาแรดแม่น้ำโขง (Osphronemus exodon)

ปลาแรดแม่น้ำโขง หรือ ปลาแรดเขี้ยว (Elephant ear gourami) เป็นปลาแรดชนิดที่คล้ายกับปลาแรดธรรมดามากที่สุด แต่จะมีขนาดเล็กกว่าซึ่งจะยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร เคยพบใหญ่สุดคือ 60 เซนติเมตร และก็เป็นไปตามชื่อของมัน ปลาแรดแม่น้ำโขงในธรรมชาติได้ในแม่น้ำโขง

ปลาแรดแม่น้ำโขง หรือ ปลาแรดเขี้ยว มีลักษณะคล้ายปลาแรดธรรมมากที่สุด แต่แยกได้ง่ายๆ จากปากที่ปิดไม่ลงจนเผยให้เห็นเขี้ยวเล็กๆ ของมัน
Advertisements

แต่จากการสำรวจของ ดร.ไทสัน อาร์.โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาผู้อนุกรมวิธานปลาแรดแม่น้ำโขง พบว่าปลาแรดแม่น้ำโขงจะไม่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงสายหลัก แต่จะอาศัยอยู่ตามบึงหรือหนองน้ำที่เป็นสาขามากกว่า โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น เว้นแต่จะเป็นช่วงฤดูแล้งที่น้ำเหือดแห้ง ปลาจะอพยพลงสู่แม่น้ำสายหลัก ในฝั่งของชายแดนไทยจะพบได้น้อยมาก จะพบได้ในเขตของกัมพูชาและลาวมากกว่า

สิ่งที่ปลาแรดแม่น้ำโขงต่างจากปลาแรดธรรมดาคือ มีลำตัวสีน้ำตาลแดงคล้ำ ครีบก้นแคบและเล็กกว่า ริมผีปากจะไม่สามารถสบกันจนสนิท จนแสดงให้เห็นซี่ฟันตลอดเวลา โดยเฉพาะฟันที่ริมฝีปากบน สันนิษฐานว่าใช้สำหรับงับลูกไม้หรือผลไม้ต่างๆ ที่ตกลงไปในน้ำซึ่งเป็นอาหารหลักของปลาชนิดนี้

ปลาแรดแม่น้ำโขงจัดเป็นปลาที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ว่าปลาแรดชนิดนี้มีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว จึงไม่เหมาะที่จะเลี้ยงรวมในที่แคบ เพราะปลาอาจจะกัดและทำร้ายกันเองจนตายได้

ชนิดที่ 3 – ปลาแรดแดง (Osphronemus laticlavius)

Advertisements

ปลาแรดแดง หรือ ปลาแรดอินโด (Giant red tail gourami) จัดเป็นปลาแรดที่หายากที่สุด และยังอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ตามรายงานระบุว่าปลาชนิดนี้พบได้เฉพาะในลุ่มน้ำกินาบาตังกัน (Kinabatangan) และ เซกามา (Segama) ในรัฐซาบาห์ มาเลเซียตะวันออก และถูกอธิบายเป็นครั้งแรกในปี 1992 และในตอนนี้อาจพบปลาแรดแดงในธรรมดาชาติได้แค่ในรัฐซาบาห์

ปลาแรดแดง หรือ ปลาแรดอินโด เป็นปลาแรดที่สวยที่สุด และมันก็หายากที่สุดเช่นกัน

ลักษณะโดยทั่วไปของปลาแรดแดง จะคล้ายกับปลาแรดธรรมดา แต่จะมีลำตัวสีแดงสด ยิ่งเมื่อปลาโตขึ้นเท่าไหร่สีก็จะยิ่งเข้มขึ้น จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ปลาแรดแดงจะเติบโตช้ากว่าปลาแรดชนิดอื่นๆ และขนาดเมื่อโตเต็มวัย ก็จัดเป็นปลาแรดชนิดที่เล็กที่สุด ซึ่งจะยาวได้อย่างมากก็ 50 เซนติเมตร

ตามประวัติ เมื่อประมาณปี 1985-1986 ปลาแรดแดงถูกนำมาเข้าไทย ในฐานะปลาสวยงาม ในชื่อ “ปลาแรดซูเปอร์เรด” ซึ่งดูเหมือนจะเรียกตามปลาอะโรวาน่าแดงอินโด และราคาในตอนนั้นก็หลักหมื่นบาท แถมยังมีการโฆษณาว่าหากเลี้ยงไว้จะสามารถป้องกันคุณไสยได้ …ในตอนนั้นปลาแรดแดงยังไม่ได้รับการทำอนุกรมวิธานเลยด้วยซ้ำ

ปลาแรดแดงที่ยังเล็กอยู่
Advertisements

จนในปี 1992 ปลาแรดแดงตัวหนึ่ง ของร้านขายปลาสวยงามในตลาดนัดจตุจักรได้ตายลง คุณกิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ นักมีนวิทยาและนักสำรวจธรรมชาติชาวไทย จึงได้นำตัวอย่างปลาไปให้ ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาชาวอเมริกัน ที่กำลังศึกษาเรื่องปลาอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นตัวอย่างแรกของปลาแรดแดง จนได้รับการอนุกรมวิธานและตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ชนิดที่ 4 – ปลาแรดหกขีด (Osphronemus septemfasciatus)

ปลาแรดหกขีด เป็นปลาแรดที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาแรดแดง และยังพบได้เฉพาะในอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน เป็นปลาที่มีขนาดลำตัวใกล้เคียงกัน หรือประมาณ 50 เซนติเมตร พบได้เฉพาะในรัฐซาราวัก แถบลุ่มแม่น้ำกาปวซ, ลุ่มแม่น้ำมาฮากัม, กาลีมันตันและติมอร์เลสเตเท่านั้น

ลักษณะเด่นของปลาแรดหกขีดคือ มีแถบข้างลำตัว 6-7 ขีด ซึ่งแถบนี้จะติดตัวไปตลอดชีวิต จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก หากเทียบกับปลาแรดแดงแล้ว ปลาแรดแดงจะมีแถบแค่ 3-5 แถบเท่านั้น อีกทั้งแถบก็ไม่สมบูรณ์เท่าปลาแรดหกขีด

เมื่อใหญ่ขึ้นแถบของปลาแรดหกขีดจะยาวเหลือ 2 ใน 3 เท่านั้น นอกจากนี้แล้วก้านครีบอ่อนของครีบหลังปลาแรดหกขีดจะมีทั้งหมด 11-12 ก้าน ในขณะที่ปลาแรดแดงจะมี 10 ก้าน จำนวนซี่กรองเหงือกของปลาแรดหกขีดจะมีทั้งหมด 11-13 ซี่ ในขณะที่ปลาแรดแดงจะมีราว 8-9 ซี่ นอกจากนั้นแล้วยังมีครีบอื่นๆ เหลื่อมล้ำกันอีกด้วย

สุดท้ายข้อสรุปกันเล็กน้อย ..ในตอนนี้ ปลาแรดแท้ๆ ที่สามารถยืนยันได้ มีทั้งหมด 4 ชนิด หนึ่งคือปลาแรด สองปลาแรดแม่น้ำโขง สามปลาแรดแดง และสี่ปลาแรดหกขีด ชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ ปลาแรดที่เห็นทั่วไปในไทย ส่วนชนิดที่หายากที่สุดคือปลาแรดแดง ส่วนปลาแรดหกขีดถือว่ามีข้อมูลค่อนข้างน้อย

เอาละก็จบแล้วนะครับ สำหรับเรื่อง 4 สายพันธุ์ปลาแรด ที่ยังหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติ ถ้าชอบเรื่องนี้ก็อย่าลืมแชร์ให้น้าๆ เพื่อนๆ ท่านอื่นได้อ่านกัน

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements