เรามาดูกันเลยว่าพฤติกรรมของปลาโดยธรรมชาติแล้วเราจะดูอย่างไร
การสังเกตชนิดของปลาจากรูปลักษณะภายนอก
นิยมแบ่งออกตามรูปลักษณะของปลาน้ำจืดในบ้านเราได้ดังนี้
1. ปลาหนัง : ปลาบึก, สวาย, เทโพ, เทพา, ดุก, กด, สายยู, อุบ, เค้า, ไหล, เนื้ออ่อน, แดง, น้ำเงิน, สังกะวาด, คางเบือน, และ แขยง เป็นต้น
2. ปลาเกล็ด : ปลาตะเพียน, ตะพาก, ตะโกก, กา, เพี้ย, กระมัง, กระแห, กระสูบ, ช่อน, ชะโด, ล่อนม กระสง, กระโห้, นิล, ยี่สก, นวลจันทร์, ซ่งฮื้อ, แรด, ฉลาด, กราย และ กระทิง เป็นต้น
การสังเกตุพฤติกรรมของปลาจากการกิน
อาหาร
โดยจากการสังเกตุพฤติกรรมของปลาจากการกินได้ดังนี้
1. ปลากินพืช : ปลายี่สก, ปลาสลิด, ปลาซ่ง, กระมัง, กระแห เป็นต้น
2. ปลากินเนื้อ : ปลาช่อน, ชะโด, กระสูบ เป็นต้น
3. ปลากินทั้งเนื้อและพืช : ปลาสวาย, แรด, ตะเพียน เป็นต้น
แต่น้าๆ ต้องรู้ว่าด้วยว่า เวลาที่ผ่านมา พฤติกรรมการกินอาหารของปลาค่อนข้างเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและชุมชน นอกจากนั้นยังจะต้องสังเกตุลักษณะของอาหารที่มันกินด้วย เช่น ปลาสวายบริเวณชุมชนบ้านเรือนจะกินอาหารที่มาจากเศษอาหารของคนในถิ่นนั้นๆ
เพราะฉะนั้นเราอาจจะตกปลาในบริเวณนี้ได้ด้วยข้าวปั้น, ขนมปัง, รำนวด, หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น นักตกปลาที่ช่างสังเกตก็สามารถจะหาเหยื่อมาถูกปากปลา โอกาสที่จะได้ตัวก็มากกว่าผู้อื่น
แต่ปลาสวายบางแห่งที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนอาจจะมีพฤติกรรมการกินที่แตกต่างกันไปเช่น เหยื่อหมัก ไส้กไก่สด หรือผลไม้สุก เป็นต้น
ปลาตะเพียนที่เราเคยรับรู้มาหรือเคยตกได้จาก ผักชี, รวงข้าว, ยอดผักบุ้ง แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่นายกะปุ่ยหลุ่ยตกมันขึ้นมาได้จากไส้เดือนหรือแมลงแกลบ
เห็นไหมละ บางช่วงบางเวลาปลากินพืชอาจจะกินเนื้อสัตว์ และบางช่วงมันก็กินพืช แต่ที่นายกะปุ่ยหลุ่ยแยกประเภทการกินอาหารของมันเป็นประเภทกินพืชและประเภทกินเนื้อนั้น เพราะส่วนใหญ่แล้วมันจะกินอาหารอย่างนั้นเสียเป็นส่วนมาก ซึ่งพฤติกรรมการกินของมันจะช่วยให้เราเลือกหาเหยื่อที่จะใช้ตกมันได้ และจะนำมาซึ่งความสำเร็จในการตกปลาประเภทนั้นๆ
แหล่งที่อยู่อาศัยของปลา
1. แหล่งน้ำไหลตามธรรมชาติ ประเภท แม่น้ำ, ลำคลอง, ธารน้ำ อาทิ เช่น ปลากด, ปลากระทิง, ปลาสวาย และฯลฯ เป็นต้น
2. แหล่งน้ำนิ่ง ประเภท บ่อขุด, เขื่อนหรือ่างกักเก็บน้ำ อาทิเช่น ปลาแรด ปลาซ่ง, ปลาช่อน, ปลาชะโด เป็นต้น
แต่ก็มีข้อยกเว้นอีกเช่นกัน ปลาบางชนิดปรับสภาพได้ (ตามความจำเป็นของมัน) เช่น ปลาสวาย, ปลาบึก, ปลายี่สก ซึ่งมันสามารถอยู่ในน้ำนิ่ง (ไม่มีการไหลของกระแสน้ำ) อย่างเช่นฟิชชิ่งปาร์ค
แต่ก็มีอยู่หลายต่อหลายครั้งที่นายกะปุ่ยหลุ่ยเคยตกไอ้ช่อนได้ในคลองบางกอกน้อยซึ่งมีกระแสน้ำไหลขึ้น – ลงตลอดจนคลื่นของเรือที่วิ่งอยู่ตลอดทั้งวัน แต่เป็นประเภทนานทีปีละตัวอะไรทำนองนั้น ซึ่งโดยส่วนรวมแล้วมันจะอยู่ในสภาพที่นายกะปุ่ยหลุ่ยยกตัวอย่างในข้างต้นเสียเป็นส่วนใหญ่
ประสาทสัมผัสการรับรู้ของปลา
เคยสงสัยบ้างไหมว่า ปลาบางตัวมีหนวดยาว บางตัวมีหนวดสั้น หรือบางตัวไม่มีหนวดเลย ปลามีหนวดไว้ทำไม..?
หนวดเหล่านี้แหละเป็นตัวเซ็นเซอร์ของมัน ปลาแต่ละชนิดสามารถปรับสภาพร่างกายของตัวมันให้รับรู้สัญญาณจากภายนอกได้ ทำให้ปรับระบบร่างกายให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศหรือแหล่งอาศัยของมัน
ประสาทสัมผัสใช้ในการรับรู้อะไรบ้าง
เราพอจะแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้ เริ่มจากที่เราเห็นกันชัดๆ ไปก่อน
1. ลูกตา ปลานั้นมีลูกตาอยู่ด้านข้าง มันจึงสามารถมองได้กว้างเป็นพิเศษ ปลาที่อยู่ในสภาพน้ำใสตามเขื่อนหรืออ่างกักเก็บน้ำ จะสามารถมองเห็นได้ดีกว่าปลาที่อยู่ตามสภาพน้ำขุ่นอย่างแม่น้ำ, ห้วยหนอง, คลองบึง
นอกจากนี้มันสามารถจำแนกสีต่างๆ ได้ซึ่งจุดนี้เองทำให้มนุษย์ผู้มีสมองอย่างเราๆ ท่านๆ นำไปสร้างเหยื่อปลอมขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับเหยื่อตามธรรมชาติของมัน แต่การมองเห็นของปลามีระยะจำกัด จากการทดลองของผู้เชี่ยวชาญท่านว่าไม่เกิน 30 เมตร แต่ถ้าคิดกันให้ดีแล้วมันก็น่าจะเพียงพอสำหรับมัน
ครั้งหนึ่งอาของนายกะปุ่ยหลุ่ยซึ่งนับได้ว่าเป็นนักล่าปลาแรดตัวยง เคยเล่าถึงพฤติกรรมการมองเห็นของมันว่า เวลาเราอยู่ในที่สูงกว่าทัน ต้องค่อยโผล่หน้าออกไปมองมันว่าอยู่หรือเปล่าในแหล่งนั้นๆ เพราะถ้าพรวดพราดชะโงกหน้าออกไปมันเป็นต้องเผ่นทันที เช่นเดียวกับปลาช่อนที่ค่อยๆ โผล่ขึ้นจิบอากาศ ถ้าหากมันขึ้นมาเห็นเรามนก็จะรีบถอยร่นไปทันทีเหมือนกัน
2. การรับรู้เรื่องเสียง เป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่ไม่น้อย ปลาได้ยินเสียงด้วยหรือ?
จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์เขาว่ามันสามารถรับรู้ได้จริง ปลาสามารถส่งเสียงซึ่งแปลงเป็นคลื่นความถี่ติดต่อกันได้เช่น ปลาโลมา, ปลาวาฬ เป็นต้น
ดังนั้น เสียงเดินของเราที่เหยียบย่ำอยู่บนฝั่ง บนพื้นเรือหรือโป๊ะล้วนแต่ทำให้มันตื่นตระหนกจนหนีไปเช่นกัน แต่ถึงจะมีเสียงดัง ก็ไม่ได้หมายความว่าปลาจะไม่กินเหยื่อเสมอไปนะ มีโอกาสสูงเช่นกันที่ปลาไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้
3. ปลาสามารถรับรู้จากการดมกลิ่น
ซึ่งได้รับการทดสอบดูแล้วประสาทสัมผัสในการรับรู้เรื่องกันนี้นับเป็นส่วนที่ดีที่สุดของปลาเลยก็ว่าได้ จึงไม่แปลกเลยที่เราจะตกปลาได้ด้วยการปรุงแต่งเหยื่อก่อนจะนำไปตก เช่น ขนมปังแผ่นผสมหัวเชื้อกลิ่นนม – เนย เพื่อนำไปตก ปลาสวาย สายยู ตะโกก, เหยื่อหมัก (อันแสนเหม็น) เอาไปตกปลากด ปลาเทโพ เป็นต้น
4. รับความรู้สึกการสั่นสะเทือนทางผิวหนัง
ปลาจะมีเส้นประสาทในการรับรู้ที่แตกต่างกันไป เช่น ปลาบางชนิดจะมีเส้นประสาทข้างลำตัวทั้งสองด้านเพื่อรับรู้แรงกสั่นสะเทือนของวัตถุที่เข้ามาใกล้มัน ปลาบางตัวมีหนวดเป็นตัวรับความรู้สึก ซึ่งปลาพวกนี้มักจะอยู่ในแหล่งน้ำขุ่น เช่น ปลาดุก ปลาเค้า ปลากด เป็นต้น อีกทั้งยังใช้หนวดนี้ในการคลำหาเหยื่อด้วย
5. ปลารับรู้เรื่องรสชาติ
นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งได้ทำการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการรับรู้รสของปลาทำให้ได้ผลออกมาว่า โพรงปากของปลานั้นไม่มีต่อมรับรู้เรื่องรสชาติของอาหาร แต่มันกลับมีต่อมที่คล้ายกับการรับรู้รสชาติภายนอกโพรงปาก เช่นตามตัว ตามหาง หรือตามหนวดอย่างเช่นตัวอย่างปลากดที่ได้ยกตัวอย่างในเบื้องต้นแล้ว
6. สัมผัสพิเศษ
อันนี้คงอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ทั้งมวล ปลาสามารถรับรู้ด้วยสัญญาณพิเศษ เช่นเส้นประสาทด้านข้างลำตัวนี้สามารถแบ่งแยกสภาพพื้นผิวใต้น้ำได้ทำให้มันไม่ว่ายชนสิ่งกีดขวางใต้น้ำที่มีสภาพขุ่นมัวได้ ปลาบางชนิดสามรถขับเมือกออกมาเพื่อเป็นการเตือนภัยได้
อาหารของปลา
อันนี้สำคัญ ปลาเป็นสัตว์นับเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งของโลก เพราะฉะนั้นการที่มันจะเจริญเติบโตได้นั้นอาหารนับมีความสำคัญเช่นเดียวกัน จากการที่เราได้จำแนกชนิดของปลาในชั้นต้นนั้น แบ่งเป็นปลากินพืชและปลากินเนื้อสัตว์
ทีนี้เรามาดูว่าพืชและสัตว์ที่เป็นอาหารของมันน่ะ มีอะไรบ้าง
1. อาหารจำพวกพืช ได้แก่ จอก แหน สาหร่าย ขี้ตะไคร่ ข้าว ขนมปัง รำ ผลไม้ ผักกาดขาว ถั่วงอก ผักชี คือจัดอยู่ในประเภทสายมังสะวิรัติว่างั้นเถอะ
2. อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ได้แก่ ไส้เดือน กุ้งฝอย เครื่องในสัตว์ แมลงต่างๆ ลูกปลาเล็กๆ สัตว์ตัวเล็กจำพวก กบ เขียด หรือจิ้งจก ตลอดจนเหยื่อหมัก เป็นต้น
อุณหภูมิและสภาพแวดล้อม
อุณหภูมิของน้ำ นับว่ามีความสำคัญต่อการกินเหยื่อของปลา อย่างเช่นในฤดูหนาวนั้นระดับน้ำที่ลึกลงไปจะเย็นจัดปลาจะขึ้นมาหากินในระดับน้ำที่สูงขึ้นเช่นผิวน้ำหรือระดับกลางน้ำ ซึ่งระดับน้ำในช่วงนี้จะเป็นระดับความเย็นที่พอเหมาะ และปลาก็จะเข้ามาหากินใกล้ฝั่งมากขึ้น
ซึ่งในทางกลับกัน หากเป็นฤดูร้อนมันก็จะพากันกลับลงไปหากินในระดับน้ำที่ลึกลงไป …ปลาบางประเภทชอบหากินในเวลาปลากด และปลาบางประเภทก็ชอบหากินในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน ปลาบางชนิดกินเหยื่อถี่ในช่วงหลังฝนตก เช่น ปลากระแก ปลากระมัง
ปลาบางชนิดชอบหากินในช่วงเช้าถึงสาย บ่ายๆ ถึงเย็น เช่น ปลากระสูบ ปลาชะโด เป็นต้น ซึ่งอุณหภูมิของน้ำนั้นก็มีผลต่อการกินเหยื่อของปลา แต่มิใช่ว่าจะเป็นมาตรฐานเสมอไป
เพราะบางทีอุณหภูมิดีแต่มลภาวะของน้ำเสียก็มีผลต่อการกินเหยื่อของปลาอีก ฉะนั้นน้องๆ เพื่อนๆ นักตกปลาต้องเป็นคนที่ช่างสังเกตช่างจดจำถึงสภาพดินฟ้าอากาศด้วย ว่าวันที่เราได้ปลามานั้นปลากินช่วงเวลาใด สภาพน้ำขึ้น – ลง หรือทรงตัว น้ำใสสะอาดหรือขุ่น ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในการตกปลาครั้งต่อๆ ไป
อ่านเรื่องอื่น เรียนรู้เรื่องรอกสปินนิ่งแบบง่ายๆ เพิ่มความเข้าใจก่อนออกไปตกปลา