สัตว์ประหลาดในแม่น้ำที่มีอยู่จริง เหตุที่พวกมันกำลังหายไปจากโลกตลอดกาล

เมื่อเทียบกับทะเล แหล่งน้ำจืดถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก แต่มันก็เป็นที่ๆ ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด และก็ถูกมนุษย์คุกคามมากที่สุดเช่นกัน แหล่งน้ำจืดเป็นที่ๆ มนุษย์อย่างพวกเราใช้ดื่มกิน อีกทั้งยังเป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากมาย สัตว์และปลาขนาดยักษ์ก็รวมอยู่ในนั้น พวกมันมีขนาดใหญ่ แต่หลายชนิดก็กำลังหลายไปจากโลก ...ต่อไปผมจะมาเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับสัตว์ขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ และเหตุที่พวกมันกำลังจะหายไป หรือตอนนี้อาจหายไปแล้วด้วยซ้ำ

แหล่งน้ำจืดในตอนนี้ เสียหายไปมากแค่ไหน?

Advertisements

ในขณะที่แม่น้ำและทะเลสาบครอบครองพื้นที่แค่ 1% ของโลกนี้ แต่กลับเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีกระดูกสันหลังถึง 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งถือว่ามากมายมหาศาล แต่แล้วสัตว์เหล่านี้ถูกมองข้ามในวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ ซึ่งทำให้มนุษย์อย่างเราต้องจ่ายด้วยราคาที่แพง

ยกตัวอย่างเช่น สัตว์ขนาดยักษ์ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด ส่วนมากจะใช้เวลาในแม่น้ำและทะเลสาบ ซึ่งรวมถึงโลมา จระเข้ หรือแม้แต่ซาลาเมนเดอร์ยักษ์ จากสถิติในระหว่างปี ค.ศ. 1970 – 2012 จำนวนสัตว์พวกนี้ลดลงไปถึง 88% ซึ่งเยอะและเร็วเป็น 2 เท่าของสัตว์บนบกแล้วในทะเล

ในจำนวนสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด ที่ลดลงมากที่สุดก็หนีไม่พ้นพวกปลาขนาดยักษ์ จนถึงทุกวันนี้พวกมันลดลงไปถึง 94% ผู้คนส่วนใหญ่มองพวกมันเป็นแค่แหล่งอาหาร พวกเราจับสัตว์เหล่านี้โดยคิดว่าพวกมันไม่มีวันหมด จนพวกเราจับพวกมันไม่ได้อีก เราก็จะคิดถึงพวกมันและเริ่มคิดจะอนุรักษ์ แต่ส่วนใหญ่มันก็สายเกินไปแล้ว

การจับปลามากเกินไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ปลาขนาดใหญ่ใกล้สูญพันธุ์และยังทำให้ราคาของพวกมันสูงขึ้น

ปลายักษ์ถูกฆ่าเพื่อเอาเนื้อ หนังและไข่ อย่างเช่น ปลาสเตอร์เจียน มันเป็นปลาขนาดใหญ่และมีชีวิตบนโลกมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ มันเป็นปลาที่แทบจะไม่เปลี่ยนไปจากตอนนั้นเลย แต่ปัจจุบันมันถูกล่าเพื่อเอาไข่ที่เรียกว่า “คาร์เวีย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความหรูหราและร่ำรวย ทำให้ปลาสเตอร์เจียนถูกล่าอย่างหนักเพื่อเอาไข่

เป็นเวลาเกือบร้อยปีที่ปลาสเตอร์เจียนถูกล่าอย่างหนักจนจำนวนลดลงจนเข้าใกล้จุดวิกฤต หลายประเทศพยายามอนุรักษ์ ในขณะที่ทางสหรัฐก็ได้ระงับการนำเข้าสินค้าจากปลาสเตอร์เจียนตั้งแต่ในปี ค.ศ. 2005 แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่ปลาสเตอร์เจียนในตอนนี้ นอกจากได้รับความคุ้มครองทางกฏหมายแล้ว ยังมีการเพาะเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยลดการจับในปลาธรรมชาติได้อย่างมาก

แต่คุณลองคิดดู หากปลาสเตอร์เจียนไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มันก็คงถูกทิ้งเหมือนปลาหายากราคาถูกชนิดอื่น อย่างเช่น โลมาแม่น้ำจีน ที่เกือบจะไม่มีมูลค่าทางการค้า

ทั้งนี้โลมาแม่น้ำจีนเป็นชนิดที่หายากสุดๆ และยิ่งมีคนรู้ถึงการคงอยู่ของพวกมันน้อยมาก และถึงแม้คุณจะอยากเห็นตัวเป็นๆ แต่คงไม่มีวันเป็นจริงแล้ว เพราะโลมาแม่น้ำจีนอาจจะสูญพันธุ์ไปโดยสมบรูณ์แล้ว

การพบเห็นโลมาแม่น้ำจีนครั้งสุดท้ายคือปี ค.ศ. 2004 แต่ก่อนหน้านั้น มีโลมาแม่น้ำจีนตัวสุดท้ายที่ถูกมนุษย์เลี้ยง และเป็นความหวังเดียวในการคืนชีพโลมาชนิดนี้ มันมีชื่อว่า ฉีฉี (淇淇, qíqí) เป็นโลมาแม่น้ำจีนตัวผู้ที่ถูกเลี้ยงเอาไว้ในสถาบันไฮโดรไบโอโลยีแห่งอู่ฮั่น และมันก็ตายลงในปี ค.ศ. 2002

Advertisements

ฉีฉีเป็นโลมาแม่น้ำจีนที่ชาวประมงจับได้โดยบังเอิญในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1980 มันถูกนำมาเลี้ยงไว้อย่างดีในสถาบัน และนักวิจัยก็พยายามที่จะผสมพันธุ์กับโลมาแม่น้ำจีนตัวเมียหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ จนกระทั่งมันตายจากไป และสุดท้ายก็ทำได้เพียงเก็บรักษาเซลล์ของฉีฉีไว้เพื่อที่จะทำการโคลนนิ่งในอนาคต

จนถึงปี ค.ศ. 2007 มีนักสำรวจกลุ่มหนึ่งได้ล่องเรือค้นหาโลมาแม่น้ำจีนเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ปรากฏแม้แต่ร่องรอย จึงเชื่อว่าได้สูญพันธุ์ไปจากโลกเป็นที่เรียบร้อย …และสถานะการอนุรักษ์อย่างเป็นทางการของโลมาชนิดนี้คือ “อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว”

ปลาบึก ก็เป็นอีกตัวอย่างที่จะสูญพันธุ์เพราะเขื่อน

ปลาบึกก็เป็นปลาขนาดยักษ์อีกชนิด ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากโลกเต็มที สาเหตุหลักคือเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากในแม่น้ำโขง ซึ่งทำให้พวกมันไม่สามารถว่ายขึ้นไปทางต้นน้ำเพื่อวางไข่ได้ และนี่คือการนับถอยหลังของการสูญพันธุ์ของปลาขนาดยักษ์อีกชนิด

แต่! เดชะบุญที่ปลาบึกถือเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ แถวมันก็เป็นปลาที่มีชื่อเสียงมากด้วย และยังโชคดีที่ปลาบึกถูกเพาะพันธุ์ได้สำเร็จก่อนที่สายพันธุ์แท้จะสูญพันธุ์ไปจริงๆ ซึ่งเป็นสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา ที่สามารถเพาะพันธุ์ได้สำเร็จเป็นที่แรกของโลก และจนถึงทุกวันนี้พวกเราจะพบปลาบึกได้มากมายตามบ่อตกปลา เขื่อนหรือในแหล่งน้ำขนาดใหญ่

Advertisements

แต่รู้หรือไม่ว่า ปลาบึก 99% ที่อยู่ในธรรมชาติในตอนนี้เป็นปลาปล่อย และพวกมันทั้งหมดไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหมายความว่าปลาบึกเหล่านี้ต้องถูกปล่อยเพิ่มทุกๆ ปี และในตอนนี้มันก็อยู่ในสถานะ “เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์” และในอนาคตเราจะได้เจอปลาบึกผสมสวายมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ปลาบึกแท้จะลดลงเรื่อยๆ

เขื่อนในแม่น้ำเป็นสิ่งที่คุกคามปลาน้ำจืดทุกชนิด

Advertisements

มีเขื่อนนับพันในแม่น้ำทั่วโลก มันช่วยลดการเกิดน้ำท่วม ผลิตกระแสไฟฟ้าแต่ก็ยังขัดขวางระบบนิเวศด้วย หนึ่งในห้าของการผลิตไฟฟ้าของโลก มาในรูปแบบของไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน …นี่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเขื่อนที่มีต่อมนุษย์

แต่อย่างไรก็ตามมันก็ได้ขัดขวางเส้นทางอพยพของปลา และยังรวมถึงการทำลายแหล่งผสมพันธุ์และแหล่งอาหาร การเปลี่ยนของกระแสน้ำและอุณหภูมิน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อปลาในแหล่งน้ำ

ในตอนนี้มีเขื่อนมากกว่า 3,700 แห่งที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือกำลังวางแผน ซึ่งเขื่อนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก มีเขื่อนประมาณ 800 แห่ง ที่สร้างอยู่ในเขตสำคัญเช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำอะเมซอน และแม่น้ำคองโก

จุดสำคัญพวกนี้เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ และอีกไม่นานเราจะได้เจอกับเขื่อนที่กั้นแม่น้ำสาละวิน ซึ่งในเวลานี้นายทุนก็สู้รบอยู่กับชาวบ้านมาหลายปี แต่เชื่อเหอว่าสุดท้ายนายทุนก็ชนะ และหากเกิดขึ้น เขื่อนอีกนับสิบบนแม่น้ำสาละวินก็จะตามมา

ถึงแม้จะแย่แต่ก็มีข่าวดีอยู่บ้าง

แม้ในตอนนี้สัตว์ขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดจะลดลงไปมาก จนถึงขนาดใกล้จะหมดไป แต่ก็มีความสำเร็จเล็กๆ น้อยให้เห็น ตัวอย่างเช่นในแม่น้ำโขงซึ่งเป็นที่ๆ ปลาบึกกำลังจะหมดไป แต่โลมาอิรวดีก็กำลังกลับมาอีกครั้ง

ในตอนนี้โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin) เป็นโลมาที่พบในแหล่งน้ำจืด 5 แห่งคือ ทะเลสาบชิลิกา ประเทศอินเดีย, แม่น้ำโขง, ทะเลสาบสงขลา , แม่น้ำมหาคาม ประเทศอินโดนีเซีย และปากแม่น้ำบางปะกง โดยสถานที่ๆ พบได้น้อยที่สุดและถือเป็นแหล่งวิกฤตที่สุด คือทะเลสาบสงขลาในส่วนที่เป็นน้ำจืดหรือน้ำกร่อยที่เรียกว่าทะเลน้อย

ทั้งนี้โลมาอิรวดีที่อาศัยอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้นก็ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการสูญเสียที่อยู่อาศัยหรือติดอวนชาวประมง โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชาที่เคยมีพวกมันนับพันตัว จนกระทั้งเหลือเพียงร้อยกว่าตัวหรืออาจจะน้อยกว่านั้น ชาวประมงที่นั้นจะใช้สารพิษและระเบิดเพื่อจับปลา เหมือนในการ์ตูนโรดรันเนอร์

และเพื่อช่วยเหลือโลมาพวกนี้ ทางรัฐบาลกัมพูชาได้ร่วมมือกับกองทุนสัตว์ป่าโลก เพื่อหยุดยั้งสิ่งเหล่านี้ ด้วยการทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของโลมาได้รับการคุ้มครองและห้ามจับปลาในบริเวณนั้น และเพราะโลมาพวกนี้ มีหน้าตาน่ารักกว่าปลาบึก แถมยังเป็นสัตว์ที่จำเป็นต้องขึ้นมาบนผิวน้ำบ่อยครั้ง จึงถูกพบเห็นได้ง่าย และด้วยเหตุนี้อย่างน้อยมันก็สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชากรโลมาได้เพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ก็ยังไม่ดีนัก เพราะในบางพื้นที่ก็ลดลง และในอนาคตยังมีการสร้างเขื่อนที่อาจจะทำลายพวกมันได้อยู่ดี

จนถึงตอนนี้ การอนุรักษ์ได้ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสัตว์และปลาน้ำจืดยักษ์อย่างน้อย 13 ชนิด นอกจากโลมาอิรวดีแล้วยังมีบีเวอร์อเมริกันและปลาสเตอร์เจียน ปลาบึกก็เพิ่มขึ้นแม้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาปล่อยก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าที่พวกมันจะหายไปอย่างสมบรูณ์ เหมือนกับโลมาแม่น้ำจีน และปลาฉลามปากเป็ดจีนที่เพิ่งถูกประกาศการสูญพันธุ์ไป

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements