ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยังมีฝูง “ควายป่า” อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจากรายงานพบที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มีเหล่าควายป่าอาศัยอยู่ โดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ยกให้ควายป่าเป็นสัตว์ป่า 1 ใน 7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่าห้วยขาแข้ง ควายป่าหรือมหิงสา (Wild buffalo) เป็นต้นตระกูลของควายบ้านที่คุ้นเคยกันดี
ลักษณะทั่วไปของควายป่าจะ
คล้ายคลึงกับควายบ้านอย่างมาก นั่นก็เพราะสืบมาจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียดก็พบว่า ทั้งคู่มีส่วนที่ต่างกันทั้งลักษณะ พฤติกรรม และนิสัย
ลักษณะควายป่าเมื่อเทียบกับควายบ้าน
- ลำตัวของควายป่า บึกบึน แข็งแรง ใหญ่โตกว่าควายบ้าน น้ำหนักควายป่าอยู่ที่ 800 – 1,200 กิโลกรัม ส่วนควายบ้านมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 500 กิโลหรัม
- ควายป่า มีเขาโค้งเป็นวงเสี้ยวพระจันทร์ ยาวได้ถึง 150-180 ซม. ซึ่งควายบ้านจะมีเขาที่สั้นกว่า
- สีผิวของควายป่า มีสีเทาหรือน้ำตาลดำ ช่วงอกมีขนสีขาว รูปตัว V ใส่ถุงเท้าขาวหม่น ๆ ทั้ง 4 ข้าง ส่วนควายบ้าน มีผิวสีเทาจนถึงดำ
- ควายป่า มีนิสัยดุร้ายกว่าควายบ้าน ไม่กลัวคน แม้จะตัวใหญ่แต่กลับปราดเปรียว ว่องไว ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ตัวผู้ชอบฉายเดี่ยวแต่ก็กลับมารวมฝูงในช่วงผสมพันธุ์
“ควายป่าในผืนป่าไทย มีรายงานพบเพียงแห่งเดียว คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แถบๆ ริมลำห้วยขาแข้งทางตอนใต้ของผืนป่า เหลืออยู่ราว ๆ 50 ตัว จึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างมาก
ควายป่าชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นปลักโคลน ดินเลน ชายน้ำ กีบเท้าของพวกเขาจึงมีลักษณะกลมและแป้นช่วยในการย่ำปลักได้ดี ในขณะที่ควายป่า และกระทิง กีบเท้าจะเรียวแหลมกว่า
อาหารส่วนใหญ่เป็นยอดไม้ ใบไม้อ่อน ๆ หญ้า ไปจนถึงหน่อไม้ ชอบนอนจมปลัก เรียกได้ว่า มุดหายไปในปลักทั้งตัวโผล่ไว้แต่จมูกเพื่อหายใจ หวังเพื่อคลายร้อนในตัว และกันแมลงรบกวน
ปัญหาสำคัญของควายป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ คือถิ่นที่อยู่ของพวกมันมักเลือกพื้นที่ริมน้ำ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มักทับซ้อนกับพื้นที่ของคน และแหล่งเกษตรกรรม ส่งผลต่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของควายป่าอย่างยิ่ง และยังเสี่ยงที่ควายป่าใกล้ชิดกับแหล่งหากินของควายบ้าน หรืออาจไปไปผสมพันธุ์กับควายบ้าน ที่จะทำให้ติดโรคมาจากควายบ้านทำให้เกิดโรคระบาดล้มตายได้
สถานภาพปัจจุบันของควายป่า เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 19 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ จึงมีความสำคุญยิ่งที่เราทุกคนต้องช่งยกันอนุรักษ์ควายป่าฝูงสุดท้ายให้คงอยู่สืบไปให้นานที่สุด